''ต้องถามว่าไปรับมาจากใคร''

''ต้องถามว่าไปรับมาจากใคร''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กลายเป็นความฮือฮาตามที่หลายฝ่ายคาดหมายสำหรับข้อเสนอ นครปัตตานี เพื่อดับไฟใต้ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย แต่ในความฮือฮานั้นมีข้อสงสัยอยู่ว่าข้อเสนอนี้มุ่งแก้ปัญหาหรือมุ่งที่จะหวังผลทางการเมือง ทีมการเมืองเดลินิวส์ ได้สัมภาษณ์ นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะ โต้โผ ในการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

** พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย เปิดประเด็นเรื่องนครปัตตานี ซึ่งกระแสสังคมให้ความสนใจมาก จนทำให้มองว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แก้ปัญหาภาคใต้ไม่มีความคืบหน้า

ไม่ใช่ครับ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้เกิดเหตุขึ้นมาในช่วงที่ พล.อ.ชวลิต เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูจากสถิติในปี พ.ศ. 2546 ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุถึง 2,077 ครั้ง แต่หลังจากที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแก้ไขปัญหา มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นไม่ถึง 1,000 ครั้ง จำนวนเหตุการณ์ลดลง คนเจ็บคนตายลดลง สุดท้ายผมจึงอยากตั้งคำถามว่า พล.อ.ชวลิต ต้องการอะไร ทีแรกดูเหมือนว่าต้องการให้จัดตั้งเป็นหน่วยปกครองพิเศษ แต่พอถูกตั้งข้อสังเกตว่าไปรับงานใครมาก็กลับลำมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหาที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือเมืองพัทยา กรุงเทพมหานครนั้นอยากถามทั้งสองแห่งมีปัญหาเหมือนภาคใต้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ ขณะนี้เราได้ถ่ายโอนภารกิจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกระจายเงินงบประมาณลงไปมากมายอย่างในปีพ.ศ. 2552 ก็จัดสรรไปจำนวน 4 แสนล้านบาท ขณะที่ปี พ.ศ. 2553 ก็เตรียมจัดสรรกว่า 4 แสนล้านบาทแน่นอน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้เกิดจาก พล.อ.ชวลิตกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไปยกเลิกโครงสร้างการแก้ไขปัญหาอย่าง ศอ.บต. และ พตท. 43 ทำให้เกิดเหตุร้ายเหตุรุนแรงจากนั้นก็แก้ปัญหาผิดพลาดโดยใช้ความรุนแรง แม้แต่หมอแว มะฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดินก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกล่าวหาวางระเบิดติดคุกถึง 2 ปี นี่คือการกระทำของ พล.อ.ชวลิต ดังนั้นการเสนอให้นิรโทษกรรม เสนอให้เจรจา และบอกว่าให้จัดตั้งรูปแบบการปกครองพิเศษ ซึ่งจากการที่ผมได้ไปเปิดดูหลักวิชาการการปกครองแบบพิเศษ ที่นักวิชาการเมืองไทยจัดสัมมนาพบว่ารูปแบบที่เสนอนี้ใชเทศที่ปกครองในรูปแบบ สหพันธรัฐเท่านั้น แต่การปกครองแบบอาณาจักรเดียวไม่มี ดังนั้นคำตอบนี้จึงไม่ใช่

ปัญหาในภาคใต้ที่เกิดคือเกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยฝ่ายก่อความไม่สงบใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการก่อความไม่สงบคือ 1.เบี่ยงเบนหลักคำสอนศาสนาอิสลาม 2.ใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นปัจจัยปลูกฝังความคิด 3.สร้างกองกำลังในชุมชนและเขตเมือง 4.การโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้กระทำ 5.ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 6.แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลหรือผู้ก่อความไม่สงบหรือก่อการกระทำความผิดรูปแบบอื่น เช่น ยาเสพติด ส่วนยุทธวิธีที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้คือ ใช้บุคคลก่อเหตุหลากหลายมาก ทั้งบุคคลที่ผ่านการฝึก ไม่เว้นแม้แต่สตรี ซึ่งลักษณะการก่อเหตุคือควบคุมฝูงชน ทำลายและท้าทายอำนาจรัฐ การสร้างความแตกแยก การเข้าไปแทรกแซงด้านการศึกษาและเยาวชน ปฏิบัติการด้านการทหาร ร่วมชุมนุมประท้วง ดำเนินการวางเพลิง เผาทรัพย์ วางระเบิด ซุ่มยิง สิ่งเหล่านี้ ถามว่าแล้ว พล.อ.ชวลิต จะให้นิรโทษกรรมหรือ สิ่งเหล่านี้คือการแก้ไขปัญหาโดยใช้การปกครองรูปแบบพิเศษซึ่งเรียกว่าการกระจายอำนาจตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจหรือ ซึ่งไม่ใช่แต่เป็นการเสนอที่สับสนมาก

ขณะนี้รัฐบาลตั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาคือ ให้มีการยอมรับการกระจายอำนาจ และนิยามของคำว่าความหลากหลายทางเชื้อชาติให้มากขึ้น ส่งเสริมให้พี่น้องมุสลิมมีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในความเป็นมุสลิม ซึ่งมีความเป็นอยู่ที่หลากหลายทางวัฒนธรรมหรือพหุวัฒนธรรม พร้อมกับเปิดพื้นที่ของประวัติศาสตร์ชายแดนภาคใต้ให้รับรู้กันมากขึ้น

** ข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต เป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาหรือเป็นข้อเสนอเพื่อมุ่งหวังทางการเมือง

มุ่งหวังทางการเมืองแน่นอน โดยอยากจะมีตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารับงานมาจากใคร เพราะหลังจากที่ท่านเสนอแล้ว มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือพูโล สนองตอบต่อข้อเสนอของท่านด้วยการบอกว่าเขาพร้อมเจรจา จึงอยากถามกลับไปว่า พล.อ.ชวลิต รับงานจากใคร นอกจากนี้ยังต้องการแย่งพื้นที่ทางการเมือง เพราะท่านว่างเว้นจากการเมืองไปนาน จึงอยู่ในฐานะที่ดูเหมือนว่าไม่ได้รับความสำคัญ พอได้รับความสำคัญจากผู้นำทางการเงคนหนึ่งที่ไม่อยู่ในเมืองไทยท่านก็ถือโอกาสสร้างคะแนนนิยมสร้างข่าวให้ ฮือฮาโดยสรุปคือเป็นการแย่งพื้นที่สื่อเพื่อหวังพื้นที่ทางการเมือง

** รัฐบาลทำงานมา 9 เดือน มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดอย่างไรบ้าง

ผลการทำงานแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย 1.ฝ่ายดูแลด้านความมั่นคงความปลอดภัย เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. มีรมว.กลาโหมและรองนายกรัฐมนตรีดูแล ส่วนในเรื่องของการแก้ปัญหาการพัฒนา มีคณะรัฐมนตรีที่ดูแลปัญหาภาคใต้ที่ชัดเจนคือคณะกรรมการรัฐมนตรี เขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ โดยแม้จะไม่มีการประชุมบ่อย แต่ได้มีการอนุมัติแผนงานวงเงิน 60,000 กว่าล้านบาท และมีคณะกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นชุด ที่มีการประชุมบ่อยเพื่อนำนโยบายไป สู่การปฏิบัติ เอาโครงการมาใส่งบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมขับเคลื่อน ผมกล้าประกาศว่าในปี พ.ศ. 2555 เมื่อเราหมดภารกิจเป็นรัฐบาล มั่นใจว่าจะสามารถยกระดับรายได้ต่อครัวเรือนต่อปีจากเดิม 64,000 บาท มาเป็น 120,000 บาท นี่คือเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อให้คนมีที่ อยู่อาศัย อย่างปีนี้ก็ได้สร้างที่อยู่อาศัยทดแทนที่อยู่อาศัยให้คนจน 24,000 ยูนิต 3 ปีตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ยูนิต

** ในฐานะที่มุ่งแก้ปัญหาภาคใต้ ดูผลงานแล้วให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ และพอใจกับการทำงานหรือไม่

ต้องไปถามชาวบ้านว่าระหว่างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ชาวบ้านจะว่าอย่างไร สำหรับตัวผมรู้สึกพึงพอใจกับผลการทำงานในขณะนี้

** เป็นเพราะสังคมใจร้อน และคาดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ปัญหาภาคใต้สูงเกินไปหรือไม่

เขาคิดว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้เหมือนพลิกฝ่ามือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ยาวิเศษ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลา.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook