กยศ.เผยยอดนศ.เบี้ยวหนี้พุ่ง1.6แสนราย

กยศ.เผยยอดนศ.เบี้ยวหนี้พุ่ง1.6แสนราย

กยศ.เผยยอดนศ.เบี้ยวหนี้พุ่ง1.6แสนราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดินสายไกล่เกลี่ยนศ.เบี้ยวหนี้ปี 2553 ใน 36 จังหวัด ส่วนปี 52 ติดต่อชำระคืน 2 ล้านคน ไม่ยอมมาชำระหนี้ 5 แสนคน มั่นใจขอไกล่เกลี่ยกว่า 3.6 หมื่นคนยุติฟ้องร้องได้กว่า 90 % ยืนยันยังไม่มีนโยบายส่งรายชื่อนศ.หนีชำระหนี้กยศ.เข้าระบบเครดิตบูโร แจงไม่ประสงค์ทำความเดือดร้อนให้ผู้กู้

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2552 สำนักงานศาลยุติธรรมร่วมมือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)จัด แถลงข่าว โครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีปี 2553 ที่ศาลอาญาโดยนพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 นี้ กยศ.พบว่ายอดผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้กยศ. 5 งวดขึ้นไปและกำลังจะถูกกยศ.ดำเนินคดีฟ้องร้องนั้นมีมากถึง 161,793 คิดเป็นมูลค่าหนี้ที่ค้างชำระ 15,824 ล้านบาท ซึ่งว่ามากกว่าปี 2552 อยู่ 13,126 ราย

ผู้จัดการกองทุนกยศ. กล่าวอีกว่า ปี 2552 มีผู้ค้างชำระหนี้กยศ.ที่ถูกบอกเลิกสัญญาและเข้าข่ายต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ 148,613 ราย ซึ่งถ้ามองในภาพรวมตั้งแต่ที่กยศ.มีกองทุนขึ้นมาให้เด็กกู้เรียนและให้เด็กชำระเงินคืนหลังเรียนจบมีงานทำมากว่าสิบปีเท่ากับว่ากยศ.ปล่อยเงินกู้ไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ผู้กู้ได้ติดต่อชำระเงินคืนกยศ.แล้ว 2 ล้านราย คิดเป็น 75 % ของผู้ที่จะต้องชำระเงินคืนกยศ.ทั้งหมด ส่วนผู้ที่ขาดการติดต่อกับกยศ.ไปเลย ไม่ยอมมาชำระเงินคืนนั้นมี 25 % หรือราว 5 แสนคน มูลค่าเงินที่ติดค้างชำระคืนมีถึง 7 พันล้านบาท การที่จะใช้วิธีฟ้องร้องบังคับให้ลูกหนี้จ่ายหนี้คืนนั้น กยศ.ต้องมีค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องตก 5,000 บาทต่อจำนวนลูกหนี้หนึ่งรายเลยทีเดียว แทนที่เงินเหล่านี้จะถูกนำมาให้เด็กรุ่นหลังๆได้กู้เรียน กลับต้องมาเสียไปกับภาระการฟ้องร้อง

นพ.ธาดา กล่าวต่อไปว่า กยศ.ใช้วิธีไกล่เกลี่ยตั้งโต๊ะเจรจากับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระมาตั้งแต่ปี 2549 และเห็นว่าผู้ผิดนัดชำระให้ความสนใจกับแนวทางนี้มากพอสมควร อย่างในปี 2552 มีผู้ติดต่อขอเจรจาไกล่เกลี่ย 46,000 ราย และ 90 % ของผู้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยสามารถยุติข้อพิพาทกับกยศ.ได้ ทำให้กยศ.สามารถลดภาระการจ่ายเงินเพื่อทำคดีฟ้องร้องไปได้ราว 230 ล้านบาท และในปี2553 นี้กยศ.ก็คาดหวังว่าผู้ที่ติดต่อเข้ามาขอไกล่เกลี่ยก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 36,000 รายแน่นอน

"กยศ.ยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายส่งรายชื่อนศ.ที่หนีชำระหนี้กยศ.เข้าระบบเครดิตบูโร เพราะไม่ประสงค์จะทำความเดือดร้อนให้ผู้กู้ เข้าใจดีถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่หลายคนมีความจำเป็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต กยศ.หวังจะช่วยบรรเทาทุกข์ลูกหนี้ และใครที่มาติดต่อขอเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ยอมที่จะชำระหนี้คืนกยศ.ตามระบบ กยศ.จะช่วยในการลดเบี้ยปรับให้อย่างเต็มที่" ผู้จัดการกองทุนกยศ. กล่าว

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินการไกล่เกลี่ยนั้น ผู้ที่มาเข้าสู่กระบวนการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และสำหรับการไกล่เกลี่ยผู้ที่อยู่ในข่ายจะถูกฟ้องดำเนินคดีในปี 2553 คณะผู้ร่วมโครงการไกล่เกลี่ยจะใช้เวลาเดินสายไกล่เกลี่ยด้วยกัน 36 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2552 - 6 มี.ค. 2553 ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีจำนวนผู้ค้างชำระหนี้อยู่มากสุดถึง 58,788 ราย

"ศาลมองแล้วเห็นว่า ไม่ว่าจะอย่างไรเด็กที่ค้างชำระหนี้กยศ.ก็ถือเป็นอนาคตของชาติที่จะเติบโตมาเป็นผู้พัฒนาบ้านเมือง หากคิดแต่จะฟ้องร้องเด็กเหล่านี้ กองทุนกยศ.อาจไม่บรรลุเป้าหมายที่จะสร้างอนาคตของชาติหากเด็กเหล่านี้เรียนจบออกไปทำงานโดยมีคดีความติดตัวมีชนักติดหลัง ก็จะไม่มีกำลังใจทำงาน ศาลเองก็จะต้องมีภาระทำคดีเหล่านี้จำนวนมาก ถ้าไกล่เกลี่ยได้ก็จะเป็นการลดภาระคดีที่เข้าสู่ศาล แนวทางนี้ผมนำเรียนประธานศาลฎีกาแล้ว ท่านสนับสนุนให้ทำเต็มที่ เพื่อทำให้กองทุนกยศ.ดำรงอยู่ได้ โดยไม่กระทบต่ออนาคตการทำงานของเยาวชนที่เป็นลูกหนี้กยศ." นายวิรัช กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook