สังคมออนไลน์เด็ก

สังคมออนไลน์เด็ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประเด็นเรื่องเด็กเล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างสังคมออนไลน์ของตนเองมีทั้งในแง่บวกและลบ ในแง่ลบเพราะความกลัวว่าเด็กจะตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพทางออนไลน์ แต่ที่แน่ ๆ จะห้ามเด็กเข้าสู่สังคมออนไลน์ เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้ยากเสียแล้ว

จากการศึกษาของนักวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่เข้าไปเล่นเฟซบุ๊ก มายสเปซ และเครือข่ายบริการสังคมอื่น ๆ พบว่าเด็กมีอายุน้อยกว่าที่ กำหนดเข้าไปจำนวนมาก แต่ระบุว่า ตนเองอายุมากกว่า 13 ปี

จากการสำรวจของสำนักวิจัยพิว 2 ครั้งจำนวน 700 คน และอีก ครั้ง 935 คนของวัยรุ่น ปรากฏว่ามีเด็กอายุ 12-14 ปี มีประวัติของตนเองในเครือข่ายบริการสังคมถึง 38% เด็กอายุ 12-17 ปี ถึง 61% ระบุว่าได้ใช้บริการเครือข่ายสังคมเพื่อส่งข้อความให้เพื่อน ๆ และ 42% ระบุว่าได้ทำเช่นนี้ทุกวัน จากการศึกษาพบว่าเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ได้เข้าไปใช้บริการเครือข่ายสังคมจำนวนมาก

อะมันดา เลนนาร์ท ผู้วิจัยอาวุโส ได้ให้ความเห็นว่า มันคือสังคมโลกของเด็ก เราไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบว่าเด็กอายุ 14 ปีจริงหรือไม่ เด็กเพียงแต่ระบุว่า ถ้าอายุเกิน 13 ปี ก็เข้ลกของเขาได้ทันที

มาร์ค บิกบี อยู่ที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา มีลูก 3 คน อายุ 14 ปี 12 ปี และ 11 ปี ตามลำดับ โดยเฉพาะลูกสาวอายุ 11 ปี เข้าไปเล่นมายสเปซคนแรกในบ้าน โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ปกครอง

แต่ในที่สุด คุณบิกบี ก็ต้องยอมให้ลูกทั้งสามคนเข้าไปลงทะเบียนในเฟซบุ๊กโดยทั้งหมดตกลงที่จะใส่อายุมากกว่าเกณฑ์เพื่อยอมให้ลูกเข้าสู่สังคมโลกออนไลน์ของเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่จะให้เขียนข้อมูลส่วนตัวน้อยที่สุด และจะให้เห็นก็ต่อเมื่อได้มีการคอนเฟิร์มหรือยืนยันจะเป็นเพื่อนก่อนเท่านั้น และคุณพ่อคุณแม่จะช่วยดูแลเพื่อนที่จะเข้ามาทำความรู้จักในสังคม ออนไลน์ ในแต่ละหน้าบนเฟซบุ๊ก ที่ลูกและเพื่อนเข้ามาติดต่อคุยกัน

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์ก็จะมีความคิดเห็นในเชิงลบว่า เทคโนโลยีเหล่านี้อันตรายสำหรับเด็ก เช่น ซูซาน กรีนฟิลด์ แห่งมหาวิทยาลัย ออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่ม เห็นว่าเด็กยุคใหม่ปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ได้เร็วกว่ามาก ในสังคมออนไลน์จะมีเด็กน้อยมากที่ใช้โทรศัพท์เพื่อการติดต่อ

กะเวรี สับรามานยาม ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท ลอสแอนเจลิส ได้กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่เข้าสู่โลกสังคมออนไลน์ในด้านบวกและไม่มีอันตรายอย่างที่คิดกัน

สมัยนี้เด็กฉลาดพอที่จะเรียนรู้เพื่อการเอาตัวรอดได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นเด็กมาก ๆ ก็ควรจะมีผู้ปกครองช่วยดูแล

ผมก็เห็นด้วยกับวิธีนี้นะ ยกตัวอย่างลูกสาวผมเข้าเล่นไฮไฟว์ ตั้งแต่ 6 ขวบ ตอนนี้ย่าง 9 ขวบ แล้วก็ยังเล่นทั้งไฮไฟว์และเฟซบุ๊ก อยู่ แต่แม่ของเธอเข้าไปดูลูกสาวเล่นทุกวัน ได้เพื่อน ๆ ลูกสาวที่น่ารักเยอะช่วยกันทำการบ้านและเล่าเรื่องกิจกรรมดี ๆ และสนุก ๆ กัน ดูก็มีความสุขกับสังคมเด็กออนไลน์ดี.

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล

boonmark@rsu.ac.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook