ฝรั่งห่วงผลสัมฤทธิ์นักเรียนไทยตํ่า

ฝรั่งห่วงผลสัมฤทธิ์นักเรียนไทยตํ่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากการประชุมปฏิบัติการ หัวข้อ การพัฒนาความเสมอภาคและคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย จากมุมมองของนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยนายเควิน แมคโดนัลด์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ให้ความสนใจเรื่องความแตกต่างระหว่างเด็กในเมืองกับชนบท ซึ่งมีข้อมูลระบุว่าเด็กไทยในกรุงเทพฯ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใกล้เคียงกับเด็กในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อนำเด็กชนบทมาเปรียบเทียบด้วย ส่งผลให้ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของไทยต่ำลง นอกจากนี้ ดร.ควาง โจ คิม ผอ.องค์การยูเนสโกประจำกรุงเทพมหานคร อดีต รมช.ศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลี ได้นำเสนอตัวอย่างการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนว่า เกาหลีให้ความสำคัญเรื่องของครูเป็นหลัก โดยเริ่มจากการสรรหาคนดี คนเก่งเข้ามาเป็นครู ให้เงินเดือนที่สูงและท้าทาย ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเห็นผลชัดเจนมาก โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเกาหลีอยู่ในลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ สพฐ.จะนำข้อมูลไปสู่การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของไทยให้ต่อไป

ด้าน นายเควิน กล่าวว่า จากผลการประเมินความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักเรียนชั้น ม.2 ของประเทศไทย ในโครงการประเมินผลสมาคมการศึกษานานาชาติ (TIMSS) ตั้งแต่ปี 2542-2550 พบว่า มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2542 มีนักเรียนชั้น ม.2 ประมาณ 7 แสนกว่าคน ผ่านการประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด 45% แต่ในปี 2550 นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนกว่าคน แต่ผ่านการประเมินเพียง 34% และมีความแตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย และคนในเมืองกับคนชนบทมาก ส่วนผลการประเมินด้านการอ่านของไทย ก็พบความแตกต่างเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีการปรับปรุงระบบการเรียนการสอน ของนักเรียนในชนบทให้ใกล้เคียงกับการศึกษาในเมืองก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook