ภัยพิบัติถล่มแหล่งอาหารโลก

ภัยพิบัติถล่มแหล่งอาหารโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วัดกึ๋นรัฐฉวยโอกาสทองค้าข้าว

ทอล์กออฟ เดอะ ทาวน์ กันครึกโครมทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ที่น่าแปลกใจ คือในเร็ว ๆ นี้ คนจำนวนไม่น้อยคาดกันว่า กระแสยุคคนตื่นข้าว จะเข้ามาแทนคนตื่นทอง เพราะ ข้าวกำลังจะแพงกว่าทองคำ

หากจำกันได้เมื่อต้นปีที่แล้ว ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารในบ้านเรา เคยทะยานขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ แพงกว่าทองคำมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารไปทั่วโลก พื้นที่เพาะปลูกข้าวในหลายประเทศโดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวรายใหญ่อย่างอินเดีย เวียดนาม อียิปต์ และพม่า ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ อุทกภัย และพายุพัดถล่ม จนทำให้ผลผลิตข้าวลดลง สวนทางกับจำนวนประชากร และความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศในขณะนั้น เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมถึงหลายประเทศในกาฬทวีป พากันแย่งซื้อข้าว นำไปสต๊อกเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศตัวเอง ทำให้ราคาข้าวช่วงปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 ขยับสูงขึ้นแบบพรวดพราดจากราคาตันละไม่กี่พันบาทเป็นหลายหมื่นบาท จนถึงขั้นที่แม่ทัพเศรษฐกิจ อย่างมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต้องประกาศเตือนชาวนาอย่าเพิ่งรีบขายข้าว หวังไม่ให้หลงเหลี่ยมพ่อค้า เพราะราคาข้าวหอมมะลิจะทะลุเกวียนละ 30,000 บาท กลายเป็นข่าวสร้างความเกรียวกราวไปทั่ว

แต่ในไม่ช้าราคาข้าวก็พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้จริง ในช่วงเดือน เม.ย. ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิขณะนั้นตกตันละ 1,100-1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวขาว 100% (ชั้น 2) ตันละ 900-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวขาว 25% ตันละ 800-850 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวในประเทศ ข้าวหอมมะลิ ตันละ 35,500 บาท, ข้าวขาว 100% (ชั้น 2) ตันละ 27,000 บาท และข้าวขาว 25% ตันละ 24,990 บาท

ต่อมาเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง 51 ราคาข้าวเริ่มปรับฐานและลดลง ตามความต้องการข้าวในตลาดที่ลดลง ประกอบกับมีผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้นเป็นการยุติยุคทองของชาวนาลง

แต่ถึงอย่างไรแล้ววิกฤติการณ์ขาดแคลนอาหารเมื่อปี 51 ได้สร้างบรรทัดฐานราคาข้าวใหม่ให้กับไทย เพราะราคายังทรงตัวในระดับสูงกว่าอดีตค่อนข้างมาก โดยข้าวเปลือกเจ้าทรงตัวเฉลี่ยตันละ 8,000-12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิเกินตันละ 15,000 บาท ช่วยพลิกฟื้นชีวิตอาชีพชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ ให้ลืมตาอ้าปากได้

วกกลับมาเข้าสู่สถานการณ์ปัจจุบัน ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ผลพวงจากการเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน สร้างความเสียหายลุกลามไปถึงพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ทำให้คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกในฤดูกาล 2552/53 น่าจะลดลงจากปีที่แล้วอีกหลายล้านตัน สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหาร และทำให้โอกาสที่ราคาข้าวจะแพงกว่าทองเกิดขึ้นได้อีกครั้ง

พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เป็นคนแรกที่จุดกระแสว่า ข้าวไทยจะราคาขึ้น โดยยืนยันว่าจากนี้ไม่ต้องห่วงปัญหาข้าวราคาตก และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นแน่ นอน เพราะจากการสำรวจสภาวะความต้องการข้าว และปริมาณผลผลิตทั่วโลกที่เสียหายจากภัยพิบัติ เชื่อว่าหลายประเทศจะมีความต้องการสั่งซื้อข้าวมากขึ้น ชาวนาจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะขายข้าวไม่ได้

เช่นเดียวกับ วิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้ความเห็นว่าในปี 2553 ทั่วโลกจะเผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหารอีกระลอก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้าข้าวมีโอกาสแพงขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหลายประเทศ ได้ รับความเสียหาย อินเดียผลผลิตข้าวในประเทศเสียหาย 15-16 ล้านตันและห้าม ส่งออก ขณะที่อียิปต์ลดพื้นที่ปลูกข้าวเพราะน้ำใต้ดินมีปัญหา ออสเตรเลียที่เคยส่งออกข้าวได้หันกลับมานำเข้า รวมถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เจอมรสุมแผ่นดินไหว ก็มีความต้องการซื้อข้าวมากขึ้น ส่วนเวียดนามก็เจอมรสุม ผลผลิตข้าวเสียหาย ซึ่งเห็นได้จากตอนนี้เริ่มที่จะเปิดประมูลซื้อข้าวเก็บสต๊อกแล้ว เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศตัวเอง

ไม่ใช่เพียงแค่ แวดวงวงการข้าวของคนไทยเท่านั้น กระแสคนตื่นข้าวในต่างประเทศก็รุนแรงไม่แพ้กัน ข่าวสารหลายทางฟังธงว่าข้าวกำลังจะสู่ช่วงขึ้น อย่างสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก ปัญหาภัยแล้งในอินเดีย อุกทกภัยในฟิลิปปินส์ และน่าจะปรับขึ้นสูงสุดช่วงเดือน มี.ค. ขณะที่โบรกเกอร์ค้าขาวรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อย่าง ไรซ์ เทรดเดอร์ คาดว่าราคาข้าวมีแนวโน้มตึงตัวกว่าปี 2551 จากภาวะขาดแคลนอาหาร จนกลายเป็นชนวนให้เกิดการจลาจลไล่ตั้งแต่ เฮติ ถึง อียิปต์ ส่วนราคาข้าวไทยเชื่อว่าใน 3 เดือนข้างหน้า จะขึ้นไปอีก 20% และมีความเป็นไปได้ที่ราคาในตลาดโลกจะขยับทำลายสถิติสูงสุดที่ตันละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐในอนาคตอันใกล้

เหตุผลสำคัญมากจากอุปสงค์ อุปทานข้าวทั่วโลกปีนี้มีความขัดแย้งกัน และมีความคล้ายคลึงกับช่วงข้าวแพงในปี 2551 อย่างมาก โดยย้อนไปปี 2551 ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรของสหรัฐปีนี้ระบุว่า สต๊อกข้าวทั่วโลกปี 51 ลดต่ำสุดเห 72.1 ล้านตันขณะที่ผลผลิตข้าวทั้งโลกจะมี 420.6 ล้านตัน ต่ำกว่าความต้องการบริโภคข้าวในโลกที่มีประมาณ 423.7 ล้านตัน หรือต่ำกว่า 0.7% เปรียบเทียบกับประมาณการณ์ผลผลิตข้าวสารในฤดูกาล 52/53 ทั่วโลกจะมีปริมาณผลผลิต 433.6 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน ประมาณ 2.70% ขณะที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 438.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.72% ที่สำคัญปริมาณสต๊อกสำรองข้าวทั่วโลกยังลดเหลือ 85.9 ล้านตัน ลดลง 5.30%

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าสมาคมได้ประเมินแนวโน้มราคาส่งออกข้าวพบว่ามีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่อง จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และราคา ณ วันที่ 18 พ.ย. 52 ราคาส่งออกข้าวก็เพิ่มขึ้นทุกรายการโดยข้าวหอมมะลิชั้น 1 ตันละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนตันละ 1,077 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวหอมปทุมธานีตันละ 770 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 764 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวสาร 100% ชั้น 2 ตันละ 561 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 542 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวสาร 5% ตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากตันละ 511 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวสาร 10% ตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 557 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวนึ่ง 100% ตันละ 592 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 588 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนการค้าข้าวของโลกในปี 2552/ 53 มีการคาดว่า จะมีปริมาณการซื้อขาย 29.54 ล้านตัน เพิ่มจากปีที่แล้วมีปริมาณ 28.30 ล้านตัน ประมาณ 4.4% โดยประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อิรัก ซาอุดีอาระเบีย คิวบา แอฟริกาใต้ สหภาพยุโรป และบังกลาเทศ มีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มจากปีก่อน ล่าสุด อินเดียซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลก ประกาศว่าปีนี้จะไม่ส่งออกข้าว เพราะสต๊อกข้าวลดลง 15 ล้านตัน และในเร็ว ๆ นี้ ต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 2 ล้านตัน ขณะที่ฟิลิปปินส์ ก็เตรียมประกาศนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 1.2 ล้านตัน ในเดือนธ.ค. นี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนด้านผู้ส่งออกกลับจะตอบสนองไม่ได้มากนักเพราะ อุรุกวัย อียิปต์ เวียดนาม จะส่งออกลดลง มีเพียงไทย จีน ปากีสถาน และอาร์เจนตินา เท่านั้นที่ส่งออกเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ประโยชน์ในการส่งออก และกำหนดราคาข้าวได้ดีขึ้น เพราะผลผลิตข้าวไทยไม่ได้รับผลกระทบ แถมยังเพิ่มขึ้นอีก 3.09% หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร จึงทำให้การส่งออกปีหน้าจะเพิ่มจากปีนี้ 8.5-9 ล้านตัน เป็น 9.5-10 ล้านตัน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปริมาณการส่งออก และความต้องการข้าวที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการที่รัฐใช้มาตรการเข้าไปดูแลราคาข้าว ก็ทำให้ราคาข้าวเปลือก และข้าวในประเทศขยับขึ้นมาตันละไม่ต่ำกว่าพันบาท ส่งผลให้ชาวนาได้ประโยชน์อย่างมาก

ข้อมูลราคาข้าวในประเทศ จากกรม การค้าภายในวันที่ 20 พ.ย. 52 ระบุว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตันละ 13,500-14,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 9,000-9,400 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 9,500-10,300 บาท ข้าวเปลือกเหนียวชนิดคละ ตันละ 7,200-7,400 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,800-10,500 บาท โดยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นเดือนที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตันละ 13,000-15,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 8,500-9,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 8,900-9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,900-9,000 บาท

นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เชื่อว่า หากราคาข้าวขึ้นจริงก็ถือเป็นเรื่องดี ที่ชาวนาจะมีโอกาสลืมตาอ้าปากอีกครั้ง เพราะเมื่อข้าวราคาดีก็มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถนำไปปลดหนี้ พัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้นมา แต่สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือในช่วงที่ราคาข้าวแพง คือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารราคาข้าวให้ชาวนารับทราบทันท่วงที ว่าราคาจะขึ้นลงอย่างไร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนายทุนเข้ามาหลอกซื้อ ปล่อยข่าวกดราคาข้าวจากชาวนาเหมือนอดีต

สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ขณะนี้ ที่มีข่าวว่าบรรดาโรงสีข้าว กลุ่มนายทุน ได้เริ่มเข้าไปกว้านซื้อข้าวจากชาวนาแล้ว โดย ผู้ประกอบการโรงสีในภาคกลางส่วนใหญ่แย่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในภาคอีสาน และภาคเหนือ เพื่อตุนไว้รอขายทำกำไรในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยขณะนี้แนวโน้มราคารับซื้อข้าว 5% ตกตันละ 9,000-9,500 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิตันละ 14,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของรัฐบาล เพราะประเมินว่า ราคาข้าวในอนาคตมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยราคา ข้าวเปลือกเจ้าอาจขยับสูงถึง 12,000-14,000 บาท และราคาข้าวหอมมะลิ อาจสูงถึงตันละ 18,000 บาท

นอกจากนี้ สิ่งที่เหล่าชาวนาเป็นกังวลก็คือ ถ้าราคาข้าวขึ้นแต่ผลกำไรจะได้ไม่มากเท่าไร เพราะต้นทุนการผลิตอื่น ๆ อาจฉวยโอกาสขอขึ้นราคาตามน้ำได้อีก เหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาปุ๋ยเคยปรับขึ้นไปกว่า 2 เท่าตัว จนทะลุกระสอบละ 1,000 บาท รวมถึงยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์พืชก็กลายเป็นของหายาก และราคาแพงขึ้นมาทันตาเห็น และราคาเช่าที่ดินก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แถมมีการเรียกเก็บเป็นรายฤดูนา ไม่ใช่รายปี เหมือนแต่ก่อน

ที่สำคัญในขณะที รัฐจำเป็นต้องวางแผนยุทธศาสตร์รับมือข้าวแพงชัดเจนทั้งด้านคุณภาพมาตรฐาน และแนวโน้มการตลาดในอนาคต เพราะกังวลในกระแสราคาข้าวแพง หากชาวนาหันมาเร่งลงทุนปลูกข้าวกันจำนวนมาก แต่ในอนาคตบังเอิญสถานการณ์วิกฤติข้าวคลี่คลาย และราคาลดลงสู่ภาวะปกติ จะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำตามมา กลายเป็นเกิดความวุ่นวาย และภาระของรัฐบาลต้องหาทางและงบประมาณเข้าไปแทรกแซงราคาหลายหมื่นล้านบาทอีก

รวมทั้งหากมีการเพิ่มรอบในการเร่งปลูกข้าวกันมาก ก็กลัวกันว่าคุณภาพข้าวจะแย่ลง ซึ่งเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของข้าวไทย จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลต้องวางยุทธศาสตร์และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับเกษตรกรให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้เพาะปลูกกันไปตามกระแส ตามเรื่องราว จนเป็นต้นตอของปัญหาในอนาคต

อีกมุมหนึ่งคือผลกระทบด้านประชาชน ที่มีความกังวลว่าจะต้องเผชิญเคราะห์กรรม ต้องกินข้าวแพงขึ้นและข้าวขาดตลาดเหมือนในอดีตอีกหรือไม่ ที่ข้าวถุงตามร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ และร้านค้าทั่วไป หายวับไม่มี ให้เลือกซื้อ หรือหากมีราคาก็พุ่งไปแพงมาก จนต้องไปต่อคิวเข้าซื้อโครงการข้าวถุงจากรัฐบาล ซึ่งถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลห้าม มองข้าม เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของไทย ที่มีปริมาณการบริโภคปีหนึ่งหลายล้านตันและเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตสินค้าอีกหลายชนิด

สุดท้ายกับนโยบายบริหารสต๊อกข้าว 5.9 ล้านตัน ที่ตั้งข้อสังเกตกันว่าจะเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนเมื่อต้น ปี 51 ที่รัฐบาลตัดสินใจเก็บสต๊อกข้าวไว้ ไม่ยอมระบายข้าวในขณะที่ราคาสูง จนทำให้ เสียโอกาสทำกำไร และเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชั่นให้ประเทศเสียหายในช่วงเวลาต่อมา

เห็นได้ชัดว่า แม้ทิศทางราคาข้าวสาร และข้าวเปลือกกลับจะเข้าสู่ยุครุ่งเรือง เข้าสู่ยุคทองของชาวนาอีกรอบ แต่หลายฝ่ายก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าประเทศไทยจะฉวยโอกาสจากสถานการณ์ข้าวแพงได้อย่างไร ชาวนากว่า 4 ล้านครัวเรือนได้รับประโยชน์เต็มที่แค่ไหน หรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือพ่อค้ากับนายทุนเหมือนเดิม ส่วนประชาชนต้องยอมรับสภาพซื้อข้าวแพงขึ้นอีกหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นการบ้านใหญ่ที่รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องคอยติดตามจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ให้ลงตัว.

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับข้าวไทย

- ประเทศไทยเริ่มค้าข้าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ในช่วง 50 ปีแรกมีปริมาณส่งออกไม่มากนัก ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา การส่งออกข้าวมีปริมาณสูงขึ้น และทำสถิติส่งออกสูงสุด 10 ล้านตันเมื่อปี 2551

- ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 60 ล้านไร่ มีชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน

- ทั่วโลกมีความต้องการข้าวความต้องการบริโภคของโลกประมาณ 430 ล้านตัน

- ข้าวส่งออก ที่สำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100% ปลายข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ข้าว 5% ข้าว 25% ข้าวเหนียว และข้าวนึ่ง

- แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้ปลูกข้าวมากที่สุด แต่ไทยคือผู้ส่งออกมากสุดในโลก มีส่วนแบ่งตลาด 36% สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 2 แสนล้านบาท ส่งออกเฉลี่ยปีละ 8-10 ล้านตัน รองลงมาเป็นเวียดนาม อินเดีย สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน

- รูปแบบการส่งออกข้าวไทย เป็นลักษณะการค้าแบบเสรี ได้แก่ ผู้ส่งออกตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ และการส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

- ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวไปขายทั่วโลก 173 ประเทศ ตลาดหลักของข้าวไทยอยู่ในทวีปเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรป และโอเชียเนีย

ทีมเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook