อัยการตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.พิจารณาคดีสลาย พธม.7ต.ค.51

อัยการตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.พิจารณาคดีสลาย พธม.7ต.ค.51

อัยการตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.พิจารณาคดีสลาย พธม.7ต.ค.51
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีอัยการคดีพิเศษเสนออัยการสูงสุด ตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. พิจารณาคดี สมชาย บิ๊กจิ๋ว พัชรวาท สุชาติ สลายม็อบ พธม. 7ต.ค.51 แล้ว ใช้เวลาพิจารณาสำนวนตามกฎหมายแล้ว 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอาญา นักการเมืองและนายตำรวจรวม 4 คน ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กรณีที่มีคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บริเวณ หน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย ว่า หลังจากที่ ป.ป.ช. ส่งสำนวนพร้อมพยานหลักฐานการชี้มูลความผิด มาให้สำนักอัยการสูงสุดแล้ว อัยการสูงสุด ได้มอบสำนวนคดีมาให้ตนในฐานะอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ พิจารณาเพื่อสรุปความเห็น ซึ่งได้เสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนคดีร่วมกันในประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยตนได้เสนอรายงานนายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุด ทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการแจ้งเรื่องให้ ป.ป.ช. ทราบ

นายธนพิชญ์ กล่าวว่า อัยการได้ใช้เวลาพิจารณาสำนวนของ ป.ป.ช. 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้อัยการพิจารณานั้นไม่ได้มีการแยกพิจารณาระหว่างนักการเมืองกับ นายตำรวจแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา โดย ป.ป.ช. เห็นว่า นายสมชาย ในฐานะนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการให้สลายการชุมนุม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น. ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์และเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่กลับไม่มีการสั่งให้หยุดการสลายการชุมนุม ทั้งที่มีผู้บาดเจ็บและชีวิตในช่วงเช้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา ในฐานความผิดเดียว กันกับนายสมชายและ พล.อ.ชวลิต รวมทั้งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (5) (6)ด้วย โดย ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 70

ส่วนนายตำรวจอีก 5 นาย ประกอบด้วย พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น. และพล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น. นั้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ป.ป.ช. จึงให้ข้อกล่าวหานั้นตกไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook