ปชช.หลายพื้นที่ประทับใจฝนดาวตกลีโอนิดส์และดาวตกดวงใหญ่ในปีนี้

ปชช.หลายพื้นที่ประทับใจฝนดาวตกลีโอนิดส์และดาวตกดวงใหญ่ในปีนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประชาชนหลายพื้นที่ประทับใจฝนดาวตกลีโอนิดส์และดาวตกดวงใหญ่ในปีนี้ เห็นมากสุดที่ดอยอินทนนท์ ส่วนกทม.พลาดชม เหตุฟ้าปิด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติชวนคนไทยดูปรากฎการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ กลางเดือนหน้า รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่เกิดขึ้นระหว่างคืนวันที่ 17 และเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า บริเวณสถานที่ที่สดร.จัดให้เฝ้าชมปรากฎการณ์ อย่างยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และสนามกอล์ฟมาเจสติก ครีก คันทรีคลับ รวมถึงที่ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศพบว่า อัตราการตกของฝนดาวตกลีโอนิดส์ตกเฉลี่ย 100-200 ดวงต่อชั่วโมง โดยเห็นมากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 04.00-06.00 น. ของเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน ส่วนการเกิดไฟร์บอล หรือ ดาวตกดวงใหญ่ที่วิ่งผ่านท้องฟ้าคล้ายรางรถไฟนั้นพบมากประมาณ 10-20 ดวงต่อชั่วโมงในช่วงเวลา 02.00-03.00 น. ทั้งนี้ บริเวณที่เห็นฝนดาวตกดังกล่าวได้มากที่สุดคือ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ พบสูงถึง 200-300 ดวงต่อชั่วโมง ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ ทั้งสงขลา ภูเก็ตรวมทั้งพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร กลับพลาดชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากภาคใต้เป็นช่วงลมมรสุม มีฝนตกหนัก ส่วนกรุงเทพฯ สภาพอากาศฟ้าปิด อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ฝนดาวตกลีโอนิดส์มีความสวยงามมาก โดยมีสีต่างๆ ทั้งสีเขียว สีแดง และมีความเร็วสูง ซึ่งเริ่มเห็นครั้งแรกได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.00 น.เศษๆ แต่น่าเสียดายว่า ปีนี้อัตราการตกไม่มากเท่า 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นสามารถเห็นพายุฝนดาวตก และหากต้องการชมพายุฝนดาวตกจะต้องรอไปจนถึงปี 2574 เนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวหางเทมเปล-ทัตเทิล ซึ่งเป็นดาวหางต้นกำเนิดของฝนดาวตกลีโอนิดส์จะมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ในรอบ 33 ปี ส่งผลให้พบฝนดาวตกกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ รศ.บุญรักษา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้จะเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ คาดว่าจะเห็นไม่ต่ำกว่า 100 ดวงภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเคลื่อนที่ช้าและเห็นได้ง่ายกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ ส่วนในช่วงประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม จะเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาบางส่วนที่เห็นได้ในประเทศไทย รวมทั้ง ในวันที่ 15 มกราคมก็จะมีสุริยุปราคาบางส่วนที่เห็นได้ทั่วทั้งประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเห็นชัดในพื้นที่ภาคเหนือ โดยดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ถึงร้อยละ 80 ส่วนในกรุงเทพฯร้อยละ 50
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook