ส่งประชาพิจารณ์กม.ค้าปลีก

ส่งประชาพิจารณ์กม.ค้าปลีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วัดใจ ''พรทิวา'' ชงครม.ช่วยโชห่วย หากเบรกเล็งงัดกฎหมายอื่นคุม

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จะมีการสรุปผลการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ ... เสนอต่อนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ให้ได้วันที่ 12 พ.ย.นี้ เพื่อเร่งผลักดันให้มีผลบังคับใช้โดย เร็วที่สุด โดยขณะนี้กรมฯ ได้จัดทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 5 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้ง ที่จ.เชียงใหม่ และจ.ภูเก็ต

สำหรับประเด็นที่จัดทำประชาพิจารณ์ ได้ดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การกำหนดประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจว่าจะมีอะไรบ้าง 2.การออกใบอนุญาตจะมีวิธีการอย่างไร เป็นแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง หรือกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณา 3.มาตรการส่งเสริมและพัฒนาค้าปลีกรายย่อย ควรจะมีอะไรบ้าง 4.โทษปรับตามกฎหมาย จะมีการปรับปรุงโทษอาญา และโทษปอย่างไร

กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายจากนางพรทิวา ให้ทำเสร็จก่อนวันที่ 15 พ.ย. 52 ซึ่งก่อนจะสรุปร่างกฎหมาย จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้ง เพื่อให้ช่วยกันดูในประเด็นต่าง ๆ ก่อนสรุปภาพรวมแนวทางทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป

น.ส.ชุติมากล่าวว่า นโยบายการยกร่างกฎหมายค้าปลีก ต้องการวางกฎ กติกา เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย (โชห่วย) และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ได้เป็นการขัดขวางการทำธุรกิจ เพียงแต่ต้องมีกฎ กติกา ทำให้คนที่ไม่เคยอยู่ภายใต้ข้อบังคับอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนี้กำลังคิดรูปแบบกองทุนที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นหลักประกันให้รายย่อยในการดูแล และรองรับการทำธุรกิจได้

ไม่กังวลเรื่องการคัดค้านการออกกฎหมายค้าปลีก แต่หากกฎหมายติดขัด ก็คงต้องเน้นการใช้กฎยอื่นที่มีอยู่ เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร และคงต้องไปเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์เสนอความคืบหน้าในการจัดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายค้าปลีกต่อที่ประชุมครม. เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และครม.มีมติให้สรุปผลการประชาพิจารณ์เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายค้าปลีกเสนอเข้าสู่การพิจารณาครม.อีกครั้งภายใน 90 วัน โดยประเด็นที่มีการคัดค้านอย่างมาก ได้แก่ การกำหนดประเภทธุรกิจที่จะต้อง ขออนุญาตขยายสาขา รวมถึงการให้อำนาจ คณะกรรมการระดับจังหวัด หรือส่วนกลางในการพิจารณาขยายสาขา เป็นต้น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook