สวทช.หนุนทุนนักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวิธีการทำหมันสุนัขรูปแบบใหม่

สวทช.หนุนทุนนักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวิธีการทำหมันสุนัขรูปแบบใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สวทช.สนับสนุนทุนนักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวิธีการทำหมันสุนัขรูปแบบใหม่ หวังลดปัญหาโรคเรื้อรังพิษสุนัขบ้าและสุนัขจรจัดในประเทศกว่า 4 ล้านตัว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาสุนัขจรจัดสูงถึง 4-5 ล้านตัว ซึ่งมักพบเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้เป็นปัญหาสังคมอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบ ในแต่ละปีต้องมีผู้ที่ถูกสุนัขกัดและฉีดวัคซีนป้องกันปีละกว่า 500,000 ราย ค่าใช้จ่ายสูงถึงหลายร้อยล้านบาทต่อปี ดังนั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย 20 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวิธีการทำหมันสุนัขเพศผู้ ด้วยการฉีดสารละลายซิงค์กลูโคเน็ต (Zinc Gluconate) หรือสารสังกะสี ที่ผสมกับกรดอะมิโน ฉีดเข้าในลูกอัณฑะทั้ง 2 ลูก ซึ่งจะไปทำลายเซลล์อสุจิ ทำให้ลูกอัณฑะมีขนาดเล็กลง ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีก็กลับบ้านได้ทันที ขณะที่วิธีเดิมที่ใช้วิธีตอนต้องตัดอัณฑะทิ้งและใช้เวลาพักฟื้น 3-4 วัน ถึงจะหายเป็นปกติ อีกทั้ง ยังมีค่ารักษาหลายพันบาท เบื้องต้นทีมวิจัยได้ร่วมกับบริษัทเอกชนเอ็มแอนด์เอส ทดสอบในห้องทดลองพบว่าวิธีทำหมันที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ได้ผลดี และยังใช้ได้กับสุนัขทุกช่วงอายุ ตั้งแต่น้อยกว่า 13 เดือน รวมทั้ง ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกและองค์กรพิทักษ์สัตว์ตรวจสอบแล้วว่า สุนัขที่ได้รับการฉีดในลูกอัณฑะมีสุขภาพดี ที่สำคัญยังคงความเป็นเพศผู้ ไม่อ้วน และยังสามารถเฝ้าบ้านได้ มีปฏิกิริยาของเพศชาย แต่ลดความดุร้ายลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดปัญหากรมปศุสัตว์ ไม่ใช้วิธีดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องการเสนอรัฐบาลพิจารณาใช้วิธีดังกล่าว โดยทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทีมนักวิจัยได้ตกลงร่วมกับบริษัทเอ็มแอนด์เอสที่เป็นผู้ผลิตยาว่าใน 50,000 โดสแรก ไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนแสนโดสคิด 25 บาท และหากเกิน 200,000 โดส ก็จะคิดไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาต้นทุน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสุนัขจรจัดในระยะยาวและยังช่วยลดงบประมาณให้ถูกลงด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook