''ปุ๋ยสั่งตัด'' ทีมเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี

''ปุ๋ยสั่งตัด'' ทีมเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภททีมประจำปีนี้จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

กับคณะวิจัยกลุ่มเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่า ปุ๋ยสั่งตัด

ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ เพราะงานวิจัยนี้ได้ริเริ่มและดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี และ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะกับภาคการเกษตร อาชีพหลักที่สำคัญของประเทศไทย

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย บอกว่า กลุ่มเทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัด ประกอบด้วยบุคลากรหลาก หลายองค์กรกว่า 30 คน จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน และจากต่างประเทศคือมหาวิทยาลัย เกียวโต และมหาวิทยาลัยฮาวาย

ที่มาของงานวิจัยเนื่องจากพื้นที่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูก ปุ๋ยจึงมีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรขาดความเข้าใจในดิน ทรัพยากรที่มีค่าของตนเอง จึงเกิดการใช้ปุ๋ยอย่างไม่เหมาะสม

ศ.ดร.ทัศนีย์ บอกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้คำแนะนำปุ๋ย โดยเฉพาะไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) แบบกว้าง ๆ สำหรับการปลูกพืชในดินทุกชนิดและทุกจังหวัด ที่เรียกว่า การใช้ปุ๋ยเสื้อโหล ไม่มีการวิเคราะห์ดิน แม้ว่าต่อมาจะพัฒนาเป็น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พ ในดินขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย แต่ในทางปฏิบัติก็ยังห่างไกลความเป็นจริง

ปัจจุบันปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปี ในขณะที่ผลผลิตไม่ได้เพิ่มตามไป ด้วย แสดงให้เห็นถึงการใช้ปุ๋ยเคมียังไม่มีประสิทธิภาพ

ผลก็คือหากใช้ปุ๋ยผิดสูตรและปริมาณไม่เหมาะสมทำให้พืชไม่เจริญเติบโต ผลผลิตน้อย แต่ถ้าใส่ปุ๋ยเกินความต้องการของพืช นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าปุ๋ย ยังสร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

กลุ่มวิจัยจึงได้ริเริ่มและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำสำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย ขึ้นเพื่อเป็นเทคโนโลยี ที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง

โดยนำแนวคิดมาจากการเกษตรแม่นยำ ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้มากว่า 10 ปี มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพไร่นาขนาดเล็กของเกษตรกรไทย

ในที่นี้เรียกว่า เทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเหมือนเสื้อมีขนาดพอดีตัว มีการนำข้อมูลพันธุ์พืช แสง อุณหภูมิ ปริมาณ น้ำฝน ชุดดิน และ เอ็น-พี-เค ในดินใน ขณะนั้น มาคำนวณ ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยคอมพิวเตอร์ และพัฒนาเป็นโปรแกรมคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัด

นอกจากนี้ยังพัฒนาชุดตรวจสอบค่าเอ็น-พี-เคในดินอย่างรวดเร็ว วิเคราะห์ได้ใน 30 นาที และคู่มือการสำรวจชุดดินในภาคสนามอย่างง่าย ไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมากและใช้เวลานาน

สำหรับความง่ายของช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ศ.ดร.ทัศนีย์ บอกว่ามีเพียง 3 ขั้นตอนคือ 1.ตรวจสอบดินของตนเองว่าเป็นชุดดินอะไร สอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดหรือ www.soil.doae.go.th 2.ตรวจสอบปริมาณธาตุอาหาร เอ็น-พี-เค ในดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ซึ่งแนะนำชุมชนหรือ อบต. เป็นผู้ลงทุน และ 3.ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำโดยดูจากคู่มือการใช้หรือโปรแกรมซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ www.ssnm. agr.ku.ac.th

ส่วนผลการดำเนินงาน ปุ๋ยสั่งตัด ทำให้เกษตรกรลดค่าปุ๋ยในการผลิตข้าว 47% ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นได้ถึง 7% ได้ ส่วนข้าวโพด ถ้าใช้ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 30% สำหรับอ้อย ซึ่งคำแนะนำเพิ่งเสร็จเฉพาะภาคอีสาน ก็พบว่ามีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทีมงานบอกว่าการพัฒนาต่อไปนอกจากจะประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่น ๆ เช่นอ้อยภาคตะวันตก หรือยางพาราแล้ว ยังต้องเน้นที่การฝึกอบรม ยกระดับความรู้ให้กับเกษตรกรไทย เพื่อความหวังที่ว่า อนาคตเกษตรกรไทยจะต้องไม่ยากจน.

นาตยา คชินทร

nattayap@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook