รัฐบาลญี่ปุ่นหวั่นเงินฝืดขวางเศรษฐกิจฟื้น

รัฐบาลญี่ปุ่นหวั่นเงินฝืดขวางเศรษฐกิจฟื้น

รัฐบาลญี่ปุ่นหวั่นเงินฝืดขวางเศรษฐกิจฟื้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับ เศรษฐกิจในประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเต็มตัวแล้ว ขณะบีโอเจตรึงดอกเบี้ยตามคาด

ายนาโอโตะ คัง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจและการคลังญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์วานนี้ (20 พ.ย.) ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเต็มตัวแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่น จะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างจริงจัง พร้อมกับเรียกร้องให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ให้ความสำคัญกับสถานการณ์เงินฝืด และภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ทางด้านนายฮิโรชิสะ ฟูจิอิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า เขารู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่น และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นจะ หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดเมื่อใด แม้ว่ารัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคสาธารณะไปในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะหนุนดัชนีราคาผู้บริโภคและราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น

นายฟูจิอิ กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญ ความเสี่ยงรุนแรง อันเนื่องมาจากภาวะเงินฝืด สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ภาวะเงินฝืดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเมื่อดูจากหลักการด้านนโยบายการเงินและคลังในปัจจุบัน นับว่าอ่อนเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้

ขณะเดียวกัน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะ หดตัว 5.3% ในปีนี้ ก่อนขยายตัว 1.8% ในปีหน้า แสดงความกังวลว่า ภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อมานาน อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น พร้อมกับแนะนำว่า บีโอเจควรหาทางต่อสู้กับภาวะเงินฝืด ด้วยการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป และซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น

ในการประชุมระยะ 2 วันที่เสร็จสิ้นวานนี้ (20 พ.ย.) คณะกรรมการกำหนดนโยบายของบีโอเจ มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.1% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ และยกระดับการประเมินเศรษฐกิจเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยระบุว่า "เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว" ซึ่งเป็นการประเมินในทิศทางบวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อนที่ระบุว่า "เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว"

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่น ขยายตัว 4.8% ต่อปี เมื่อไตรมาสสาม เป็นการขยายตัวติดต่อกันสองไตรมาส และเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งสุดในรอบ 2 ปี แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคดิ่งหนักสุดในรอบ 51 ปี บ่งชี้ว่า แม้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ญี่ปุ่นยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook