ลูกหนังเพื่อชีวิต

ลูกหนังเพื่อชีวิต

ลูกหนังเพื่อชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : : ปรัชญ์ปรีชา ศีลพิพัฒน์

ในขณะที่ ฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่ถึง 8 เดือน คนกลุ่มหนึ่งพยายามใช้เกมลูกหนังเป็นบันได

ให้เด็กด้อยโอกาสก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม

เด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งพยายามเลี้ยงลูกฟุตบอลวกไปเวียนมาผ่านกรวยพลาสติก ดูเหมือนชุดผ้าโปร่งสีชมพูของเธอจะเป็นอุปสรรค ในขณะที่เธอพยายามเรียนรู้ศาสตร์ของฟุตบอลและบทเรียนชีวิตจากโค้ช

ระหว่างที่ ซิเนธัมบา วัย 6 ขวบ ฝึกทักษะฟุตบอลกับเด็กคนอื่นๆ โค้ชของเธอกำลังสอนเด็กวัยตั้งแต่ 5 ถึง 15 ขวบ ให้เห็นความสำคัญ ของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไปจนถึงอันตรายของการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

ชาวแอฟริกาใต้กำลังตกอยู่ในอาการคลั่งไคล้ฟุตบอล ก่อนหน้าฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพจะเริ่มขึ้นกลางปีหน้า ซึ่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ใช้โอกาสดังกล่าวดึงดูดเด็กๆ ที่หลงใหลกีฬาหวดลูกหนังให้เข้าร่วมโครงการ 'ฟุตบอลเพื่อความหวัง' ในหลายๆ เมืองที่มีฐานะยากจนที่สุดในประเทศแห่งนี้

หลังเลิกเรียนทุกวันจันทร์ เด็กๆ ในเขตอเล็กซานดรา ซึ่งเป็นย่านที่เก่าแก่และยากจนที่สุดแห่งหนึ่งประจำเมืองโยฮันเนสเบิร์ก จะเดินทางมาร่วมฝึกซ้อมฟุตบอลที่มีบทเรียนแตกต่างจากการฝึกซ้อมธรรมดา ซึ่งรวมถึงการสอนให้เด็กผู้ชายรู้จักให้เกียรติเพื่อนผู้หญิง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในแอฟริกาใต้ ที่ซึ่งผู้ชาย 1 ใน 4 ยอมรับว่า เคยข่มขืนผู้หญิงอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต

"หากพ่อพยายามล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง เธอจะต้องสามารถยืนหยัดด้วยตัวเอง และบอกว่า เธอถูกสอนที่สนามวันนี้ว่า พ่อไม่ควรจะทำแบบนี้ พ่อเป็นพ่อของหนู หนูเคารพพ่อนะ แต่ไม่ นี่เป็นร่างกายของหนู" ซิบูเลเล ซิบากา เจ้าหน้าที่ของ 'เพลย์ ซอคเกอร์ เซาธ์ แอฟริกา' ซึ่งเป็นองค์กรลูกของโครงการฟุตบอลเพื่อความหวัง เผย

แคทเธอรีน โคซานา โค้ชสาววัย 18 ปีที่ปัจจุบันยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ คือ การดึงเด็กๆ ให้อยู่ห่างจากท้องถนนที่เต็มไปด้วยอันตราย พร้อมสอนให้พวกเขารู้จักเคารพผู้อื่นและดูแลตัวเองให้ได้

"ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม เราจำเป็นต้องโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุตรหลานของพวกเขา เราบอกพวกเขาว่า ไม่ใช่เรื่องฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะมีวิถีชีวิตที่สมบูรณ์ด้วย" โคซานา อธิบาย

เพื่อยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายของโคซานา ซึ่งเป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วยโครงการ เธอนำสมุดคู่มือฝึกสอนมาให้ดู โดยในแต่ละบทเรียนจะแบ่งย่อหน้าตามจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ส่งเสริมให้รับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เน้นให้เห็นอันตรายของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการป้องกันและต่อสู้กับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์)

คืนสู่สังคม


นับตั้งแต่ปี 2548 ฟีฟ่าให้การสนับสนุนองค์กรแบบเดียวกันนี้หลายสิบแห่งทั่วโลก ผ่านโครงการ 'ฟุตบอลเพื่อความหวัง' แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับความสนใจในขณะที่ฟุตบอล โลกกำลังใกล้เข้ามา

'20 เซนเตอร์ส ฟอร์ 2010' ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งของฟีฟ่า ที่ต้องการระดมทุน 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างศูนย์ฟุตบอลเพื่อความหวัง 20 แห่งทั่วทั้งทวีปแอฟริกา โดยแต่ละศูนย์จะประกอบไปด้วยสนามฟุตบอลหน้าเทียมขนาดเล็ก ห้องเรียนและสถานพยาบาล เพื่อเป็นสถานที่สำหรับเยาวชนในการเล่นฟุตบอล รับคำปรึกษา รวมถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณสุข

โจเซฟ แบลทเทอร์ ประธานฟีฟ่า จะเดินทางมาเปิดศูนย์ฟุตบอลเพื่อความหวังแห่งแรกของแอฟริกา ในเมืองคาเยลอิตชา ชานกรุงเคปทาวน์ อย่างเป็นทางการ วันที่ 5 ธ.ค.นี้ โดย 'กราสรูท ซอคเกอร์' ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรจะเป็นผู้บริหารศูนย์ดังกล่าว

เมืองคาเยลอิตชา เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำสำหรับคนในท้องถิ่น แต่มีน้อยคนที่จะนึกถึงในแง่ดี เพราะเมืองนี้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมค่อนข้างสูงจนได้ชื่อว่าเป็นเมือง อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกาใต้

"หลายคนมองว่าเมืองคาเยลอิตชาเป็นสถานที่อันตราย แต่ตอนนี้ เมืองแห่งนี้กำลังจะถูกมองว่าเป็นที่ทำกิจกรรม ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์" ซามาเยวา โซกายิเซ ประธานที่ประชุมเพื่อการพัฒนาเมืองคาเยลอิตชา เผย

มากกว่ากีฬา


ทุกวันนี้ ฟุตบอลไม่เพียงเป็นแค่กีฬาเท่านั้น เพราะใครหลายคนใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องปลดพันธนาการจากความยากจนและความเลวร้าย ทั้งปวง โดยเฉพาะเด็กๆในประเทศด้อยพัฒนา

"ทุกๆ คนที่นี่รู้สึกดีใจมากเมื่อได้ยินว่าจะมีการสร้างศูนย์ดังกล่าว ตอนนี้ลูกหลานของเราจะมีสถานที่ให้เล่นฟุตบอล บางครั้งเยาวชนในประเทศนี้ต้องกลายเป็นคนไม่เอาถ่านและหัวขโมย เพราะพวกเขาไม่มีที่ไป ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป มีแสงสว่างเกิดขึ้นและทุกคนสามารถเห็นมัน" กลาดิส มาซิซา ชาวเมืองคาเยลอิตชา กล่าว

ชาวแอฟริกาจำนวนมากใช้ฟุตบอลเป็นบันไดสู่ชีวิตที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น จอร์จ เวอาห์ ที่มีวัยเด็กอันน่าขมขื่น แต่เขามุ่งมั่นเอาดีกับฟุตบอล จนก้าวไปติดทีมชาติไลบีเรียและทำรายได้หลายสิบล้านดอลลาร์จากการค้าแข้งใน ทวีปยุโรปกับสโมสรปารีส แซงต์ แชร์แมงของฝรั่งเศส เอซี มิลานของอิตาลี และเชลซีของอังกฤษ

ฝีเท้าของเวอาห์ เยี่ยมยอดถึงขนาดได้รับเลือกให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกและยุโรปประจำ ปี 2538 เมื่อแขวนสตั๊ด เขาอุทิศตัวให้การกุศล ทำให้กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) แต่งตั้งเวอาห์ให้เป็นทูตสันทวไมตรี กลายเป็นบุคคลตัวอย่างของเด็กแอฟริกานับล้านคน

ปัจจุบัน มีนักฟุตบอลอาชีพจากทวีปแอฟริกาจำนวนมากขึ้น พวกเขาส่วนใหญ่ล้วนไต่เต้าจากเด็กข้างถนนจนกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน เช่น เอ็มมานูเอล อเดบายอร์จากโตโก ดิดิเยร์ ดรอกบาจาก ไอวอรี โคสต์ ซามูเอล เอโตจากแคเมอรูน และเมื่อมองไปที่จำนวนเงิน 3,200 ล้านดอลลาร์ที่ฟีฟ่าคาดว่าจะได้รับจากฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจแขนงหนึ่งไปแล้ว

"ฟุตบอลโลกเป็นมากกว่าฟุตบอล มีอะไรมากกว่า 90 นาทีในสนาม นี่เป็นเรื่องที่ว่าเราจะสร้างมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้อย่างไร" แดนนี จอร์แดน ประธานจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ กล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook