น้องณีแนะแบ่งเกรดนักกีฬา

น้องณีแนะแบ่งเกรดนักกีฬา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เสวนาคนวงการคึกเห็นพ้องรัฐต้องช่วย

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานเปิดการเสวนาสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยดและสื่อมวลชน เรื่องอนาคตของนักกีฬาทีมชาติไทย...ใครรับผิดชอบที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค เมื่อ 25 พ.ย.โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการกีฬา,ผู้แทนสมาคมกีฬา,นักกีฬา-อดีตนักกีฬาทีมชาติไทย และสื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า นักกีฬาต้องรู้จักตัวเองตั้งแต่เริ่มที่จะเล่นกีฬาเพราะต้องเล่นชนิดกีฬาที่ตนเองชอบและถนัดที่สุด จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ จากนั้นในระหว่างเล่นกีฬายังจะต้องบริหารจัดการในเรื่องของการเรียนหนังสือด้วย ซึ่งนอกจากนักกีฬาจะมีการจัดสรรเวลาในการฝึกซ้อมและเรียนหนังสือให้ประสบความสำเร็จแล้ว หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องมีแนวทางในการให้การสนับสนุนนักกีฬาที่สอดคล้องกันด้วย จากนั้นในช่วงก่อนที่จะเลิกเป็นนักกีฬาก็ต้องมีการวางแผนชีวิตล่วงหน้าด้วยว่าจะมีการต่อยอดอาชีพกีฬาของตัวเองอย่างไร

พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิม ปิคฯ กล่าวว่า โอลิมปิคไทยและการกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้พยายามผลักดันมาตลอด ทั้งเรื่องเงินรางวัลของนักกีฬา เพื่อให้ขวัญและกำลังใจนักกีฬาดีและด้านการศึกษา ซึ่งมีหลายสถาบันให้ความช่วยเหลือให้เข้าเรียน ถ้ามองในภาพรวมนักกีฬาที่ไปได้ดียังมีมากกว่า มีเพียงส่วนน้อยที่มีปัญหา ถ้าเป็นไปได้สมาคมกีฬาควรหา สวัสดิการเพื่อช่วยนักกีฬาด้วย

พล.อ.ทวีป จันทรโรจน์ นายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือนักกีฬาจะผลักภาระไปให้รัฐบาลรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่ทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะสมาคมกีฬา ที่ต้องเข้ามารับผิดชอบอย่างเต็มตัว ซึ่งกรณีของสมาคมมวยสากลฯ ได้วางแบบ แผนการบริหารงานในเชิงธุรกิจ นักชกที่ได้เหรียญรางวัลนอกจากจะได้รับเงินอัดฉีดแล้ว หลังเลิกเป็นนักกีฬาทีมชาติก็สามารถต่อยอดไปเป็นนักมวยอาชีพหรืออาจจะไปรับราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ฝึกสอน ทั้งนี้ตนยังได้ตั้งมูลนิธิสงเคราะห์นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น เอาไว้ด้วย ซึ่งก่อนที่จะวางมือไปเชื่อว่ามูลนิธิฯ จะมีเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

นายเลอภพ โสรัตน์ ผู้แทนสื่อมวลชน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากนักกีฬากลุ่มหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จหลังจากเลิกเล่น ซึ่งจุดนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะประเทศที่เจริญแล้วก็ปฏิบัติในส่วนนี้อย่างเต็มที่ และอยากจะให้มองย้อนไปถึงแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งมีแบบแผนและเนื้อหาที่ดีมาก แต่กลับนำมาปฏิบัติไม่ได้ ส่วนตัวมองว่าหากภาครัฐได้นำแผนฯ นี้มาปรับปรุงและสานต่อเป็นแผนฯ ฉบับที่ 5 นำมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ถึงขั้นยกให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง เชื่อว่าวงการกีฬาของไทยจะสดใสแน่นอน

น้องณี สุธิยา จิวฉลิมมิตร นักกีฬายิงเป้าบินสาวทีมชาติไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมีตนเองและครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดทั้งเรื่องการเรียน, การหาโค้ชและเข้าร่วมแข่งขัน ที่พ่อกับแม่จะเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด แต่มาถึงตรงนี้ตนอยู่อันดับ 1 ของเอเชียแล้ว มีเป้าหมายจะไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ อยากจะถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะเข้ามารับภาระในส่วนนี้ นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าเมืองไทย น่าจะมีการแบ่งเกรดในการให้การสนับสนุนนักกีฬา เพื่อสร้างแรงจูงใจในการฝึกซ้อมและยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ร.อ.สมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ปี 2008 กล่าวว่า ก่อนอื่นนักกีฬาต้องช่วยตัวเองก่อนทั้งในเรื่อง ของการเรียนและกีฬา ที่ต้องทุ่มเท ขยันฝึกซ้อมอย่างหนัก เราจะต้องสู้ด้วยตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นเข้ามาช่วย จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ที่จะสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงการฝึกซ้อม รวมทั้งเงินอัดฉีดจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่อาจจะได้ช้าแต่นักกีฬาได้รับแน่นอน ส่วนอดีตนักกีฬาทีมชาติ ที่เลิกเล่นไปแล้ว ส่วนตัวอยากให้ กกท. นำกลับมาเป็นผู้ฝึกสอน จัดหาสวัสดิการตามความเหมาะสมให้ด้วยเพราะถือว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพน่าจะนำมาสร้างเยาวชนให้เป็นตัวแทนทีมชาติต่อไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook