ไทยงัดแผน2เลิก"เอ็มโอยู" ปิดทาง"แม้ว"

ไทยงัดแผน2เลิก"เอ็มโอยู" ปิดทาง"แม้ว"

ไทยงัดแผน2เลิก"เอ็มโอยู" ปิดทาง"แม้ว"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

 

 

 

 

 

 


เหินห่าง - นาย บัวสอน บุปผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว กวักมือเรียกสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้เขยิบเข้าไปยืนใกล้ๆ เพื่อร่วมถ่ายรูประหว่างการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขง ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมด้วย ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างไทยกับกัมพูชา กรณีรัฐบาลกัมพูชาตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา (เอพี)

รบ. กดดันเขมร ประเดิมบอกเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีป เสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ยกเหตุเกี่ยวข้อง"แม้ว"โดยตรง รู้ท่าทีและความลับฝ่ายไทยหมด กัมพูชาแย้งทันควัน บอกเลิกฝ่ายเดียวไม่ได้ "เลขาฯ รมว.บัวแก้ว"ขู่ไม่ช่วยอีก 48 โครงการ มูลค่า 1.4 พันล้าน

รบ.ขู่เลิกช่วยเขมร1.4พันล.

นาย ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึงปัญหาความร้าวฉานระหว่างไทยกับกัมพูชา ภายหลังไทยเรียกทูตประจำกัมพูชากลับประเทศ เนื่องจากไม่พอใจกรณีสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาล และที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯฮุน เซน ขณะที่ทางกัมพูชาได้เรียกทูตประจำประเทศไทยกลับเพื่อเป็นการตอบโต้เช่นกัน ว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ต้องยืนยันการดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1.การเรียกทูตไทยกลับมา 2.การทบทวนพันธกรณีข้อตกลงต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ และ 3.การทบทวนความร่วมมือต่างๆ ในอนาคต ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่รัฐบาลไทยจะให้การช่วยเหลือรัฐบาลกัมพูชาต่อ อาทิ โครงการก่อสร้างถนนสาย 48 มูลค่า 1.4 พันล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบการก่อสร้างไปแล้ว สัปดาห์หน้าคงทราบว่าจะสามารถชะลอข้อตกลงใดได้บ้าง

นายชวนนท์กล่าว ต่อไปว่า รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาตัดสัมพันธ์กับทางรัฐบาลกัมพูชา นับแต่เกิดเหตุเกิดที่ประชุมอาเซียนซัมมิต และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีบอกว่าขอให้คิดให้ดีว่าจะแลกผลประโยชน์ของชาติกับความสัมพันธ์ ส่วนบุคคล แต่เมื่อเกิดกรณีนี้เป็นครั้งที่สอง รัฐบาลไทยจึงต้องมีท่าทีที่ชัดเจน

เลิกคำสั่งตั้ง"กุนซือ"เรื่องก็ไม่จบ

" เรื่องนี้มีโจทย์อยู่เพียง 2 เรื่อง 1.การแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯฮุน เซน และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา 2.มองข้ามกระบวนการยุติธรรมไทยโดยการยืนยันว่าจะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน โจทย์ทั้ง 2 เรื่องนี้ ทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกรับไม่ได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อรัฐบาลกัมพูชายกเลิกการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาแล้วปัญหาจะยุติ เพียงแต่มาตรการใดที่บรรเทาเรื่องนี้ และทำให้คนไทยกลับมารู้สึกดีต่อกัมพูชาในฐานะเพื่อนบ้าน ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี" นายชวนนท์กล่าว

บอกเลิกเอ็มโอยูพท.ทับซ้อน

นา ยกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์มายัง กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ว่าจากกรณีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศท่าที่ทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศทบทวนแล้ว 1 เรื่อง คือ บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 (เอ็มโอยู) ซึ่งทำในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

กระทรวง การต่างประเทศได้พิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน (เอ็มโอยู) บัดนี้สังคมไทยทั้งหมดได้รับทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล กัมพูชา ฉะนั้น กระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีข้อยุติของการพิจารณา เกี่ยวกับตัวเอ็มโอยูนี้ และจะนำเสนอ ครม. พิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยู ฉบับดังกล่าวกับฝ่ายกัมพูชา ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้

ยกเหตุ"รู้ความลับ-เกี่ยวข้อง"

สำหรับ เหตุผลการบอกเลิกนั้น นายกษิตกล่าวว่า เนื่องจาก 1.กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจา ระหว่างไทยและกัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะ นั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว "และ พ.ต.ท.ทักษิณรับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้า ใจฉบับนี้ได้" นายกษิตกล่าว

2.กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเรื่อง พื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยกับกัมพูชา อ้างสิทธิทับซ้อนกัน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กว่าสองหมื่นหกพันตาราง กิโลเมตรและมีศักยภาพอย่างยิ่งทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูงคือก๊าซ การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้าง ขวาง กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ตามแนวทางประชาธิปไตยตามที่ปรากฏในบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

3.การเจรจากรอบเอ็มโอยู 2544 นี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยูกระทรวงการต่างประเทศ จึงเห็นควรให้ทั้งสองประเทศ ใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ ทางออกที่เป็นธรรมต่อไป

เล็งฉบับอื่นๆ-"โยง"อีกก็ต้องเลิก

นาย ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้บริหารประเทศในขณะที่ทำเอ็มโอยู ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับทราบแนวทางการเจรจา ท่าทีและความลับที่มีอยู่ในขณะนั้น และขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกัมพูชาแล้ว อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อย่างสำคัญ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนเอ็มโอยูอื่นๆ ที่ไทยทำกับกัมพูชาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ อาจมีการพิจารณายกเลิกอีกในอนาคต

ส่วนหาก พ.ต.ท.ทักษิณไปเป็นที่ปรึกษาประเทศอื่นๆ จะต้องพิจารณายกเลิกบันทึกข้อตกลงหรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาระดับไหน มีผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ครม.เพื่อขอความเห็นชอบยกเลิกแล้ว จะใช้เวลาในกระบวนการยกเลิกประมาณ 3 เดือนจึงจะมีผล

เมื่อถามว่า การยกเลิกบันทึกความเข้าใจ ซึ่งทำให้ไม่มีเอกสารกำกับความตกลงระหว่างสองฝ่าย จะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างดำเนินการหาประโยชน์ในพื้นที่ที่ต่างอ้างสิทธิทับ ซ้อนได้หรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า หากไม่มีการตกลงทั้งสองฝ่ายไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนกว่าจะมีการตกลงกันได้

เขมรค้าน"เลิก"ฝ่ายเดียว"ไม่ได้"

สำนัก ข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ฝ่ายกัมพูชาได้แสดงปฏิกิริยาต่อท่าทีของฝ่ายไทยที่จะทบทวนยกเลิกเอ็มโอยู ระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน โดยระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถผิดข้อตกลงที่ให้สัญญาว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยนายวา คิมฮง ผู้แทนเจรจาเรื่องเขตแดนของกัมพูชากล่าวว่า "ผมไม่เห็นว่ามีข้อไหนหรือว่าประโยคไหนที่ยินยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิก เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวได้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติตามเอ็มโอยูจนกว่าจะพบหนทางแก้ปัญหาในพื้นที่ทับซ้อนดัง กล่าวที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างสิทธิ"

มาร์คไม่มีนัดพบ"ฮุน เซน"ที่ญี่ปุ่น

เว็บไซต์ สำนักข่าวไทย (news.mcot.net) รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เลี่ยงที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้สัมภาษณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ระหว่างเตรียมเข้าประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 และได้มีโอกาสพบกับนายกฯกัมพูชา ในงานที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และสภาหอการค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การมาประชุมครั้งนี้ไม่มีกำหนดการพบหารือกับสมเด็จฯฮุน เซน อยู่แล้ว และเมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับสมเด็จฯฮุน เซน นายกฯกล่าวเพียงว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ของภูมิภาค

ยังคึกคัก - จุด ผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ยังคงมีการค้าขายอย่างคึกคัก รถบรรทุกสินค้า และพ่อค้ากัมพูชานำสินค้าผ้าห่มเสื้อผ้ามือสองเข้าไปขายที่ตลาดช่องจอม ส่วนคนไทยกว่า 400 คน ยังออกไปแสวงโชคที่บ่อนในกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน



ขอใช้กลไกทวิภาคีแก้ปัญหา

ช่วง บ่าย เวลา 15.33 น. เว็บไซต์สำนักข่าวไทยรายงานอีกครั้งว่า หลังงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำลุ่มน้ำโขง ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ผมคิดว่ารัฐบาลและคนไทยได้แสดงออกบนความอดทนอดกลั้นพอสมควร เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี ทั้ง 2 ประเทศต้องแก้ปัญหากัน แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทย ดังนั้น จึงอยู่ที่กัมพูชาจะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องให้เวลากัมพูชาระยะหนึ่ง เพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น"

นาย อภิสิทธิ์กล่าวว่า การปรับลดระดับความสัมพันธ์มีกลไกอยู่ขณะนี้ ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมการไว้แล้ว รัฐบาลจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าเรื่องใดควรเดินช้า หรือเดินเร็ว รัฐบาลไทยยังคงยืนยันว่าจะดำเนินการโดยไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเข้าใจดี จะไม่ให้กระทบกับผลประโยชน์ของคนไทย ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ได้ชี้แจงสถานการณ์ให้คนไทยที่ทำธุรกิจในกัมพูชาทราบถึงสถานการณ์แล้ว เมื่อถามว่า หากกัมพูชาไม่ตอบสนอง จะดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลได้แสดงออกในระดับหนึ่งแล้ว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ต่อไป

"สุเทพ"อ้างเหลืออดจำต้องตอบโต้

นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยพยายามใช้ความอดทนมาตลอด แต่เมื่อเห็นแถลงการณ์ของทางการกัมพูชาก็ชัดเจนว่าเป็นการก้าวล่วงต่อกิจการ ภายในของไทย โดยเฉพาะท่าทีเรื่องการไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ทางการไทย โดยให้เหตุผลว่าถูกเล่นงานทางการเมือง ทั้งที่ได้เคยชี้แจงเรื่องนี้ต่อสมเด็จฯฮุน เซน ตั้งแต่ต้นแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณหนีคดีอาญา จึงจำเป็นที่ไทยต้องตอบโต้ทางการทูต ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความประสงค์จะทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อน บ้านมีปัญหา แต่เมื่อรัฐบาลกัมพูชาทำขนาดนี้ ก็เป็นความจำเป็น ส่วนการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา จะยืดเยื้อแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชาว่าจะคิดได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุด ทางการกัมพูชาได้เรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับประเทศไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าจะไม่มีการปรับท่าทีหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ต้องรอดูกันต่อไป ถ้าไม่ฟังก็มีปัญหา ฝ่ายความมั่นคงจะระมัดระวัง ไม่ให้การปรับลดความสัมพันธ์ทางการทูต มีผลต่อการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน จนขณะนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร ส่วนกองกำลังทหารกัมพูชาที่ตรึงชายแดนอยู่ก็เป็นกองกำลังเดิม อีกทั้งยังได้โทรศัพท์พูดคุยกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ฟัง และฝากให้นำความไปแจ้งสมเด็จฯฮุน เซน ว่าสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาทำกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจของคนไทย แต่จะให้ความคุ้มครองนักการทูตที่อยู่ในไทยอย่างดีที่สุด

สงสัยเป็นแผนการของ"ทักษิณ"

เมื่อ ถามว่า เป็นห่วงสถานทูตไทยในกัมพูชาหรือไม่ เพราะเคยเกิดเหตุถูกลอบวางเพลิงมาแล้ว นายสุเทพกล่าวว่า "เป็นเรื่องรัฐบาลกัมพูชาจะต้องดูแล ความจริงทั้งหมดเป็นเรื่องของ ดร.ทักษิณที่อาจจะคิดใช้รัฐบาลกัมพูชา ใช้สถานที่ในกัมพูชาเป็นฐานปฏิบัติการในทางการเมือง จึงคิดว่า ดร.ทักษิณควรรู้จักที่จะพูดจาบอกกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาได้ช่วยดูแลกิจการ ทรัพย์สิน และสถานทูตไทยในกัมพูชาด้วย"

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์แง่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้รัฐบาลรบกับเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นการเดิมตามเกม พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า มีหลายฝ่ายหลายคนให้ความเห็น เช่นนี้ว่าทั้งหมดนี้สงสัยจะเป็นแผนการของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีปัญหารุนแรง ขึ้น แต่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็เคยเป็นนายกฯ น่าจะมีความรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ทำร้ายประเทศไทยเช่นนั้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณวิจารณ์ว่ารัฐบาลโอเวอร์รีแอ๊ค นายสุเทพกล่าวว่า พ.ต.ท. ทักษิณไม่ควรเอาประเทศชาติมาทำเหมือนเป็นของเล่น เหมือนต้องการช่วงชิงอำนาจ ยังใช้วิธีการอื่นได้ตั้งเยอะแยะ เมื่อถามว่า คิดจะพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณบ้างหรือไม่ นายสุเทพได้แต่ส่ายหน้า

ถกฝ่ายมั่นคงประเมินสถานการณ์

เมื่อ ถามว่า ถึงตอนนี้คิดว่าจำเป็นต้องเลิกคบกับสมเด็จฯฮุน เซน หรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า "ยัง ผมมีหน้าที่เจรจา ถ้าไปเลิกคบ ไปตัดสะพานแล้วจะเอาทางไหนเดินล่ะ" เมื่อถามว่า จะเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ หลังการออกมาตรการตอบโต้ทางการกัมพูชาหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ก่อนนายกฯจะเดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มอบหมายให้ตนปรึกษากับฝ่ายความมั่นคง เพื่อดูแลไม่ให้สถานการณ์ชายแดนเกิดความฉุกเฉิน เพราะเป็นห่วงว่าประชาชนจะตื่นตระหนกตกใจ

นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เข้าใจไทย เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน มีโอกาสไปต้อนรับนายกฯพม่าและลาว ทั้ง 2 ประเทศ ก็ได้แสดงความเข้าใจหลังได้อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง

ขู่หากยังกร้าวเจอปิดชายแดน

" ผมได้เรียนนายกฯพม่าและลาวว่า ความจริงหลายฝ่ายเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ไม่ไปประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพราะมีสมเด็จฯฮุน เซน อยู่ด้วย แต่นายกฯอธิบายว่า การประชุมดังกล่าวมีหลายประเทศ และความร่วมมือนี้จะเกิดประโยชน์แก่ลุ่มน้ำโขง แม้แต่โครงการที่รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ก็เป็นการช่วยเหลือประชาชน จึงเชื่อว่าผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะเข้าใจสถานการณ์ดี" นายสุเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสพูดคุยกับสมเด็จฯฮุน เซน บ้างหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ไม่ได้ติดต่อกัน ตนต้องประเมินท่าทีทุกอย่างให้ชัด เจนก่อน ส่วนความเป็นไปได้ในการออกมาตรการตอบโต้ทางการกัมพูชาเพิ่มเติมถึงขั้นปิด ด่านชายแดนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า "ต้องดูท่าที ถ้ากัมพูชาแข็งกร้าว โต้ตอบมาแบบไม่ประนีประนอม ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องลดไปเรื่อยๆ อาจถึงขั้นต้องปิดด่านชายแดน แต่ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การเปิดศึก การยิงกันกับการปิดด่านถือเป็นคนละเรื่องกัน อย่าไปคิดเรื่องนี้สนุกตามอารมณ์ ไอ้เรื่องรบนั่นไม่ใช่เรื่องยาก แต่รบกันมันมีคนเจ็บคนตาย ซึ่งเป็นทหาร เป็นชาวบ้านที่ถูกลูกหลง เป็นญาติพี่น้องเราทั้งนั้น ดังนั้น เรื่องสงครามต้องหยุดไว้ ต้องใช้วิธีอื่นไปก่อน"

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากตั้งข้อสังเกตว่าการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการตอบแทนบุญคุณ ของสมเด็จฯฮุน เซน ที่กลุ่มรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงกรณีของพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคไทยรักไทยช่วยเหลือโดยเฉพาะในตอนเลือกตั้งกัมพูชา หรือพูดง่ายๆ ว่า ตอนนั้นยอมสละประโยชน์ของประเทศไทยให้ ดังนั้น ความเป็นบุญคุณตรงนี้คงทำให้สมเด็จฯฮุน เซน นึกถึงและเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น

หงอย - บรรยากาศ หน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ที่สี่แยกเหม่งจ๋าย เขตห้วยขวาง กทม. เป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน



ปชป.แฉ"แม้ว"ตื๊อขอสัมปทาน

นพ. บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า สิ่งที่น่ากังวลคือการวางนโยบายสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านมา ปรากฏว่ามีหลายกรณีที่เห็นได้ว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณขณะเป็นนายกฯ มีการใช้อำนาจของรัฐ บรรลุข้อตกลงหลายอย่าง ซึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากสภาพการเป็นนายกฯ ได้พยายามแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจกับข้อตกลงดังกล่าว 2-3 เรื่อง ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราช อาณาจักรกัมพูชาอ้างสิทธิในหลายพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งลงนามไว้ 18 มิถุนายน 2544 โดยเฉพาะการสำรวจทรัพยากรบริเวณเขตพื้นที่รอยต่อไทยกัมพูชา ที่ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีกัมพูชาและรองผู้บัญชาการทหารบกของไทย ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ พยายามขอสัมปทานเพื่อไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจริง

เคลื่อนไหวแฝงหาผลประโยชน์

2. บรรดามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการพัฒนาบริเวณที่เกาะกง-สะแรอัมเบิล ในกัมพูชา เพื่อพัฒนาทางหลวงหมายเลข 48 และได้มีมติ ครม.ประมาณ 10 ครั้ง ซึ่งรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนพัฒนาถนนไปยังพื้นที่ดังกล่าว บนพื้นฐานความร่วมมือที่ดี แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากตำแหน่ง มีรายงานข่าวในสื่อมวลชนกัมพูชาว่า มีการคัดค้านการที่รัฐบาลมอบสัมปทานเกาะกงให้กับอดีตนายกฯไทยเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจว่า ทำให้ความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนั้นได้หยุดยั้งไปชั่วคราว จนปัจจุบันมีการดำเนินการไปเยือนกัมพูชาหลายครั้งเพื่อแสวงหาประโยชน์ควบคู่ กันกับการที่จะใช้พื้นที่ที่ตัวเองแสวงหาประโยชน์ และใช้เป็นที่พักพิงเคลื่อนไหวทางการเมือง 3.เดือนสิงหาคม ปี 2546 มีการจัดทำแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจเขตแดนร่วมระหว่างไทย -กัมพูชา (ทีโออาร์ 2546) ซึ่งในข้อตกลงข้อที่ 1 ค. มีการระบุถึงพื้นที่ 1 : 200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทางกัมพูชาใช้เป็นข้อต่อสู้ในกรณีข้อพิพาทระหว่างชายแดน ไทย-กัมพูชาต่อเนื่องและรัฐบาลไทยได้ให้การปฏิเสธการยอมรับแผนที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ผลจากทีโออาร์ ปี 2546 ได้มีผลผูกพันต่อมาทำให้ข้อต่อสู้ของรัฐบาลกัมพูชา สามารถอ้างอิงถึงการยอมรับแผนที่ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นให้การปฏิเสธมาโดยตลอด

ชทพ.จี้"แม้ว"ถอนตัวจากที่ปรึกษา

นาย วัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงว่า อยากเรียกร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ประกาศถอนตัวหรือลาออกจากการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา เพราะวันนี้สมเด็จฯฮุน เซน ได้แสดงความเป็นเพื่อนแท้ให้คนทั้งโลกได้เห็นแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่อยากเห็นเพื่อนแท้ตัวเองกลายเป็นเพื่อนตาย หากข้อเสนอได้รับการปฏิบัติเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะได้ใจจากคนที่เชียร์และคน ที่เป็นกลาง โดย พ.ต.ท.ทักษิณสามารถช่วยทางกัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการก็ได้

"แม้ว"อ้างห่วงปท.-ใช้วิธีการเสี่ยง

นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงว่า พ.ต.ท.ทักษิณค่อนข้างเป็นห่วงในแง่ของการดำเนินการทางการทูตที่สุ่มเสี่ยง ว่าจะทำให้ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ถือว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุและนำประเด็นการเมืองภายในประเทศไปกดดันประเทศ เพื่อนบ้านจนความสัมพันธ์เสื่อมทรามลง ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและนายกษิต หันไปมองตัวเองสักนิดหนึ่งว่า สาเหตุที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากอะไร โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายกษิต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณได้ออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีถึงความเห็นและท่า ทีต่างๆ และการทำงานในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ

" เราต้องเรียกร้องให้นายกฯได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจ และหาทางเจรจากับทางกัมพูชา แต่ท่าทีล่าสุดของนายกฯที่ประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่านายกฯไม่มีความสามารถ เพราะเมื่อมีการทะเลาะกันคุณต้องหาโอกาสให้กระทรวงการต่างประเทศทาบทามขอ เวลาหารือทวิภาคี เพื่อพูดคุยกัน ขอให้นายอภิสิทธิ์อย่าปลุกกระแสชาตินิยม" นายนพดลกล่าว

ตอบรับแล้ว-เมินเสียงจี้ทิ้งกุนซือ

ผู้ สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะทบทวนการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชา หรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณตอบรับไปแล้ว การดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับกัมพูชาเท่า นั้น แต่รับเป็นที่ปรึกษาให้อีกหลายประเทศ อาทิ นิการากัว และหลายประเทศ เมื่อถามว่าปัญหาดังกล่าวเหมือนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน นายนพดลกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ชักศึกเข้าบ้าน การกล่าวหาคนอื่นว่าชักศึกเข้าบ้านเป็นการกล่าวหาที่ง่าย เป็นการกล่าวหาคล้ายวาทกรรมในช่วงสงครามเย็น ที่ปลุกระดมว่าคนไหนเป็นคอมมิวนิสต์ สำนวนอย่างนี้เป็นสำนวนของนักการเมืองแบบเก่าที่ใช้โจมตีคนอื่น พ.ต.ท.ทักษิณรักประเทศไทย และสมเด็จฯฮุน เซน ก็ยังเป็นเพื่อนของประชาชนไทย แต่อาจจะทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ไม่ราบรื่นนัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้มองตัวเองหรือไม่ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความบาดหมางของ ทั้ง 2 ชาติ นายนพดลกล่าวว่า อันนั้นน่าจะเป็นข้อกล่าวหาของรัฐบาล พยายามที่จะตำหนิ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ปัญหาคือการใช้ทุกกลไกไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งไม่เป็นธรรม และว่า ตนไม่เชื่อว่าแต่งตั้งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจถือเป็นการตอบแทนหรือปูนบำเหน็จ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นเรื่องที่กัมพูชาต้องการใช้ความรู้ความสามารถมาแก้ไขปัญหาความยากจน

ยุส.ว.เข้าชื่อจี้ครม.แถลงข้อเท็จจริง

คณะ กรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นำโดยนายวิทยา บุรณศิริ นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พท. พร้อมด้วยนายพิทยา พุกะมาน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำชิลี ในฐานะคณะทำงานต่างประเทศ พท.ร่วมแถลงข่าว เรียกร้องให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดของวุฒิสภา เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้ ครม.แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีการลงมติ เนื่องจากการกระทำของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 82 และมาตรา 190 รัฐบาลไปใช้อภิสิทธิ์แทนประชาชน 62 ล้านคน โดยไม่ได้มาหารือผ่านระบบของรัฐสภาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จนทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจอยู่ใน ขณะนี้

ชายแดนด้านพระวิหารยังปกติ

สำหรับสถานการณ์แนว ชายแดนไทย-กัมพูชานั้น พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาค 2 หรือ มทภ.2 กล่าวว่า สถานการณ์บริเวณชายแดนไทยบริเวณเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ยังเป็นปกติ ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้เสริมกำลังทหาร 4,000 นายตามที่เป็นข่าว

นาย บุญมี บัวต้น อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ชาวบ้านเริ่มหวาดผวาภัยสงครามเห็นได้ชัดเจน ซึ่งได้ชี้แจงให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ขณะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนตามแนวชาย แดน อีกทั้งจากการโทรศัพท์สอบถามจากนายทหารกัมพูชาหลายคนแจ้งว่าไม่อยากรบ เพราะจะทำให้สูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย

นอภ.เขมรเชื่อไม่ถึงขั้นปิด5ด่าน

นาย เจีย สุภาพ นายอำเภอกอมเรียง จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้สั่งการลงมา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชายแดนด้านนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พูดคุยกันแบบบ้านพี่เมืองน้อง คงไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นปิดด่านทั้ง 5 จุด

ร. ต.อ.สันติ อ่อนน้อม รองสารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ชาวกัมพูชาจาก อ.สำโรง จ.อุดรมีชัย ยังมาแลกเปลี่ยนสินค้า 200 คน และมีคนไทย 400 คน ยื่นหนังสือเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปแสวงโชคที่กาสิโน มีรถบรรทุกพ่วงวัสดุก่อสร้าง และน้ำมันเชื้อเพลิงไปส่งให้กัมพูชา

ที่ จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด มีพ่อค้าแม่ค้าจาก จ.เกาะกง กว่า 500 คน มารอเวลาเปิดด่าน และมีนักท่องเที่ยวกว่า 100 คนตั้งแต่เช้า นายประจวบ ประคนธรรม์ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรคลองใหญ่ กล่าวว่า ไม่คึกคักเหมือนทุกวัน แต่คงไม่มีปัญหามาก

ขณะที่นายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เรียกประชุมส่วนราชการชายแดน หอการค้า สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจัดงานแสดงสินค้าใน จ.เกาะกง เดือนมกราคม 2553 อาจจะไม่สามารถจัดได้ หากความขัดแย้งยังไม่ยุติ

ทูตเขมรกลับปท.ทางคลองลึก

เวลา 13.30 น. นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ที่ถูกเรียกตัวกลับประเทศเดินทางผ่านจุดผ่านแดนบ้านคลองลึก โดยรถยนต์ เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงพนมเปญ ตามคำสั่งของรัฐบาล โดยมีนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหัวหน้าส่วนราชการไปคอยอำนวยความสะดวกและส่งข้ามพรมแดน นางยู ออย กล่าวเพียงสั้นๆ เพื่อขอบคุณนายศานิตย์ ก่อนรีบข้ามพรมแดนออกไป

"หน่วยมั่นคง"เตรียมแผนอพยพ

พล. อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์ เสนาธิการทหาร กล่าวว่า คาดว่าภายในเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อประเมินว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป

แหล่งข่าวนายทหาร ระดับสูงระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งยังอยู่ในระดับการดำเนินการทางการทูต แต่หากรุนแรงบานปลายถึงระดับตัดความสัมพันธ์ทางการทูตก็คงต้องเรียกทูตทหาร ไทยกลับประเทศเช่นกัน หน่วยงานด้านความมั่นคงเตรียมแผนรองรับการอพยพคนไทยในกัมพูชาไว้อยู่แล้ว

" เรามีจุดนัดพบที่เป็นความลับ แต่คนไทยที่อยู่ในกัมพูชาจะรู้ เพราะเรามีการติดต่อประสานงานและให้ข้อมูล รวมถึงแผนการอพยพให้ทราบอย่างต่อเนื่อง" แหล่งข่าวระบุ

"แดง"ถล่มคลั่งชาติ-แผนกลบ"เหลว"

นาย วีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)-แดงทั้งแผ่นดิน แถลงว่า รัฐบาลชุดนี้มาจากการยึดอำนาจ 19 กันยายน และเป็นรัฐบาลอนุรักษนิยม ที่มาพร้อมกับลัทธิคลั่งชาติ ดังนั้น คนไทยจึงควรพิจารณาให้ดีหากจะฟังถ้อยคำอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ แต่สำหรับคนเสื้อแดงนั้นวิเคราะห์ว่าการที่รัฐบาลเรียกตัวเอกอัครราชฑูตไทย ประจำกรุงพนมเปญกลับประเทศนั้น เป็นความพยายามที่จะสร้างเรื่องมากลบปัญหาของตัวเองที่แก้ไม่ตก คือวิกฤตเศรษฐกิจ และการทุจริตภายในรัฐบาล จึงพยายามสร้างความขัดแย้งที่ใหญ่กว่ามากลบเรื่องดังกล่าว

พธม.ประณาม"ฮุนเซน"เล่นเล่ห์

ส่วน ที่บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกแถลงการณ์ประณามนายฮุน เซน โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำ และนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่อดีตผู้ประสานงาน พธม.เข้าร่วม โดยนายสุริยะใสกล่าวว่า แกนนำ พธม.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ขอประณามนายฮุน เซน ที่ใช้เล่ห์เพทุบายเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ทำลายหลักนิติรัฐ และย่ำยีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเจตนาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาด้วยการโปรดเกล้าฯจากกษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา 2.ขอให้ประชาคมทั่วโลกดำเนินทุกวิถีทางเพื่อร่วมกันประณาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook