ศาลปค.ตัดสินสกอ.ชนะเด็กฟ้องลิดรอนสิทธิโอเน็ต

ศาลปค.ตัดสินสกอ.ชนะเด็กฟ้องลิดรอนสิทธิโอเน็ต

ศาลปค.ตัดสินสกอ.ชนะเด็กฟ้องลิดรอนสิทธิโอเน็ต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลปกครองกลางชี้ขาดสกอ.ชนะคดีเด็กฟ้องลิดรอนสิทธิใช้คะแนนโอเน็ตได้เฉพาะปีที่จบการศึกษา ขณะที่ หมอกมลพรรณ เผยศาลอุทธรณ์รับพิจารณาฟ้องจุรินทร์ ฐานนิ่งเฉย ไม่ยับยั้งแอดมิชชั่นส์ พร้อมเตรียมเดินหน้าฟ้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

(4พ.ย.)จากกรณีที่ นายชัยวิชิต เจษฎาภัทรกุล เป็นผู้ยื่นฟ้องร้องสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต่อศาลปกครองตั้งแต่เดือนพ.ค. 2551 โดยระบุว่า ตนเองจบการศึกษาชั้นม. 6 จากร.ร.วัดนวลนรดิศ ปีการศึกษา 2528 และจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2549 และต้องการเปลี่ยนอาชีพมาทำงานด้านกฎหมาย จึงอยากสมัครคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิชาการด้านกฎหมาย แต่ในปี 2549 มีการเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกจาก เอนทรานซ์ มาเป็นแอดมิชชั่นส์ และกำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกต้องใช้คะแนนสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการคัดเลือก ซึ่งตนเองได้เข้าสอบโอเน็ตในปีการศึกษา 2549 และ 2550 เพื่อนำคะแนนมาใช้ในช่วงดังกล่าว แต่ผลสอบตนไม่ผ่านการคัดเลือก

ต่อมา ในปี 2551 จึงนำคะแนนสอบโอเน็ตในปี 2549 ที่ได้สอบมายื่นอีกครั้ง เพราะจากการคำนวณคะแนนของตนเองสูงกว่าคะแนนขั้นต่ำของคณะนิติ ฯ จุฬาฯ แต่พบว่าตัวเองไม่ผ่านการคัดเลือก และได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ สกอ.ซึ่งเป็นผู้ประมวลผลการคัดเลือกในขณะนั้น ได้คำตอบว่า ตนเองขาดคุณสมบัติตามระเบียบการคัดเลือกที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้สมัครต้องใช้คะแนนสอบโอเน็ต ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้นม. 6 เท่านั้นมายื่นพิจารณาคัดเลือก

นายชัยวิชิต กล่าวอ้างต่อไปว่า ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาเป็นปีที่ยังไม่มีระบบสอบโอเน็ตจึงไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาค เป็นการลิดรอนสิทธิ์นร.ที่เรียนจบก่อนปีการศึกษา 2549 ที่จะกำหนดกฏเกณฑ์เช่นนี้ในระบบการคัดเลือก จึงขอให้ศาลพิจารณาว่าการนำระบบแอดมิชชั่นส์มาใช้ และการจำกัดให้ใช้คะแนนสอบโอเน็ต เฉพาะปีที่ผู้สมัครสอบคัดเลือกจบการศึกษาชั้นม. 6 เท่านั้นมายื่นประกอบการพิจารณาคัดเลือก เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (4 พ.ย.2552 )ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาว่าประเด็นทั้ง 2 ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการปรับเปลี่ยนระบบคัดเลือกนศ.เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นอำนาจหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งที่กระทำได้ตามกฎหมายการจัดตั้งสถาบัน การปรับระบบคัดเลือกเป็นมติของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ส่วนสกอ.ที่ถูกเด็กนร.ฟ้องร้องเป็นเพียงผู้ประสานงานและดำเนินการคัดเลือกแทนมหาวิทยาลัยต่างๆเท่านั้น อีกทั้งเหตุผลการจำกัดให้ผู้สมัครแอดมิชชั่นส์ใช้คะแนนสอบโอเน็ตในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้นม. 6 เพียงครั้งเดียวเท่านั้นมายื่นคัดเลือก เรื่องนี้ สกอ.ได้มาชี้แจ้งว่า การสอบโอเน็ตเป็นการสอบที่มุ่งวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนชั้นม.ปลายของเด็ก เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาและเป็นดัชนีบ่งชี้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษา ด้วยเหตุนี้นร.แต่ละคนจึงสามารถเข้ารับการทดสอบโอเน็ตได้ครั้งเดียวในปีที่ตนเองจบการศึกษาเท่านั้น ทำให้คุณสมบัติของการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ต้องกำหนดให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของการสอบโอเน็ตศาลด้วย

ศาลปกครอง ยังให้เหตุผลอีกว่า กรณีที่ผู้จบการศึกษาไม่ตรงกับปีที่สอบโอเน็ต ถือเป็นการเยียวยา และเกณฑ์การคัดเลือก ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การคัดเลือกนศ.เข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านระบบ Admission ในปีการศึกษา 2549 และ2550 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนระบบคัดเลือกใหม่ๆ ได้พิจารณาเยียวยาให้ผู้ที่จบการศึกษาชั้นม.6 ก่อนปีการศึกษา 2549 สามารถสอบโอเน็ต และนำคะแนนมาใช้คัดเลือกได้ในช่วง 2 ปีดังกล่าว ดังนั้น ศาลเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกได้ให้โอกาสกับผู้จบการศึกษาก่อนปี 2549 พอสมควรแล้ว

ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายฯเป็นโจทย์ยื่นอุทธรณ์ฟ้องอาญา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ และ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา โดยไม่ยับยั้งการใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ นั้น ล่าสุดศาลอุทธรณ์รับพิจารณาคำฟ้องแล้ว และให้โจทย์ส่งสำนวนแก้ไขภายใน 15 วัน นับจากวันได้รับสำนวนฟ้อง นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังได้เตรียมที่จะฟ้องเพิ่มเติมกรณีเดียวกัน ได้แก่ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ, สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือ สทศ. ,ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะประธาน ทปอ. และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะรองประธาน ทปอ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook