มาร์คชี้ท่าทีต่อเขมรรักษาศักดิ์ศรีไทย

มาร์คชี้ท่าทีต่อเขมรรักษาศักดิ์ศรีไทย

มาร์คชี้ท่าทีต่อเขมรรักษาศักดิ์ศรีไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อภิสิทธิ์ ยันท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อเขมร เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ ไม่ต้องการให้คนไทยเสียเปรียบ ชี้"ฮุนเซน"พูดชัด"ทักษิณ"เป็นเพื่อนก็จริง แต่จะทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศไม่ได้

(8พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยไทยกับประเทศกัมพูชาว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไปโดยการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชานั้นขอยืนยันว่าเพื่อเป็นการรักษาศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลจะแก้ปัญหาอยู่บนหลักของสันติวิธีจะไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนตามแนวชายแดน

"วันนี้ต้องการให้คนไทยมีความสามัคคีกัน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้นก็เพื่อต้องการมีเพื่อนบ้านที่ดี ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเสียเปรียบ และสิ่งที่พี่น้องคนไทยแสดงออกนั้นก็เป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี"นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า

ที่ผ่านมานั้นก็ได้เคยพูดกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ซึ่งนายกฯฮุนเซนก็ได้ระบุชัดเจนว่า"จะมองไปในอนาคตเป็นสำคัญ โดยจะไม่มองไปในอดีต แม้นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นเพื่อนกับผมก็จริง แต่จะไม่นำมาเป็นสาเหตุให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

และความสัมพันธ์ที่เราจะต้องมีการดำเนินการต่อไปนั้นมีหลายเรื่อง ประเทศไทยเองก็ให้การช่วยเหลือสนับสนุนกัมพูชาอยู่ ทั้งในเรื่องของการก่อสร้างถนนสำคัญ ๆ หลายสาย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ และจะเพิ่มศักยภาพทำให้การรวมตัวของประชาคมอาเซียนเป็นไปด้วยดี เป็นไปด้วยความราบรื่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญก็คือมีเรื่องของการค้าชายแดน และมีความเป็นไปได้ในการที่จะมีการเริ่มต้นการเจรจาในเรื่องของผลประโยชน์ในทะเล ซึ่งก็พูดกันถึงเรื่องการมีพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือก๊าซอยู่ในอ่าว ซึ่งแต่ละประเทศคือทั้งไทยและกัมพูชาก็มีการให้สัมปทานกันไป แต่ไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะมีการตกลงกันในเรื่องนี้

"ตลอดระยะเวลาที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ยึดหลักในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศก็คือต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะเป็นวิธีการที่จะทำให้นอกเหนือจากจะทำให้มีความราบรื่นในเรื่องของการติดต่อระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศแล้ว ก็จะเอื้ออำนวยให้การยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในบริเวณชายแดนไปจนถึงการมีความร่วมมือร่วมกันในภาพรวมนั้น ช่วยให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนของทั้งสองประเทศดีขึ้น ซึ่งผมก็เข้าใจว่านี่ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ไหนก็ตาม" นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า

แต่สาเหตุที่รัฐบาลต้องดำเนินการเช่นนี้ก็เนื่องจากทางรัฐบาลกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาและระบุชัดเจนว่าจะไม่ส่งตัวให้กับประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และมีการวิจารณ์การเมืองและกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งจุดนี้ถือว่ารัฐบาลยอมไม่ได้ แต่เชื่อว่านายกฯฮุนเซนคงได้ข้อมูลที่คาดเคลื่อน เพราะผลการตัดสินของศาลไทยต่อพ.ต.ท.ทักษิณนั้นก็อยู่ในช่วงรัฐบาลที่พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุน และพ.ต.ท.ทักษิณเองก็ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องบุคคลที่เห็นว่าทำให้ตัวเองเสียหาย

"ผมถือว่าสิ่งสำคัญที่สุดครับในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศก็คือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการแสดงออกถึงความจริงใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

"เตช บุนนาค"สนับสนุนรัฐบาลตอบโต้เขมร

นายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สนับสนุนมาตรการตอบโต้กัมพูชาของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีการเรียกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญกลับ ส่วนมาตรการอื่นๆ ต้องติดตามต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด โดยเฉพาะมาตรการยกเลิก MOU พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งคาดว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อาจนำเข้าหารือต่อที่ ประชุม ครม. ในวันอังคารนี้ เพื่อพิจารณาถึงผลดีและผลเสีย

ขณะที่ส่วนตัว มองว่า หากยกเลิกจริง จะได้รับผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย แต่คงไม่มากนัก เพราะทรัพยากรยังคงอยู่ที่เดิมไม่สูญหายไปไหน เพียงแต่ไม่ได้นำออกมาใช้เท่านั้น พร้อมกันนี้ ยังเสนอทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยว่า รัฐบาล ควรหารือให้เกิดความเป็นเอกภาพก่อนจะไปหารือกับกัมพูชา เพราะขณะนี้ มองว่า สถานการณ์การเมืองของไทย ยังไม่เป็นเอกภาพ แล้วจะไปแก้ปัญหาระดับชาติได้อย่างไร

ตำรวจยังตรึงกำลังเข้มสถานทูตกัมพูชา

บรรยากาศบริเวณ สถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย เหตุการณ์ยังคงปกติ ไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นการจราจรบริเวณ ถนนประชาอุทิศ หน้าสถานทูตกัมพูชา ยังสามารถเคลื่อนตัวได้ดี แต่จากกรณีที่รัฐบาลไทยและ รัฐบาลกัมพูชา ได้เรียก เอกอัครราชทูต กลับประเทศนั้น ในส่วนของประเทศไทย ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยที่บริเวณรอบๆ สถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย จำนวน 150 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 และ ตำรวจสันติบาล พร้อมในที่ตั้ง ขณะเดียวกัน ได้เตรียมเจ้าหน้าที่อีก 150 นาย พร้อมสนับสนุน กรณีมีมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ และขณะนี้ภายในสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทยมีเพียงแม่บ้านเหลืออยู่เท่านั้น

ประชาชนพึงพอใจมาตรการตอบโต้เขมรของรัฐบาลไทย

สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชน ต่อบทบาทในการดำเนินงานของนายอภิสิทธิ์ โดยร้อยละ 38.53 ค่อนข้างพอใจต่อการแก้ไขปัญหาโดยการเรียกเอกอัคราชทูตไทยกลับ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า ไทยไม่พึงพอใจต่อเรื่องนี้ กรณีที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ร้อยละ 51.23 ไม่ค่อยพึงพอใจต่อการแต่งตั้งโยกย้าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และข้าราชการไทย เพราะ ณ วันนี้ ยังไม่สามารถหาผู้ที่เหมาะสม เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ ร้อยละ 37.86 ค่อนข้างพึงพอใจ ต่อโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพราะมีการกระจายงบประมาณจำนวนมากลงสู่พื้นที่ เพื่อให้การสนับสนุนแก่ประชาชนในหลายด้าน

ร้อยละ 37.95 ไม่ค่อยพึงพอใจ ต่อการแก้ปัญหาของ การรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีความชัดเจน และไม่เด็ดขาดพอในการแก้ไขปัญหาของการรถไฟ ร้อยะละ 43.21 ค่อนข้างพึงพอใจ ต่อการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 15 เพราะภาพรวมในการจัดงานเป็นไปด้วยดี ทุกประเทศที่เข้าร่วม มีความเข้าใจ และเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น และร้อยละ 44.92 ไม่ค่อยพึงพอใจต่อแนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในการจัดตั้งนครปัตตานี เพราะการออกมาแสดงบทบาท หรือชี้แจงของนายกรัฐมนตรี น้อยเกินไป ทำให้คนในพื้นที่ยังสับสน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook