''อำพน'' โชว์แผนกอบกู้วิกฤติการบินไทย

''อำพน'' โชว์แผนกอบกู้วิกฤติการบินไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มีเงินไม่ถึง 7 บาท ก็เป็นเจ้าของหุ้นการบินไทยได้แล้ว ถือเป็นประโยคที่บาดลึกในความรู้สึกของคนการบินไทย แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หุ้นสายการบินแห่งชาติ เคยสูงชะลูดถึง 67 บาทในปี 47 แล้วก็รูดลงมาต่ำสุดในวันที่ 22 ม.ค. เหลือแค่ 6.40 บาท จนมีการแซวกันว่า ราคาหมากฝรั่งบ้านเรายังแพงซะกว่า!!

สาเหตุหลักที่การบินไทย เข้าขั้นวิกฤติ ถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูมาดูแลโดยเฉพาะ เพราะโดนกระหน่ำทั้งพิษเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างหนัก ราคาน้ำมันที่ฉุดไม่อยู่ ทำเอาสายการบินทุกแห่งในโลกใบนี้ซวนเซไปหมด แต่สายการบินไทย ยังถูกปัจจัยภายในซ้ำเติมทั้งความแตกแยกในองค์กร ไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งคนนอกองค์กร ยังเข้ามามะรุมมะตุ้มแสวงหาผลประโยชน์ จนทำให้ภาพลักษณ์สายการบินแห่งชาติมอมแมมไปหมด

แต่ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทุกอย่างในการบินไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้ชัดจากราคาหุ้น ที่เริ่มผงกหัวขึ้นจนไต่ระดับถึง 24.40 บาท ซึ่งเชื่อว่า หลายคนคงอยากรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในการบินไทย และต่อไปการบินไทยจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งต้องให้อัศวินม้าขาวอย่าง อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย ที่เข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มาไขความกระจ่างถึงการผ่าตัดครั้งยิ่งใหญ่ของสายการบินแห่งชาติ

ถาม : ตั้งแต่รับตำแหน่งมา 5 เดือน ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในบริษัทการบินไทยบ้าง ?

ตอบ : จุดแรกผมพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในองค์กร ทำให้ถูกตามกฎเกณฑ์ของบริษัท ซึ่งตั้งแต่เข้ามา ผมได้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง เช่น ตัดเบี้ยการประชุมของบอร์ด แต่ได้เพิ่มการประชุมเป็นเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งตัดสิทธิประโยชน์ของบอร์ด เช่น ตั๋วเครื่องบิน อย่างบอร์ดการบินไทยชุดเก่า ก็ให้สิทธิได้ตั๋วฟรีไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ได้ตลอดชีวิต และการทำในลักษณะนี้ ถือเป็นการท้าทายฝ่ายบริหารของการบินไทยว่า บอร์ดทำแบบนี้แล้ว ฝ่ายบริหาร จะตัดค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะตัดแค่ค่าน้ำมันอย่างเดียวหรือ ? โดยหลายคนบอกว่าผมบ้า ผมบอกตรง ๆ ว่า โดนด่าเยอะ ซึ่งผมก็เข้าใจระบบสังคมไทย แต่ถ้าไม่เริ่มเลยก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ ที่ผ่านมาผมอยู่บริษัท ปตท. มา 5 ปี น้ำมันเพียงลิตรเดียวผมยังไม่เคยได้เลย

จุดที่ 2 คือการปรับโครงสร้างการเงินระยะสั้นของเงินกู้ 37,000 ล้านบาท ซึ่งก็ดำเนินการได้สำเร็จตามแผน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยได้เอ็มแอลอาร์ลบนิดหน่อย ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายได้ถึงกลางปีหน้า และทำให้สถาบันจัดอันดับ ได้ให้เรตตบินไทยอยู่ในระดับ เอ คงที่ แต่ถ้าไม่ปรับโครงสร้างอะไรเลย ปล่อยให้ติดลบ 19,000 ล้านบาทเหมือนเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รับรองวันนี้เรตติ้ง เหลือบีแล้ว และได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น เช่น การประหยัดน้ำมัน ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ซึ่งในทุกเดือนผมได้ให้เจ้าหน้าที่รายงานตามชาร์ตที่กำหนด 6 รายการ ที่ต้องรายงานให้บอร์ดทราบทุก 15 วัน หากเปรียบเทียบก็เหมือนจุดวัดชีพจรของมนุษย์ แต่สิ่งนี้เป็นเหมือนจุดวัดชีพจรของการบินไทย

รายการแรก ดูอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟคเตอร์) มีผู้โดยสารใช้บริการเครื่องบินกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเฉลี่ยเดือนก.ย. มีเคบินแฟคเตอร์ 74.5 % ถือว่า เป็นระดับที่ใช้ได้ ซึ่งล่าสุดเคบินแฟคเตอร์ขึ้นไป 78.9 % แล้ว รายการที่ 2 ตรวจดูสภาพคล่องทางการเงินมีปริมาณเข้า-ออกเท่าไร เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ รายการที่ 3 คืออัตราส่วนการบรรทุกสินค้า ตอนนี้ก็ปรับตัวดีขึ้น รายการที่ 4 ราคาน้ำมัน มีความผันผวนอย่างไร เพื่อติดตามดูว่า ต้องขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน (ฟิวส์เซอชาร์จ) แล้วหรือไม่ รายการที่ 5 มีเครื่องบินกราวด์บนพื้นดิน หรือเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งานมีจำนวนกี่เครื่อง โดยที่ผ่านมามีเครื่องบินกราวด์สูงถึง 26 ลำ ถือว่า สูงมาก แต่วันนี้มีเพียง 11 ลำ เพราะได้ เร่งช่างให้รีบซ่อม รายการสุดท้าย คือ ดูศักยภาพในการให้บริการ ซึ่งถ้าตัวไหนมีปัญหา ก็จะเร่งเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที

ถาม : จุดแข็งของการบินไทย คืออะไร

ตอบ : การบินไทยมีแบรนด์ ที่แข็งแกร่งมาก ๆ ทั้งในเอเชีย และยุโรป รวมทั้งมีระบบการทำงานที่เป็นมืออาชีพ ทั้งในส่วนของกัปตัน ลูกเรือ และพนักงานที่ให้บริการในส่วนต่าง ๆ มีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นจำนวนมาก ที่เป็นตึก มีศูนย์ลูกเรือขนาดใหญ่ มีศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ อยู่ที่สนามบินดอนเมือง มีฝ่ายครัวการบินที่แข็งแกร่ง ซึ่งทุกวันนี้สามารถทำขนมปังส่งทั่วโลก และกำลังเริ่มทำอาหารแช่แข็งส่งทั่วโลกด้วยเช่นกัน และยังมีคาร์โก้ อีกทั่วโลก ซึ่งการบินไทย ไม่ได้ขาดทุนเหมือนที่หลายคนคิด มีเครื่องบินมากถึง 88 ลำ แม้วันนี้มีหนี้สินถึง 1.6-1.7 แสนล้านบาท แต่ยังมีทรัพย์สินมากกว่า 2 แสนล้าน

ทุกวันนี้ต้องมาคิดว่า ทำไมการบินไทยไม่เอาจุดแข็งเหล่านี้ มาปฏิรูปองค์กรแล้ววางแผนธุรกิจ เพื่อให้ก้าวออกไปข้างหน้า เพราะเรามัวแต่คิดว่า เราออนท็อป เลยหยุดนิ่งมาเกือบ 50 ปี เมื่อหยุดนิ่ง ก็ยิ่งทำให้เกิดการกัดกร่อน และหากมัวแต่คิดเรื่องโกง ก็กลายเป็นน้ำเน่าอยู่ในการบินไทยต่อไป

ถาม : จุดอ่อนการบินไทย มีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

ตอบ : จุดอ่อนสำคัญที่สุดของการบินไทย คือ การขาดความเป็นธรรมในองค์กร ตราบใดที่ยังขาดความเป็นธรรมในองค์กร คนดีไม่รับรเหลียวแล คนชั่วถูกเปิดโอกาสให้มาคุมคนดี ซึ่งผมยึดหลักตาม พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านทรงตรัสว่า ต้องส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ โดย 5 เดือนที่ผ่านมาในการแต่งตั้งโยกย้ายในการบินไทย มีคนฝากทุกตำแหน่งเป็นร้อยคน ผมไม่เข้าใจ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีระบบความเป็นธรรม เด็กใครก็เด็กใคร มีการข้ามหัวกันไปข้ามหัวกันมา ผมได้สร้างระบบความเป็นธรรมเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การปราบปรามการทุจริต และความไม่โปร่งใส ซึ่งผมก็ได้โยกคนที่เคยถูกแขวนตำแหน่ง กลับมาทำงาน และใครทุจริตก็ย้ายไปไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ได้อีก

เรื่องที่สองการบินไทยไม่มียุทธ ศาสตร์ ไม่มีวางตำแหน่งจะเป็นธุรกิจแบบไหนให้ชัดเจน เมื่อก่อนจะดูเครื่องบินว่าต้องการรุ่นไหน แล้วค่อยมาพิจารณาตลาดว่า จะเอาเครื่องรุ่นนี้เจาะตลาดไหนดี แทนที่จะเอาตลาดเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยมาตัดสินใจว่า ควรเอาเครื่องบินรุ่นไหนไปเจาะตลาดนี้ดี ที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ รวมทั้งต้องหาพันธมิตรเพิ่มขึ้น

ถาม : สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในการทำงาน 5 เดือนในตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย ?

ตอบ : ผมภูมิใจมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่เข้ามานั่งประธานบอร์ด นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างทางการเงิน และดัชนีชี้วัดชีพจรการบินไทยแล้ว คือ ผมไม่ได้ปลดพนักงานการบินไทยออกสักคน ขณะที่คู่แข่งปลดพนักงานกันเป็นแถว และวันนี้ผมพูดได้เลยว่า ระบบการเงินลงตัวแล้ว ยุทธ ศาสตร์การดำเนินงานก็มีทิศทางที่ดีขึ้น แล้ว อำนาจการบริหารงานต่าง ๆ ก็เพิ่มให้ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่เต็มที่แล้ว ถือได้ว่าพร้อมทุกอย่าง

เรียกว่าเป็นการปฏิวัติสายการบินแห่งชาติสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ในวันนี้การบินไทยพร้อมแล้ว ที่จะเหินลำนาวาสู่วันฟ้าใสอีกครั้ง ภายใต้การบริหารของกระบี่มือหนึ่งด้านเศรษฐกิจแห่งเมืองไทยกับชายผู้ชื่อ อำพน กิตติอำพน.

จิตวดี เพ็งมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook