เผยเหตุสธ.สั่งชะลอจัดซื้อครุภัณฑ์ มีพิรุธรพ.เลือกใช้เหมือนกัน

เผยเหตุสธ.สั่งชะลอจัดซื้อครุภัณฑ์ มีพิรุธรพ.เลือกใช้เหมือนกัน

เผยเหตุสธ.สั่งชะลอจัดซื้อครุภัณฑ์ มีพิรุธรพ.เลือกใช้เหมือนกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฉสาเหตุปลัดสธ.สั่งชะลอจัดซื้อ 6 ครุภัณฑ์แพทย์เพราะโรงพยาบาลเลือกใช้ตรงกันจนผิดสังเกตุ เครื่องช่วยหายใจ 259 ตัวกว่า 377 ล้าน มีชัย เตรียมปรับโครงสร้างการบริหารโครงการพอเพียงใหม่ ชู 4 กลยุทธ์ดำเนินการ

พิรุธ รพ.ขอครุภัณฑ์ตรงกันอื้อ

หลังจาก นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งชะลอการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (เอสพี 2) วงเงิน 86,000 ล้านบาท 6 รายการ อาทิ เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบยูวี-แฟน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องดมยาสลบ ฯลฯ นั้น แหล่งข่าวระดับสูงจาก สธ. เปิดเผยว่า สาเหตุที่ปลัด สธ.สั่งให้ชะลอรายการครุภัณฑ์ 6 รายการ เนื่องจากพบความผิดปกติเรื่องจำนวนความต้องการที่ส่งมาจากโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ โดยพบว่าบางครุภัณฑ์ รพ.ทั่วประเทศมีความต้องการจัดซื้อเพื่อใช้งานตรงกันจนผิดสังเกต ได้แก่ 1.เครื่องช่วยหายใจ แยกเป็น ชนิดควบคุมปริมาตร ความดัน และเวลา พร้อมระบบวัดความจุของปอด (vital capaccity) ที่แจ้งความต้องการมากถึง 236 ตัว ราคาเครื่องละ 1.5 ล้านบาท งบฯรวม 354 ล้านบาท และชนิดควบคุมปริมาตร ความดัน และเวลา ต้องการ 23 ตัว ราคาเครื่องละประมาณ 1 ล้านบาท รวม 23 ล้านบาท

2.เครื่องดมยาสลบพร้อมเครื่องช่วยหายใจ ชนิด 3 gas vaaorizor พร้อมอุปกรณ์เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ และเครื่องวิเคราะห์ก๊าซระหว่างดมยาสลบ ครบชุด พร้อมระบบ Electronic Charting ต้องการ 13 ตัว ราคาตัวละ 3 ล้านบาท รวม 39 ล้านบาท 3.เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพแบบรวมศูนย์ (Cental monitor with 8 Besides) พร้อมเชื่อมต่อระบบไอซียูเดิมที่มีอยู่ ต้องการ 17 ตัว ราคาตัวละ 5 ล้านบาท รวม 85 ล้านบาท 4.เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด มีความต้องการ 38 ตัว ราคาตัวละ 3 ล้านบาท รวม 114 ล้านบาท 5.เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด (ยูวี-แฟน) ต้องการ 800 ตัว ราคาตัวละ 4 หมื่นบาท รวม 32 ล้านบาท 6.รถพยาบาล ต้องการ 829 คัน

จี้กก.สอบหาเหตุ-ล็อคสเปค

"คณะกรรมการตรวจสอบของ สธ.ต้องตรวจสอบว่า รายการที่ รพ.ทั่วประเทศแสดงความต้องการมาตรงกันจนผิดสังเกตเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นความต้องการที่แท้จริงหรือมีอะไรทำให้มีความต้องการที่ตรงกันเช่นนี้ รวมทั้งครุภัณฑ์ทั้ง 6 รายการ มีการกำหนดข้อความบางอย่างเพื่อเอื้อให้กับบริษัทเอกชนบางแห่งหรือไม่ เช่น การกำหนดว่าพร้อมเชื่อมต่อระบบไอซียูเดิมที่มีอยู่ อาจเป็นการบังคับให้ต้องซื้อจากบริษัทที่เคยซื้อเดิม เป็นต้น หากผลการตรวจสอบออกมาแล้วส่งผลให้ต้องยกเลิกบางรายการ คงจะทำให้บริษัทบางแห่งที่จ่ายเงินให้ใครไปแล้วเข็ดกันเสียที" แหล่งข่าวกล่าว

พบอีกแห่ซื้อเครื่องฆ่าแมลงแพง

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สธ.ควรทบทวนการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์มากกว่า 6 รายการ เช่น เครื่องพ่นละอองฝอยฆ่าแมลง ราคา 880,000 บาท ขณะนี้มีมากกว่า 18 จังหวัดได้รับไปโดยที่ไม่ได้ขอเช่นเดียวกับยูวี-แฟน ทราบว่าบริษัทแห่งหนึ่งระบุว่าผู้ใหญ่ใน สธ.อักษรย่อ "ม" ขอมา พบว่ามีราคาแพงกว่าราคาขายทั่วไปจาก 80,000 บาท สสจ.อุบลราชธานีได้เครื่องนี้ไปเลิกใช้แล้ว นอกจากนั้นแล้วสเปคของเครื่องดังกล่าวยังสูงเกินไป และไม่เหมาะกับสภาพการใช้งานจริง

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะกล่าวอ้างอักษรย่อเท่านั้น ไม่ได้ระบุชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พูดกับสำนักยุทธศาสตร์ สธ. ในฐานะผู้ดูแลโครงการ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าถ้าไม่มีคำขอจากโรงพยาบาลก็ไม่ควรให้

สสจ.รอจัดซื้อยูวี-แฟน

ส่วนกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เลย และนครนายกประกาศจัดซื้อยูวี-แฟนจำนวนมาก แต่ล่าสุด สธ.สั่งให้ระงับไว้ก่อนนั้น นายวิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์ สสจ.เลย กล่าวว่า รัฐบาลสั่งชะลอจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เอสพี 2 เอาไว้ก่อน ระหว่างรอการตรวจสอบคณะกรรมการให้ละเอียดก่อนว่าเป็นไปตามที่ร้องเรียนหรือไม่ จากนั้นโครงการดังกล่าวก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ คิดว่าไม่น่าจะเกิน 7 วันก็จะเรียบร้อย และสามารถจัดซื้อได้ตามขั้นตอนต่อไป

นพ.แสวง หอมนาน นายแพทย์ สสจ.นครนายก กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อ แต่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของแต่ละ รพ. เช่น รพ.ชุมชน อ.องครักษ์ อ.ปากพลี อ.บ้านนา ต้องการเครื่องยูวี-แฟนแห่งละ 1 เครื่อง ส่วน รพ.นครนายกต้องการเครื่องช่วยหายใจ 2 เครื่อง

พท.ซัด สสจ.-ผวจ.ทำนิ่งเฉย

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานภาค กทม. กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่ามีครุภัณฑ์อีกกว่า 40 รายการที่แพทย์ชนบทเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ไม่เหมาะสมกับงาน แต่ สสจ.จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจลงนามจัดซื้อจัดจ้างกลับอยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้ผู้ประกอบการเอกชนไปแนะนำสินค้ากับแพทย์เพื่อให้เลือกจัดซื้อตามที่นำเสนอ ขอเรียกร้องให้นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการ สธ.เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เสนอความต้องการด้วยตัวเอง

"ผมเข้าใจการเมืองดี จึงไม่โทษข้าราชการระดับสูงที่พอถึงช่วงการเปลี่ยนปลัดใหม่ จึงต้องอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวใด ทั้งที่เห็นความผิดปกติ" นายวิชาญกล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้นายวิทยาชะลอการจัดซื้อครุภัณฑ์กว่า 40 รายการไว้ก่อน เนื่องจากมีการส่งรายการไปให้ สสจ.เลือกทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยนายวิทยาควรสอบถามความต้องการของสถานีอนามัยก่อน อย่ารีบร้อนอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง

มีชัย ชู4กลยุทธ์ปรับรื้อพอเพียง

สำหรับความเคลื่อนไหวในการปรับรื้อโครงสร้างและหลักเกณฑ์ของโครงการชุมชนพอเพียง ภายหลังนายมีชัย วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) เข้ามารับตำแหน่งนั้น ล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายมีชัยอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดโครงสร้างการบริหารงานรูปแบบใหม่ เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนนำหารือที่ประชุมบอร์ด ศพช. ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ภายใต้โครงสร้างการบริหารงานรูปแบบใหม่ จะมุ่งเน้นกลยุทธ์การดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1.การประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนทางสังคม จะเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และจัดทำคู่มือโครงการแจกให้ชุมชนต่างๆ 2.การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ดึงองค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน รวมถึงจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน โดยนำเงินบางส่วนของโครงการมาคืนเพื่อเป็นแหล่งทุนหมุนเวียนในชุมชน 3.การสร้างภาคีความร่วมมือ 4.การสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ตั้งอนุกก.จว.กลั่นกรองโครงการ

ส่วนโครงสร้างการดำเนินงาน จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน 6 ชุด ประกอบไปด้วย 1.คณะอนุกรรมการอำนวยการ 2.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนทางสังคม 3.คณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง 4.คณะอนุกรรมการสร้างภาคีความร่วมมือ 5.คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตาม 6.คณะอนุกรรมการประเมินผล สำหรับขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการของชุมชนต่างๆ ที่เสนอเข้ามา จะตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับจังหวัด ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน และผู้แทนเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ เข้ามาช่วยพิจารณาโครงการของชุมชนก่อนเสนอเข้ามา แทนการให้ส่วนกลางพิจารณาเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม เพื่อให้กระบวนการทำงานมีความรัดกุม ตรวจสอบหลายชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ จะไม่ให้ส่วนกลางคุมอำนาจการกลั่นกรองงานไว้แบบเบ็ดเสร็จเหมือนที่ผ่านมา ด้านหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการเพื่อขอรับงบประมาณนั้น จะเน้นโครงการที่มีความยั่งยืน มีผลต่อเนื่องไม่สิ้นสุดในครั้งเดียว และต้องเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

1.สามารถรองรับผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงานในชุมชนให้สามารถพัฒนาไปสู่ความพออยู่ พอกิน พอใช้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2.โครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการลดต้นทุนและปัจจัยในการผลิตด้านต่างๆ สร้างโอกาสในอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก 3.โครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทางเลือก แต่จะไม่มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีต้นทุนสูงเกินไป 4.โครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

ตีกลับโครงการเดิมให้เสนอใหม่

สำหรับโครงการที่ชุมชนเสนอเข้ามาแล้ว ยังไม่ได้มีการอนุมัติ รวมถึงในส่วนที่อนุมัติไปแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนเงินงบประมาณ ไปให้ 4-5 หมื่นโครงการ จะมีการแจ้งเรื่องไปยังชุมชนให้ทำการประชาคม เพื่อเสนอโครงการใหม่เข้ามาอีกครั้ง แหล่งข่าวกล่าว และว่า บทบาทของผู้อำนวยการ สพช.จะลดลงมาอย่างมาก จะเหลือเพียงแค่ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงาน และการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ขณะที่บอร์ดจะมีอำนาจการพิจารณางานทุกด้าน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตรายางเหมือนช่วงที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook