นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุ น้ำฝนในประเทศไทยหลายพื้นที่มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุ น้ำฝนในประเทศไทยหลายพื้นที่มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุ น้ำฝนในประเทศไทยในหลายพื้นที่มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น เตือนประชาชนไม่เหมาะสำหรับการนำมาบริโภค ผศ.สุนทรี ขุนทอง อาจารย์จากคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำฝนตลอดระยะเวลา 12 เดือน ในเขตพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่แหลมฉบัง ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทำการศึกษาวิจัย พบว่า น้ำฝนที่เก็บได้มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น เฉลี่ยกว่า 4 จากค่าความเป็นกรดด่างของน้ำฝนที่มีค่าเฉลี่ยที่ 5.6 ทั้งนี้ค่าความเป็นกรดของน้ำฝนที่สูงขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากพื้นที่ดังกล่าว ล้อมรอบด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาทิ นิคมแหลมฉบัง โรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันเอสโซนิคม อุตสาหกรรมสหพัฒน์ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้น้ำฝนมีความเป็นกรดสูง นอกจากนี้ทางกรมควบคุมมลพิษ ได้เริ่มเก็บตัวอย่างน้ำฝนในพื้นที่มาบตาพุด หลังจากมีการร้องเรียนปัญหาน้ำฝนบริโภคไม่ได้ และพืชผลที่เสียหายจากน้ำฝนที่ตกลงมาทำให้ใบหงิกงอ เพื่อนำมาวิเคราะห์ หาตัวอย่างของสารที่ปนเปื้อนในน้ำฝน โดยการวิเคราะห์น้ำฝนต้องใช้ระยะเวลา 1 ปีจึงจะวิเคราะห์และประมวลผลได้ โดยผลที่ออกมาจะใช้เป็นข้อมูลเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการควบคุม และการวางแผนขยายโรงงานในพื้นที่ต่อไป ผศ.สุนทรี ขุนทอง กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความเป็นกรดของน้ำฝนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย พบว่า น้ำฝนไม่เหมาะสมกับการนำมาบริโภคได้อย่างบริสุทธิ์เหมือนในอดีตแล้ว เนื่องจากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรม และความเจริญเติบโตของเมืองที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำฝนทั่วประเทศไม่เพียงแต่มีแนวโน้มค่าความเป็นกรดสูงเท่านั้น แต่ยังรวมเอามลพิษอื่นๆ รวมอยู่ในน้ำฝนด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook