การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาอาเซียน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาอาเซียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ความร่วมมือสำคัญด้านหนึ่งจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 ก็คือความร่วมมือทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของอาเซียน โดยผลจากการประชุมทำให้เกิดความตกลง แนวคิด และความพยามหลายรูปแบบในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ความช่วยเหลือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จีนจะให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอาเซียน จำนวน 100 คน และจะส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มเป็น 2 เท่า (200,000 คน) จากเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้แล้วภายใต้ "โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา 100,000 คน ภายในปี 2563" เกาหลีใต้เสนอแนวคิดโครงการให้ทุนการศึกษา (Global Korea Scholarship Programme) และความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน-เกาหลีใต้ที่ให้การเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (ASEAN-ROK Cyber University) ญี่ปุ่นจะระดมทุน จำนวน 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนอาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยการบูรณาการ JAIF เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบป้องกันภัยพิบัติและระบบตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน (emergency response) โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเงินและการให้การฝึกอบรมภาษาญี่ปุ่นแก่พยาบาล ภาพสะท้อนความช่วยเหลือสู่นัยด้านความร่วมมือ จากความช่วยเหลือของทั้งสามประเทศ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกัน และต่างมีจุดประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น โดยในส่วนของจีนมุ่งเน้นในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการศึกษาโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายต่างได้รับผลพลอยได้ในความพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ทั้งนี้การพยายามเข้าใจวัฒนธรรม และระบบต่าง ๆ ของประเทศจีนถือเป็นสิ่งสำคัญของประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนกำลังเพิ่มศักยภาพความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ การรู้เท่าทันและติดตามความเป็นไปของจีนจึงสร้างประโยชน์ได้มากกว่า ในส่วนของเกาหลีใต้ ซึ่งเสนอแนวคิดในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียนเกาหลีใต้ โดยให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั้น ถือว่าเป็นความพยายามเปิดกว้างทางการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าเกาหลีใต้นั้นพยายามถ่ายทอดวัฒนธรรมออกเป็นสินค้าอย่างประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ด้วย ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติที่ประเทศของตนเองประสบอยู่ตลอดเวลา ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือและการฝึกอบรมภาษาญี่ปุ่นแก่พยาบาล เพื่อความคล่องตัวในการถ่ายทอดการพัฒนาระบบป้องกันภัยพิบัติและระบบตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน ถือเป็นความช่วยเหลือที่มีคุณค่ายิ่ง เนื่องจากประสบการณ์การรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ของแต่ละประเทศยังไม่พัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างมาตรฐานโดยผู้ที่รับมือกับภัยพิบัติมามากมายอย่างญี่ปุ่นจึงถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการให้การศึกษา ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วต้องมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านการศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ การได้แลกเปลี่ยนความรู้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาเซียน ที่จะก้าวข้างหน้าต่อไปอย่างทันสถานการณ์ของโลกได้ดียิ่งขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook