สอนหนูให้รู้จักความ เสี่ยง

สอนหนูให้รู้จักความ เสี่ยง

สอนหนูให้รู้จักความ เสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ไพศาล รัตนะ , พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์

ฟากหนึ่งคือกาฬสินธุ์ อีกด้านคือปัตตานี ภาษา ความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่เลือกนับถือแตกต่างกันบ้าง แต่เด็กๆ กลับมีสิ่งที่น่าห่วงใยคล้ายๆ กัน

ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เด็กนักเรียนชายหญิงจำนวนหนึ่งแบ่งกลุ่มกันเดินสำรวจตามจุดต่างๆ ภายในตัวเมือง เพื่อเก็บข้อมูลว่ามีบริเวณใดเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง และอาจจะก่ออันตรายกับเด็กและเยาวชน รวมถึงพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ดี เหมาะแก่การพัฒนาเป็นพื้นที่สีขาว

อีกด้านหนึ่งของประเทศ ที่จังหวัดปัตตานี เด็กนักเรียน กลุ่มใหญ่ แบ่งกลุ่มเพื่อสำรวจตามจุดต่างๆ เช่นกัน เด็กนักเรียนต่างได้คำตอบคล้ายๆ กันถึงพื้นที่ดีและพื้นที่เสี่ยงภัย ก่อนจะนำมารวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อไปออกแบบ "แผนที่" ในการใช้ชีวิตของพวกเขา

แม้อยู่กันคนละพื้นที่ แต่เด็กนักเรียนทั้งสองจังหวัดกำลังทำในสิ่งเดียวกัน นั่นคือ การสำรวจพื้นที่ดีและค้นหาพื้นที่เสี่ยง เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและนำมาออกแบบเป็นแผนที่สุขภาพ ตามโครงการ "แผนที่สุขภาพเพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียน" ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซาการียา บากา หรือ "ยา" นักเรียนชั้น ม.4 ที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่า พื้นที่ดีในความรู้สึก หมายถึงพื้นที่ดีต่อสุขภาพ ทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม ส่วนพื้นที่เสี่ยงในความเข้าใจคือพื้นที่อันอาจเกิดอันตรายต่อเด็กด้านร่าง กาย จิตใจ และปัญหา กระทั่งส่งผลเป็นวงกว้างต่อสังคม

"สำหรับคนภายนอกอาจมองว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่เสี่ยง เป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยอันตรายจากภัยความไม่สงบมากกว่าปัญหาจาก แหล่งอบายมุข แหล่งมั่วสุม" ซาการียา กล่าว

ยา บอกว่า สำหรับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง หรือชุมชนใหญ่อัตราความเสี่ยงจากภัยความรุนแรงมีน้อยกว่าสถานศึกษาที่อยู่ รอบนอก ที่สำคัญมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณรอบโรงเรียนเดชะปัตตานยานุกูลมีความ เข้มข้นอย่างมากโดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่พร้อมเป็นหูตาให้กับฝ่ายบ้านเมือง ในการป้องกันความรุนแรง

ขณะที่ ชาลิกา แสงฤทธิ์ หรือ ‘ยอหยี' นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนหนองห้างพิทยา อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้ร่วมโครงการและได้ตระเวนสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ดี ในเขตอำเภอเมือง กาฬสินธุ์ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงในบางจุด เช่น ใกล้สวนสาธารณะ รวมถึงร้านเกม ที่มีเด็กนักเรียนมานั่งเล่นเกมในเวลาเรียน ในขณะที่พื้นที่ดีพบว่า มีร้านขายของชำที่ไม่ขายบุหรี่ให้กับเด็ก และเยาวชน

"คิดว่าต่อจากนี้ จะนำไปใช้กับโรงเรียนของเรา เพราะรอบโรงเรียนก็มีทั้งพื้นที่ดีและพื้นที่เสี่ยง และอยากชวนชุมชนรอบโรงเรียนเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ เพราะเรื่องนี้อาจจะใหญ่เกินกว่าหนูจะทำได้ ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยกันอีกทางหนึ่ง"

พื้นที่แห่งความปลอดภัย

นักเรียนจากทั้งสองโรงเรียนนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโครงการแผนที่ สุขภาพเพิ่มพื้นที่ดีลดพื้นที่เสี่ยง ที่ปรากฏไปทั่วภูมิภาค ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือ การค้นหาพื้นที่เสี่ยงภัยสำหรับเยาวชน และสำรวจพื้นที่ดีในการพัฒนาเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อไป

ดารณี เวณุจันทร์ ประธานโครงการแผนที่สุขภาพฯ อธิบายที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า มาจากความคิดที่ว่า รอบโรงเรียนมีพื้นที่เสี่ยงเต็มไปหมด โดยเฉพาะร้านขายบุหรี่ สุรา ร้านเกม การแก้ไขจึงควรสร้างระบบความคิดให้กับเด็ก ในการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงนั้น

หากฟังผิวเผิน คำว่า สุขภาพ อาจจะหมายถึงเพียงร่างกายเท่านั้น แต่สำหรับโครงการแผนที่สุขภาพฯ หมายรวมตั้งแต่ กาย ใจ ปัญญา และสังคม เข้าไว้ด้วยกัน

"จากการสำรวจทั้งหมดพื้นที่เสี่ยงยอดฮิตคือ ในห้องน้ำโรงเรียน ป่าละเมาะข้างโรงเรียน ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกม สวนสาธารณะ และพบว่า ทุกโรงเรียนมีเด็กหนีโรงเรียน" ดารณีบอกเล่า

ต่อจากนั้น เยาวชนจะได้ฝึกการลงพื้นที่จริง โดยการเข้าไปสอบถามกับชุมชนในมุมต่างๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูล ก่อนจะนำมาออกแบบเป็นแผนที่สุขภาพ เพื่อดูว่าตรงไหนคือพื้นที่ดี และเสี่ยง ซึ่งจุดนี้ดารณีเห็นว่า เด็กจะได้ใช้จินตนาการของตนเองในการออกแบบแผนที่อย่างเต็มที่

ถึงตอนนี้ มีหลายโรงเรียนที่นำแนวคิดนี้มาต่อยอด สามารถออกแบบแผนที่สุขภาพได้อย่างน่าสนใจ เช่น โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล โดย อาจารย์บงกต สัปปพันธ์ หนึ่ง ในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในโครงการแผนที่สุขภาพ กล่าวว่า สถานศึกษาแห่งนี้ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนเมือง และโดยรอบยังมีแหล่งเสื่อมโทรม สถานเริงรมย์ แหล่งมั่วสุม ทำให้เยาวชนที่พบเห็นแหล่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประจำ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมที่ผิดๆ และอาจนำไปสู่การทำกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเกิดการจัดทำโครงการแผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียนขึ้น เพื่อหวังให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ มีจิตอาสาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์อันเอื้อต่อสุขภาวะต่อชุมชน

อาจารย์บงกต อธิบายต่อไปว่า กิจกรรมนี้ยังสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนรอบสถานศึกษา ในการรังสรรค์สังคมด้วยการเพิ่มและขยายพื้นที่ดีให้มีมากขึ้นซึ่งจะเป็นการ ลดและขจัดพื้นที่เสี่ยงไปด้วยอีกทาง

เช่นเดียวกับโรงเรียนบัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่เริ่มต้นโครงการนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว อาจารย์สุภลักษณ์ สุดาทิพย์ อาจารย์โรงเรียนบัวขาว อ.กุฉินารายณ์ ที่ได้ทดลองนำโครงการนี้ไปต่อยอดในโรงเรียนมาได้ 2 ปีแล้ว

ครูสุภลักษณ์ พบว่า พื้นที่เสี่ยงในอำเภอกุฉินารายณ์คือ สวนสาธารณะของบัวขาว แต่เป็นพื้นที่แบบกึ่งดีกึ่งเสี่ยง คือ เวลากลางวันเป็นที่ออกกำลังกาย แต่กลางคืนเป็นแหล่งมั่วสุม เมื่อเด็กนักเรียนรวบรวมข้อมูลมานำเสนอต่อชุมชน ทำให้ตอนนี้ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลอำเภอช่วยทำประตูกั้น อีกทั้งกลุ่มนักเรียนได้ไปทำกิจกรรมโดยดึงเด็กกลุ่มเสี่ยงไปทำกิจกรรมเช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา เป็นต้น

"สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ เห็นเด็กกลุ่มเสี่ยงมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เวลามาช่วยทำงานเขาจะเลิกสูบบุหรี่ บางคนก็ค่อยๆ ลด และเด็กกลุ่มเสี่ยงจะพาลงพื้นที่ได้ดี เขาเป็นพวกขาลุยมาก ก็ต้องคอยเตือน เขาอาจจะเปลี่ยนไปไม่ได้ทั้งหมด แต่หวังว่า จะดีขึ้นในอนาคต ซึ่งวันนี้เขาเริ่มรับรู้แล้ว เราก็เห็นว่าเขาพยายามมาก เขาสามารถนำเสนอความคิดหน้าเสาธงได้ หลายคนเห็นก็เริ่มเข้าใจตัวเอง ผู้ปกครองก็ดีใจที่ลูกหลานเปลี่ยนแปลงได้" ครูสุภลักษณ์ เผย

ความต่างของพื้นที่เสี่ยง

แม้เป็นโครงการเดียวกัน แต่เมื่อนำเอาแนวคิดนี้มาใช้กับพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น บ่อยครั้ง ทำให้เห็นความแตกต่างของพื้นที่ดีและพื้นที่เสี่ยง

ในภาคอีสาน พื้นที่เสี่ยงเป็นจุดที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกม มุมอับในโรงเรียน ห้องน้ำในโรงเรียน ตลอดจนสวนสาธารณะในตอนกลางคืน

ขณะที่ภาคใต้ พื้นที่เสี่ยงภัยเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในภาคใต้อย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่ ซาการียา อธิบายว่า จุดเสี่ยงอันเป็นผลพวงจากปัญหาความไม่สงบที่นักเรียนหลายคนรู้ดี และเลือกที่จะไม่แวะเวียนไปในบริเวณดังกล่าวคือบริเวณย่านการค้า หรือแหล่งชุมชนโดยเฉพาะจุดที่ยานพาหนะประเภทรถจักรยานยนต์ที่จอดรวมเป็น จำนวนมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายหากมีการลอบสร้างสถานการณ์

"สถิติที่ผ่านมาเห็นชัดว่าจุดเกิดเหตุมักอยู่ในบริเวณตลาด ย่านการค้า หรือที่ซึ่งมีมอเตอร์ไซค์จอดเรียงรายเป็นจำนวนมาก โดยส่วนตัวหากเลี่ยงได้ผมเลือกจะไม่ไปจุดเหล่านี้" ซาการียา ย้ำจุดเสี่ยง

ส่วน กิตติพร นพจนสุภาพ หรือ "แม็ก" วัย 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 อีกคน ยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อการสำรวจพื้นที่ดี และพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียนไม่น้อย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปนั่นคือพูดน้อยลง และเลือกปฏิเสธการให้ข้อมูล แม้ผู้สอบถามจะเป็นเด็กนักเรียนก็ตาม

"เขากลัว ไม่รู้ว่าข้อมูลที่พวกเราสอบถามจะเอาไปทำอะไร แม้เพื่อนๆ ในกลุ่มที่ลงสำรวจพื้นที่จะพยายามชี้แจงและทำความเข้าใจแต่ส่วนมากไม่ประสบ ความสำเร็จ ซึ่งต้นตออุปสรรคบอกได้เลยว่าเป็นผลพวงมาจากความไม่สงบ" กิตติพร ชี้ถึงตอปัญหาในการทำงาน

"แม็ก" บอกว่า แม้รอบโรงเรียนจะมีพื้นที่เสี่ยงเช่นร้านเกม ตู้คาราโอเกะ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ แต่ก็มีปริมาณน้อย ที่สำคัญแทบไม่พบว่ามีเพื่อนๆ ร่วมโรงเรียนแวะเวียนไปใช้บริการ มีเพียงร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เท่านั้น ซึ่งมักพบในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน

ส่วนพื้นที่ดีรอบโรงเรียน ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสถานกวดวิชา และสถานที่สอนพิเศษ ซึ่งมีเพื่อนนักเรียนไปใช้บริการแน่นทุกแทบทุกจุดที่พบ

"เหตุผลที่เด็กมักไม่ไปอยู่ในจุดเสี่ยงเว้นเพียงสถานที่สอนพิเศษ เป็นเพราะทุกคนไม่ต้องการไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากเหตุการณ์ความไม่ สงบ ที่สำคัญเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการเรียนการสอนทุกคนมุ่งกลับบ้านทั้งสิ้นเพราะ นั่นคือพื้นที่ปลอดภัยที่สุด" แม็ก บอกเหตุผล

นักเรียนคนนี้ บอกว่าในวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมาคนร้ายลอบวางระเบิดหน้าร้านขายของชำ ถนนนาเกลือ ซ.16 ม.11 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับสิบราย ถือเป็นความรุนแรงครั้งแรกที่เกิดขึ้นใกล้บ้านพักที่สุด
"ทันทีที่ทราบ ข่าวตอนกลางวัน ผมรีบโทรกลับบ้าน ซึ่งแม่บอกว่าสะเก็ดระเบิดกระจายลอยมาถึงหน้าบ้าน ทำเอาสมาชิกในครอบครัวเสียขวัญไปตามๆ กัน" แม็ก เล่า

รู้จักความ ‘เสี่ยง' จากคนเคย ‘เสี่ยง'

ในอีกด้านหนึ่งของโครงการแผนที่สุขภาพฯ เป็นการดึงเอาเด็กในหลากหลายความสามารถมารวมกลุ่มกันได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กที่ถูกมองว่า เป็นเด็กเกเร และถูกกีดกันออกไปจากสังคมส่วนใหญ่ เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักทางหนีทีไล่ วิธีหนีอาจารย์ รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ได้ดี จึงเป็นการปล่อยให้เด็กกลุ่มนี้ได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในอีกทางหนึ่ง เท่ากับเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง

ปัญญา พันธุ์บุญมี วัย 16 ปี นักเรียนชั้น ม. 4 โรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์ ยอมรับว่า เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่เคยเกเรมาก่อน เพราะมักจะไปมั่วสุมตามมุมอับของโรงเรียน เมื่อมาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทำให้เขาได้นำประสบการณ์ที่เคยประพฤตินอกลู่ ทางมาใช้ในทางสร้างสรรค์

"จริงๆ แต่ละโรงเรียนจะมีมุมที่เด็กต้องไปมั่วสุมกัน อย่างโรงเรียนผมก็จะมีตามมุมห้องน้ำ อันนี้เราก็ต้องไปทำให้จุดนั้นดีขึ้น หรือรอบๆ โรงเรียนจะมีป่า สามารถหนีโรงเรียนได้ เวลาขี้เกียจเรียนก็จะไปนั่งรวมกลุ่มกันในป่า ถ้าเป็นรอบนอกโรงเรียนจะมีร้านเกม โต๊ะสนุก พวกนี้เด็กก็ชอบไปรวมกลุ่มกัน ผมก็เอาตรงนี้มาบอกเพื่อน"

เด็กนักเรียนคนเดิมยังเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่เสี่ยงอาจจะทำได้หลายทาง เช่น ร้านเกมอาจจะขอความร่วมมือเจ้าของร้านเพื่อให้จัดระเบียบการเปิดร้าน เช่นห้ามเด็กเล่นในเวลาเรียน เพื่อทำให้เป็นร้านเกมสีขาว หรือพื้นที่ที่อับมืดในโรงเรียนก็ต้องทำให้โปร่งมากขึ้น เพื่อไม่เป็นที่หลบซ่อนของนักเรียน

ผลลัพธ์ของโครงการแผนที่สุขภาพฯ จึงไม่ใช่เพียงการรู้จักพื้นที่เสี่ยงหรือจุดที่ปลอดภัยเท่านั้น หากแต่กระบวนการหลายขั้นตอนจะช่วยกล่อมเกลาให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงาน เป็นทีม การสัมผัสกับชุมชน ตลอดจนการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะที่สร้างเสริมให้พวกเขาเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันท่าม กลางภาวะเสี่ยงภัยรอบด้าน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook