สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 8 เน้นควบคุมโรคเรื้อรัง และให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็น

สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 8 เน้นควบคุมโรคเรื้อรัง และให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครบรอบ 7 ปี การก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมสานต่องานปีที่ 8 เน้นควบคุมโรคเรื้อรัง ลดโรคค่าใช้จ่ายสูง และให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็น นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวถึงวันครบ 7 ปีของการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ภายหลังจากมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สปสช.ได้เดินหน้าสร้างหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศร้อยละ 99.18 หรือ 47 ล้านคน ที่ได้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพในการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีโครงการหลักประกันสุขภาพรัฐบาลได้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,202 บาทต่อประชากร ในปี 2545 และล่าสุดเพิ่มเป็น 2,401.33 บาทต่อประชากร ในปี 2552 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83 ตลอด 7 ปี พบประชาชนมาใช้บริการสาธารณสุขเฉลี่ยผู้ป่วยนอกปีละ 120 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในปีละ 5 ล้านคน มีการดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังและค่าใช้จ่ายสูงอย่างทั่วถึง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็ง การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดหัวใจ และการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ขณะที่การส่งเสริมป้องกันโรคให้คนไทยมีการตรวจคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรค เฉลี่ยปีละ 8 ล้านคน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน และการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน โดยผลสำรวจความพอใจของประชาชนจากสำนักโพลล์ต่างๆ พอใจมากกว่าร้อยละ 80 และเพื่อความพอใจที่เพิ่มขึ้น ในการก้าวสู่ปีที่ 8 นี้ สปสช. จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังเบาหวานและความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพคนไทย นำไปสู่โรครุนแรงอื่นๆ ตามมา การขยายให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงยาจิตเวชที่จำเป็น 2 รายการ การปรับระบบบริการผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อลดการรอคิวและเพิ่มคุณภาพบริการเพื่อให้ผู้ป่วยโรคนิ่วเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดภาวะการนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยโรคไตครบวงจร รวมถึงการเจรจาเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาจำเป็น แต่มีราคาแพง และมุ่งเน้นการบริหาร สปสช.ให้เป็นองค์กรโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ เพื่อการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook