รับฟ้อง ธีรเดช กับพวกทำเรื่องขอขึ้นเงินเดือน

รับฟ้อง ธีรเดช กับพวกทำเรื่องขอขึ้นเงินเดือน

รับฟ้อง ธีรเดช กับพวกทำเรื่องขอขึ้นเงินเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลรับฟ้องคดี พล.อ.ธีรเดช อดีตปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภากับพวก ทำเรื่องขอขึ้นเงินเดือนตัวเอง

วันนี้( 23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อายุ 67 ปี อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา, พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อายุ 70 ปี ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 86

อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 29 ก.ค.- 30 ก.ย.47 นายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 และ พล.อ.ธีรเดช จำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ร่วมกับนายปราโมทย์ จำเลยที่ 3 เลขาธิการผู้ตรวจแผ่นดินฯ ขณะนั้น ได้ให้ความช่วยเหลือและความสะดวก แก่จำเลยที่ 1-2 ในการจัดทำร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 โดยจำเลยที่ 3 นำร่างระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 ที่กำหนดค่าตอบแทนลักษณะเหมาจ่ายเดือนละ 20,000 บาท ที่เป็นข้อกำหนดที่ออกโดยมิชอบมาอ้างอิงเป็นต้นแบบเพื่อออกร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดังกล่าว

จากนั้นวันที่ 30 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-2 ให้ความเห็นชอบออกใช้เป็นระเบียบและมีการประกาศใช้โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.47 ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ก.ค.-ก.ย.47 ให้พวกจำเลย เดือนละ 20,000 บาท จำนวน 3 เดือน รวม 60,000 บาท ทั้งที่พวกจำเลยไม่มีอำนาจ ซึ่งการที่จะออกระเบียบจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ เป็นรายเดือนลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษลักษณะควบกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งนั้น จะต้องออกเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 253 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ.2542 มาตรา 5 บัญญัติไว้เท่านั้น โดยต้องผ่านคณะรัฐมนตรีเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายใช้บังคับ

ภายหลังจำเลย ได้คืนเงินคนละ 60,000 บาทให้แก่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีดำหมายเลข อ.4290 / 2552 โดยนัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 8 ก.พ.53 เวลา 09.00 น. ต่อมาญาติๆจำเลยใช้ตำแหน่ง พร้อมเงินสด เป็นหลักทรัพย์ ยื่นขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพวกจำเลย โดยตีราคาประกันคนละ 1.2 แสนบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook