กทช.ทำประชาพิจารณ์ 3 จีอีกแล้ว

กทช.ทำประชาพิจารณ์ 3 จีอีกแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หลังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เจอข้อท้วงติงอย่างหนักจากประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาต 3 จี เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ล่าสุด กทช. จะนำ 9 ประเด็นหลักในร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่มารับฟังความเห็นสาธารณะอีกครั้ง ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ประเด็นในร่างสรุปข้อสนเทศที่จะทำประชาพิจารณ์ ประกอบด้วย ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะ เฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะบิต ราคา 4,600 ล้านบาท และ 15 เมกะบิต ราคา 5,200 ล้านบาท

รวมถึงระยะเวลาการยื่นเอกสาร ของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งได้กำหนดไว้ 30 วัน และอาจปรับเปลี่ยนเป็น 45 หรือ 60 วัน และเรื่องที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด มีสิทธิเข้าร่วมประมูลหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม เป็นต้น

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช. ให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง 3 จี ครั้งนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ร่าง 3 จีครั้งสุดท้าย ต้องดูประเด็นที่ประชา ชนเสนอความเห็น และสิ่งที่ กทช. ตอบว่าชัดเจนหรือไม่ ถ้า กทช. ตอบคำถามของประชาชนได้ชัดเจน จะสามารถยื่นเอกสารร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 2 สัปดาห์

นายสุรนันท์ กล่าวต่อว่า การประชาพิจารณ์ครั้งนี้เปิดรับฟังความเห็นเรื่องระยะเวลาการยื่นเอกสารของผู้เข้าร่วมประมป็น 30 วัน หรือ 45-60 วัน ซึ่งจะส่งผลให้การประมูลใบอนุญาต 3 จีขยับไปตามวันที่ทำประชาพิจารณ์ และถ้าการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ กทช.เห็นว่าประชาชนยังมีข้อสงสัยมากก็อาจจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งก็เป็นได้

ถ้าดูตามระยะเวลาของกรอบการทำงาน ก็เป็นไปได้ที่ กทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี ในเดือนมีนาคม 53 นาย สุรนันท์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ กทช. ยื่นหนังสือถามสำนักงานกฤษฎีกา เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กทช. ว่ามีอำนาจออกใบอนุญาต 3 จี หรือไม่ นายสุรนันท์ กล่าวว่า ระหว่างรอคำตอบ กทช. สามารถดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต 3 จีได้

ระหว่างที่การประมูลใบอนุญาต 3 จี ยังไม่ชัดเจน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้มีคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์เพียงรายเดียวในไทย ยืนยันที่จะเปิดบริการ 3 จี 3 ธันวาคม นี้ แน่นอน

นายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรม การผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทีโอที กล่าวว่า การดำเนินการให้บริการ 3 จีเฟสแรก บนคลื่นความถี่ ไทยโมบายเดิม (1900 เมกะเฮิรตซ์) ที่จะเปิดให้บริการวันที่ 3 ธันวาคมนี้ จำนวน 5 แสนเลขหมาย ในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทีโอทียืนยันที่จะเปิดให้บริการตามวันที่กำหนด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับที่คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ชะลอการลงทุน 3 จี ของทีโอที เพราะการลงทุนโครงข่ายในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 548 สถานีฐาน ทีโอทีใช้เงินที่มีลงทุนเอง

สำหรับโครงข่าย 3 จของทีโอทีที่จะเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทีโอทีจะเปิดให้บริการ 3 จีเองจำนวน 1 แสนเลขหมาย ในขณะที่อีก 4 แสนเลขหมายที่มีได้เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าโครงข่ายพร้อมเลขหมายเพื่อนำไปให้บริการ เบื้องต้นมีผู้ที่จะเข้ามาเช่าโครงข่ายแล้ว 5 ราย ได้แก่ บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท สามารถ ไอโมบาย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม คอนซัลเต็ด จำกัด และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ส่วนราคาค่าเช่าโครงข่ายคาดว่าจะได้ข้อสรุป ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า โครงข่าย 3 จี ที่ ครม. เศรษฐกิจขอให้ทีโอทีชะลอการลงทุนออกไปก่อน คือส่วนที่ทีโอทีต้องกู้เงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทมาลงทุนทำโครงข่าย 3 จี ทั่วประเทศ โดย ครม. เศรษฐกิจอยากให้ทีโอที รอความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย และเงื่อนไขการเปิดประมูลของ กทช. ว่า จะออกใบอนุญาต 3 จี ให้กี่ราย เงื่อนไขจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุน 3 จี ของทีโอที.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook