ยาดี ตำรับไทย แก้ไข้การเมือง

ยาดี ตำรับไทย แก้ไข้การเมือง

ยาดี ตำรับไทย แก้ไข้การเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ชุติมา ซุ้นเจริญ

ปี 2010 ไทยจะรบกับเขมรอย่างที่โหรดังทำนายหรือไม่ แต่ความจริงวันนี้ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สังคมไทยกำลังป่วย ต้องการยาดีมาช่วยเยียวยา

ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ดูเหมือนว่าไม่มีครั้งไหนที่สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงเท่าช่วงเวลานี้

การเมืองเรื่องสียังฝังรากอยู่ในชุมชน หมู่บ้าน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในสภา ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้สร้างความสูญเสียรายวัน การเผชิญหน้าระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับภาครัฐเกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเหมือนจะ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่น่ากังวลไม่น้อยก็คือความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังก่อตัวขึ้น อีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 11 ประจำปี 2552 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อใหญ่เรื่อง "ความิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 11 ประจำปี 2552เรืขัดแย้ง ความชอบธรรม และการปฏิรูประบบรัฐ : การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมในสังคมไทย" ในห้องแอร์เย็นฉ่ำของศูนย์ประชุมสหประชาชาติ จึงมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อที่ท้าทายยิ่งสำหรับสังคมที่ มิติทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามักถูกมองข้ามไป

"นวัตกรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและสังคมวัฒนธรรมไทย" ..."ยาดี" ที่สังคมไทยกำลังเสาะแสวงหา

ธรรมะ : ยาขนานเอก


อ้างกันบ่อยครั้งว่า "เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ" หากทุกคนยึดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในการดำเนินชีวิต การจัดการความขัดแย้งคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

พระไพศาล วิศาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ประธานเครือข่ายพุทธิกา มองว่าความขัดแย้งมีหลายระนาบ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของสัมพันธภาพของบุคคล ในสังคมท้องถิ่นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งในชุมชนจากภูมิปัญญา เป็นเรื่อง "การคืนดี" พยายามทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ไม่ได้เน้นเรื่องถูก-ผิด มองไปข้างหน้าว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร

ส่วนอีกด้านที่มองข้ามไม่ได้คือ โครงสร้าง หรือโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก โครงสร้างในที่นี้เชื่อมโยงกับการจัดสรรผลประโยชน์

"อาตมาคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันจำนวนมากเกิดขึ้นในเรื่องการแย่งชิง ผลประโยชน์ แล้วเราก็พบว่าการจัดสรรผลประโยชน์ในเวลานี้มีปัญหามาก แม้ว่าจะมีกฎหมายต่างๆ แต่กฎหมายไม่ทำงาน เราจะพบว่ามีความขัดแย้งระหว่าง นายทุน รัฐ กับชาวบ้านทั้งในเรื่องของป่าและน้ำ"

พระไพศาล ได้ยกตัวอย่างกรณีชาวบ้านอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คัดค้านการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก และกรณีเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ว่าเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่ความร้าวฉานทางการเมือง ซึ่งต้องมีกลไกที่จะนำไปสู่สัมพันธภาพ หรือการคืนดี หันหน้าเข้าหากัน เพื่อจำกัดขอบเขตความรุนแรง โดยกระบวนการเหล่านี้สามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้

"ในเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ บางที่ต้องคิดถึงการเป็นเจ้าของทรัพย์สินสาธารณะร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นเคยเข้มแข็งมาก เช่น เรื่องป่าชุมชน การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการเหมืองฝาย เป็นเรื่องของชุมชน ซึ่งประการแรกทำให้ชุมชนไม่ทะเลาะกัน สองทำให้อำนาจจากภายนอกเข้ามาแย่งผลประโยชน์ของชุมชนไม่ได้ ภูมิปัญญาแบบนี้ไม่ควรมองข้าม"

นอกจากนี้ภาครัฐยังควรส่งเสริมด้วย เช่น การมีโฉนดชุมชน การจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งนี้พระไพศาลมองว่า ปัญหาความขัดแย้งในหลายกรณีมีพื้นฐานมาจากการแย่งชิงทรัพยากร โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาพื้นที่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดปัตตานี พบว่าหมู่บ้านสีแดงจำนวนไม่น้อย เคยมีปัญหาความขัดแย้งกับนายทุนที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากร ทำให้ชาวบ้านยากจน และกลายเป็นหมู่บ้านสีแดง

"ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะลดลงได้ถ้าเราคิดถึงการจัดการทรัพยากรใน ลักษณะที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยเฉพาะในชุมชน เรื่องนี้แม้แต่ นางเอลินอร์ ออสตรอม ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ก็ให้ความสำคัญ

กฎหมายไม่จำเป็นต้องชี้ว่ากรรมสิทธิ์เป็นของใคร แต่ถ้าให้ชาวบ้านมาจัดการเขาสามารถคิด และลงรายละเอียดว่าใครสามารถใช้ผลประโยชน์ ใช้อย่างไร และลงโทษคนที่เอาเปรียบทรัพยากรได้อย่างไรบ้าง ในลักษณะที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน มีโอกาสที่จะลดทอนความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมลดน้อยลง"

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของพระไพศาล สำหรับชาวบ้านแล้วผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงินไม่สำคัญเท่าสัมพันธภาพ บางครั้งพบว่าเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเลือกรักษาสัมพันธภาพมากกว่าชี้ถูกชี้ผิด นี่คือภูมิปัญญาที่คนกรุงเทพไม่ค่อยเข้าใจ

ยาพื้นบ้าน : ประนีประนอม


ในสังคมไทย ชุมชนคือหน่วยย่อยๆ ที่ก่อร่างขึ้นจากสัมพันธภาพระหว่างผู้คน และยึดโยงด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติร่วมกันมา ดังนั้นเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทางออกที่ได้ผลจึงมักอ้างอิงฐานทางวัฒนธรรมเหล่านี้

ศ.(พิเศษ) ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่าที่ผ่านมาเรามักพูดถึงความขัดแย้งในมิติทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ถ้ามองเข้าไปในชุมชน จะพบว่าชุมชนท้องถิ่นมีวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่น่าสนใจ โดยความสัมพันธ์ระดับชุมชนจะมีอยู่ 3 ระดับ คือ คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับอำนาจเหนือธรรมชาติ

ที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ชาวบ้านไม่เคยพึ่งรัฐ แต่ใช้ความสัมพันธ์ดังกล่าวในการแก้ปัญหาด้วยความประนีประนอม และบางครั้งก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาเป็นอำนาจสายกลางในการแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องชี้ถูกชี้ผิด ทำให้เป็นขาว-ดำ

แต่ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก รัฐไทยกลายเป็นรัฐที่ไร้สังคม ความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ หายไป โดยเฉพาะในสังคมเมือง คนในหมู่บ้านเดียวกันแทบไม่รู้จักกัน จึงเกิดปัญหาในการจัดการความขัดแย้ง

"ตอนนี้เราอยู่ในภาวการณ์ที่น่ากลัวที่สุด จะเอาอย่างไร ถ้าจะฟื้นภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กลับมาใช้ก็ต้องฟื้นจากข้างล่าง ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง"

สำหรับมุมมองในการจัดการทางความขัดแย้งปัจจุบันมีอยู่ 2 ระดับคือ หนึ่ง ความยุติธรรม แบ่งขาว-ดำชัดเจน สอง คือการพบกันครึ่งทาง หรือประนีประนอม ซึ่งเป็นเครื่องมือของคนในชุมชนท้องถิ่น

"ในสังคมชนบท ชาวบ้านเขามีระบบพรหมวิหาร 4 อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันพอสังคมเปลี่ยนไป โรงเรียนไม่มีกระบวนการอบรมทางสังคม จึงไม่อยู่ในกติกาความเป็นกลุ่ม ขณะเดียวกันในท้องถิ่นเองก็ล่มสลายจึงเกิดปัญหาขึ้นมา แต่เวลาที่มีความขัดแย้งขึ้นในท้องถิ่น ชาวบ้านเขามีฐานเดิมอยู่แล้ว สำนึกร่วมของเขามี ก็พอจะหาทางแก้ได้ แต่ถ้าที่ไหนไม่มีหรือรัฐได้ทำลายไปแล้ว ความขัดแย้งในท้องถิ่น ก็กลายเป็นเรื่องของการหาความขาว-ดำ ขึ้นโรงขึ้นศาล"

ดังนั้นหากถามว่าแต่ก่อนจัดการความขัดแย้งกันอย่างไร นักวิชาการท่านนี้แนะให้ดูจากประเพณี 12 เดือน ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้พบปะไปมาหาสู่กันระหว่างการประกอบพิธีกรรม เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ

"ชาวบ้านเขาอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ กติกาหลายอย่างที่กั้นไม่ให้คนทะเลาะกันคือ ขึด (ข้อห้ามของชาวล้านนา) รวมทั้งการนินทา ซึ่งถือเป็นการควบคุมทางสังคมอยู่แล้ว ในการไปเปลี่ยนแปลงสังคมจากสังคมแบบเดิม เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม เหมือนเราไปทำลาย ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะคนในท้องถิ่น จึงเกิดปัญหาขึ้นมา"

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา อ.ศรีศักร เสนอว่าต้องทบทวนความเป็นปัจเจกฯ ของทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำลายความเป็นมนุษย์ และหวนกลับไปหาความเป็นกลุ่มเป็นสังคม โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนให้ชาวบ้านรื้อฟื้นภูมิปัญญาของตัวเองขึ้นมา

เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง สังคมก็มั่นคงขึ้นและมีศักยภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตนเอง

สันติวิธี : ยาครอบจักรวาล


นอกเหนือจากตำรับยาแบบ ไทยๆ ที่ใช้การรื้อฟื้นสัมพันธภาพภายในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเยียวยาความอ่อนแอของสังคม แนวคิดเรื่อง "สันติวิธี" ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่นักวิชาการหลายท่านให้ความสนใจ

ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอแนวทางก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยถอดประสบการณ์จากการลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปรับเปลี่ยนความขัดแย้งสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ว่า ต้องเริ่มต้นค้นหาคำตอบจากชุมชน ให้ชาวบ้านช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข

"กระบวนการที่เราทำคือ เอาคนจากหมู่บ้านเดียวกันมา ทั้งรัฐ ชาวบ้าน หยิบเหตุการณ์มาวิเคราะห์ว่าปัญหาคืออะไร ซึ่งค้นพบว่ามีความขัดแย้ง มีความระแวงซึ่งกันและกันสูง สาเหตุของความระแวง ก็ได้แก่ อคติ ความคิด ความเชื่ออุดมการณ์, อคติเชิงพฤติกรรม และการช่วงชิงอำนาจ"

หลังจากการพูดคุยหากพบว่าเป็นแค่อคติทางความคิด ก็ดูว่าเขาขาดอะไร แล้วให้ในส่วนที่ขาด แต่ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน ต้องให้ยาแรงขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีทางออก อาจจะต้องหาบุคคลที่สามหรือคนกลางมาช่วย จากนั้นก็สร้างกิจกรรม สร้างอุดมการณ์บางอย่างขึ้นมา

"โดยมากกิจกรรมเหล่านี้มักออกมาในเชิงวัฒนธรรม เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความขัดแย้งได้"

ที่สำคัญ ดร.อมรา ย้ำว่าในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง นอกจากจะดูบริบทอื่นๆ แล้ว ต้องพิจารณาฐานะของคู่กรณีร่วมด้วย

"ประเด็นหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือ ฐานะของคู่กรณี หากคู่กรณีมีฐานะที่เท่าเทียมกัน หรือ ถ้าคู่กรณีมีฐานะดี หรือ ได้เปรียบทางสังคม คิดว่าการใช้ตุลาการเพื่อสร้างความถูกต้อง และเพื่อความชอบธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ในกรณีที่คู่กรณีฐานะต่างกัน และผู้ด้อยอำนาจอยู่ในฐานะเสียเปรียบ หรือเขาอาจทำผิดเพราะความด้อยอำนาจ เราอาจจะต้องพิจารณาต่างกันสักหน่อย กรณีที่คู่กรณีมีฐานะไม่เท่ากัน การพิจารณาอาจจะต้องทำให้ฐานะเท่าเขาเท่ากันก่อน ถึงจะใช้อำนาจตุลาการเต็มที่ได้"

สำหรับนักสันติวิธีอีกท่านหนึ่ง รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งนอกจากเรื่องจิตใจที่พูดถึงกันมาก แล้ว ต้องเน้นเรื่องระบบด้วย

"อย่างกรณีภาคใต้ เรื่องอำนาจการตัดสินใจพบว่ามีปัญหามาก เรื่องการกระจายอำนาจ ต่างฝ่ายต่างก็พูดกันไป ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาดูกันอย่างจริงจังว่าจะกระจายอำนาจอย่างไร"

"ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องยอมรับว่าเป็นประเด็นที่จะ ต้องพูดคุยกันได้ ที่เห็นขณะนี้ที่ทำให้พูดคุยกันไม่ได้คือ ใช้การกล่าวโทษ เจตนาใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนสาดใส่กันอยู่เป็นประจำ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ไม่มีการฟังเท่าที่ควร"

สำหรับเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ดร.โคทม มองว่าหากเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องประนีประนอม แต่ถ้าเป็นเรื่องของการใช้กฎหมายเพื่อลงโทษให้เห็นเป็นตัวอย่างต้องทำไปใน ระดับหนึ่ง ซึ่งระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หมายความว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่ทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด ถือเป็นอีกแง่หนึ่งของความยุติธรรม

"ส่วนเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งทางด้านจิตใจ ทางด้านทัศนคติ ซึ่งสำคัญมาก สมัยก่อนมีการทำสงครามกัน สุดท้ายแล้วก็สร้างเจดีย์ ผมกำลังคิดถึงภาคใต้ที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลเยอะ แต่เราก็ไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมว่าเราต้องคืนดีกัน อาจจะต้องมีสัญลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดการคืนดีกันในบางเรื่อง เลิกแล้วต่อกัน เพราะเราแก้ประวัติศาสตร์ไม่ได้ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เคยทำมาแต่เดิม แต่กรณีของภาคใต้ คงไม่ใช่รูปเจดีย์ คงเป็นสัญลักษณ์อื่นๆ ที่สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคนั้นๆ"

โดยต้องขีดเส้นใต้หนาๆ ว่าในการรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นและสังคมวัฒนธรรมไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความ ขัดแย้ง ต้องตีความคำว่า "ไทย" ให้กว้างกว่า "กรุงเทพ" และเช่นเดียวกับที่พระไพศาลได้กล่าวไว้ ถ้าทำให้คืนดีกันไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรจำกัดขอบเขตความขัดแย้ง อย่าให้ลุกลามรุนแรง ขอให้เป็นความขัดแย้งกันแบบอารยชน

"อย่างกรณีความขัดแย้งเหลือง-แดง มีการไปคุยกันตามจังหวัดต่างๆ และพยายามที่จะไม่ให้ความขัดแย้งนี้ลุกลามออกไปอีก ตอนนี้เป็นห่วงแต่ว่า นอกจากจะเราทะเลาะกันในประเทศแล้ว ยังเอาประเด็นคล้ายๆ กันไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย"

แม้จะไม่มีคำตอบว่าความขัดแย้งทางการเมือง ที่กำลังลุกลามบานปลายจะจบลงเช่นไร แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมียาดีอีกหลายขนาน ที่จะช่วยบรรเทาเบาบางความรุนแรงที่หลายคนกังวล ขึ้นอยู่กับว่า..ยานี้จะถูกใช้หรือไม่ และใช้อย่างไร

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook