ส.ปกเกล้าชี้นักธุรกิจ-นักการเมือง-ขรก. สามเหลี่ยมคอรัปชั่น

ส.ปกเกล้าชี้นักธุรกิจ-นักการเมือง-ขรก. สามเหลี่ยมคอรัปชั่น

ส.ปกเกล้าชี้นักธุรกิจ-นักการเมือง-ขรก. สามเหลี่ยมคอรัปชั่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันพระปกเกล้าชี้นักธุรกิจ-นักการเมือง-ขรก.สามเหลี่ยมคอรัปชั่น ปั้นโครงการแบ่งกันกิน แนะรื้อระบบเลือกตั้งส.ส.-ที่มาส.ว.-เพิ่มอำนาจนายกฯ

สถาบันพระปกเกล้าจัดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 11 เรื่อง ความขัดแย้ง ความชอบธรรมและการปฏิรูประบบรัฐการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมในสังคมไทย เป็นวันสุดท้าย โดยมีการสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย 7 หัวข้อ มีที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็น การเมืองภาคประชาชนกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อความชอบธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์

โดยนางถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า สรุปผลการสัมมนาว่า สภาพการทุจริตในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบจนหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ตรวจสอบยากขึ้น และมูลค่าความเสียหายสูงขึ้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตคือ นักธุรกิจ นักการเมืองและข้าราชการ ทั้งสามส่วนสัมพันธ์แนบแน่นกันยิ่งกว่าเดิม เกิดเป็นสามเหลี่ยมแห่งการคอรัปชั่น เกิดสภาพธุรกิจการเมืองที่อำนาจทุนรวมกับอำนาจรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐยังกลายเป็นเครื่องมือในการทุจริต ซึ่งรูปแบบการทุจริตในหน่วยงานรัฐ อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ โครงการประชานิยม การแสวงประโยชน์จากโครงการ และการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะมีการกระจายงบประมาณลงไปมากขึ้น หรือมีการทุจริตเชิงนโยบาย

นางถวิลวดี กล่าวว่า ขณะที่ด้านการตรวจสอบ องค์กรตรวจสอบขาดประสิทธิภาพ ส่วนองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมเข้ามาตรวจสอบยังมีน้อย ติดขัดด้วยปัจจัย "ยาก แพง ใช้เวลา เสี่ยงถูกฟ้องเสียเองและเสี่ยงต่อการโดนทำร้ายเสียชีวิต" อย่างกลุ่มนายวีระ สมความคิด ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น คนที่เข้ามาช่วยงานตายไปปีละ 1-2 คน นอกจากนี้ สภาพสังคมไม่สนับสนุนให้ตรวจสอบ การเมืองระบบผู้แทนไม่ตรวจสอบ เพราะเข้ามาโดยการทุจริตและอยู่ฝังรากไปถึงรุ่นลูกหลาน กฎหมายไม่เอื้อ ทั้งความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารกลับกลายเป็นกฎหมายปกปิดข้อมูลข่าวสาร และการขาดกฎหมายคุ้มครองพยาน ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ เมื่อมีการทุจริตแล้วก็เป็นช่องให้ทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร พอเข้ามามีอำนาจแล้วก็ทุจริตต่อไปอีกเป็นวงจร ซึ่งทางแก้ไข ต้องเปิดพื้นที่และสรางความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนรวมถึงสร้างแรงจูงใจในการให้มาร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปรับปรุงกฎหมายฉบับต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเป็นเครื่องมือตรวจสอบของภาคประชาชน และสื่อต้องสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจ

ขณะที่ประเด็น รัฐบาลและความชอบธรรมทางการเมือง นายอรัญ โสตถิพันธุ์ ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า สรุปผลการสัมมนาว่า ความชอบธรรมทางการเมือง เกิดจาก 2 ปัจจัยคือ 1. ความไว้วางใจต่อการใช้อำนาจของรัฐบาล ที่ต้องถูกต้องตามศีลธรรมและมีกลไกแข็งแกร่งในการตรวจสอบ ควบคุมการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน

และ 2. ความสามารถในการพิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นธรรม ซึ่งผลงานมุ่งเน้นกระจายทรัพยากรที่สอดคล้องกับสังคม ไม่ผลักภาระไปที่ผู้มีอำนาจด้อยกว่าในสังคม ฉะนั้นความชอบธรรมทางการเมืองไม่ควรจำกัดที่ฝ่ายบริหาร แต่ต้องครอบคลุมไปทั้ง 3 อำนาจอธิปไตย นอกจากนี้ยังรวมถึงการเข้าสู่อำนาจอย่างถูกต้องตามศีลธรรมและกฎหมาย

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาพบปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการใช้กำลังสลายความขัดแย้งการเมืองอยู่เสมอ ขณะที่ระบบเลือกตั้งในแบบปัจจุบันไม่เหมาะสมกับสภาพสังคม ไม่สะท้อนความต้องการผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน เกื้อหนุนบางพรรคให้จัดตั้งรัฐบาลผสมได้หรือไม่ ระบบการกรองขององค์กรอิสระ ไม่สามารถกรองคนเก่งคนดี ส่วนระบบการตรวจสอบคอรัปชั่นไม่มีประสิทธิภาพ และระบบวุฒิสภาควรกระจายตัวแทนให้มาจากทุกภาคส่วน

นายอรัญ กล่าวว่า ทางแก้ไขคือ สร้างดุลยภาพเชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยเพิ่มอำนาจนายกฯให้มากขึ้น ส่วนผู้เป็นรัฐมนตรีควรลาออกจากส.ส.หรือไม่ ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ดี ต้องมีเป้าโดยมุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ โดย เลิกการออกแบบสถาปัตยกรรมทางการเมือง เพราะแก่นสารของความชอบธรรมไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่คือ จะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยมีเงื่อนไขว่า ต้นทุนการพัฒนาไม่ควรถูกผลักไปสู่ผู้มีอำนาจน้อยกว่า การกระจายทรัพยากรต้องไม่เป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรม

ทั้งนี้ จึงต้องมีฐานข้อมูล แต่ปัญหาขณะนี้คือ ฐานข้อมูลยังน้อย ทำให้เกิดการตีความความจริงคนละแบบ แทนที่จะมีพื้นที่ถกเถียงหาความเป็นจริงในเรื่องนั้น ๆ ร่วมกันอย่างที่อยู่กันได้และยอมรับกันได้ จุดสำคัญคือ สร้างความเป็นพลเมือง ไม่ใช่ให้ประชาชนเสพติดกับความเป็นลูกค้า การพัฒนาต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐ

นางชมพูนุท โกสลากร เพิ่มพูนวิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ม.ศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร สรุปการสัมมนาหัวข้อ  การปฎิรูปนโยบายเศรษฐกิจในการลดความขัดแย้ง และสร้างเสริมความชอบธรรมทางการเมือง ว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง คนรวยระดับต้นๆ 20% ของประเทศ ถือทรัพย์สินถึง 70% ของทรัพย์สินของประเทศ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องปฏิรูประบบภาษีทั้งหมด ทั้งภาษีโดยตรง ภาษีนิติบุคคล รวมถึงภาษีสรรพสามิต ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ความไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีสรรพสามิตที่ผลักภาระไปให้คนรากหญ้า จนทำให้นักธุรกิจต้องเดินตามก้นนักการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางด้านภาษีจนนำมาซึ่งการคอรัปชัน

นางชมพูนุท กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีความไม่เป็นธรรมของการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลลงทุนโดยมุ่งเน้นไปที่เมืองเป็นหลัก โครงการไทยเข้มแข็งซึ่งมุ่งที่จะสร้างถนนเพื่อคนเมืองมากกว่าดูแลเรื่องรถไฟรางคู่ที่เป็นบริการขั้นพื้นฐานของคนรากหญ้า จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายภาษีทรัพย์สิน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและมรดก เพื่อนำรายได้จากส่วนนี้กระจายไปเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ขณะที่นางคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สรุปการสัมมนาหัวข้อ ตุลาการและตุลาการธิปไตย ว่า อยากให้แยกแยะบทบาทของศาลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะการพิจารณาของศาลปกครอง และศาลอาญานั้น จะมีอิสระและได้รับความเชื่อถือของสังคม วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจตุลาการเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล เพราะศาลที่มีความเปราะบางในการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองมากที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องพิจารณาต่อว่าอนาคตจะมีการแก้ไขขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่แค่ไหน ขณะเดียวกันควรศึกษาว่าเหตุใดจึงเกิดตุลาการภิวัติ ทั้งที่ปกติศาลไทยพิจารณาอยู่ในกรอบของกฎหมาย โอกาสพิจารณานอกกรอบไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมีน้อย

นางคนึงนิจ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่า ตุลาการธิปไตยไม่สามารถขจัดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความซับซ้อนได้ เพราะถึงศาลจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของเรื่องทั้งหมด จึงอยากให้พิจารณาเป็นรายบุคคลว่าศาลมีทั้งด้านบวกและลบจึงไม่ควรดึงการเมืองมาใช้กับสถาบันตุลาการ ไม่ควรนำศาลมาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือร่างกฎหมาย ที่ศาลจะต้องเข้าไปอยู่ภายใต้กฎนั้นด้วยตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook