ศธ.เตรียมทดสอบความรู้ครูเป็นรายคน

ศธ.เตรียมทดสอบความรู้ครูเป็นรายคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัย 25 แห่ง ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ศธ. โดยมีระยะเวลาการอบรมพัฒนา 3 ปี พ.ศ. 2553-2555 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะมี 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ประมาณ 40,000 คน จะอบรมให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 เพราะถือว่าผู้บริหารเป็นผู้นำองค์กร และเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องได้รับการอบรมให้มีศักยภาพ และ 2.ครูผู้สอนทั้งสังกัด สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กว่า 400,000 คน ซึ่งการอบรมจะเน้นให้ครูสามารถสอนเด็กให้มีผลสัมฤทิ์ดีขึ้นทุกระดับชั้น โดยจะอบรมให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้จะใช้งบฯในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งประมาณ 8,259 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2553 จำนวน 1,440 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 3,417 ล้านบาท และปี 2555 จำนวน 3,402 ล้านบาท สำหรับกระบวนการอบรมพัฒนาจะเริ่มต้นด้วยการสอบประเมินพื้นฐานความรู้ของครูเป็นรายบุคคล เพื่อไปจัดหลักสูตรการอบรม โดยตนได้มอบแนวทางเบื้องต้นว่า หลักสูตรที่ใช้ต้องสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ที่จะเริ่มใช้ปีการศึกษา 2553 สอดคล้องกับนโยบายที่จะส่งเสริมให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น สอดคล้องกับการเปิดโอกาสให้เด็กเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียนด้วย และในระหว่างการอบรมก็จะมีการทดสอบเป็นระยะ กระทั่งอบรมเสร็จก็จะมีการทดสอบครั้งสุดท้ายอีกรอบ หลังจากนั้นจะมีกระบวนการติดตามผลสัมฤทธิ์ของครูที่มีต่อการสอนเด็กด้วย ทั้งนี้การทดสอบจะเริ่มเป็นรายวิชาพร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือนธันวาคมนี้ โดยผลการประเมินจะไม่เป็นความลับ

ด้าน ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประเมินพื้นฐานความรู้ของครู จะพยายามทำให้เป็นระบบที่เป็นมาตรฐาน โดยตัวแบบทดสอบ จะวัดสมรรถนะของครูในทั้ง 8 กลุ่มสาระ ส่วนการบริหารการสอบจะเป็นหน้าที่ของ สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะออกแบบระบบการสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และมีการตรวจข้อสอบโดยผู้เชี่ยวชาญในเขตพื้นที่.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook