สธ.ตั้งเป้าลดคนป่วย-ตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในการระบาดรอบ 2 ให้ได้ 1 ใน 3 ของรอบแรก

สธ.ตั้งเป้าลดคนป่วย-ตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในการระบาดรอบ 2 ให้ได้ 1 ใน 3 ของรอบแรก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ใช้ 2 มาตรการหลักรับมือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ให้ได้มากที่สุด อย่างน้อย 1 ใน 3 ของการระบาดรอบแรก วันนี้ (29 พ.ย.52) ที่ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าแปซิฟิคพาร์ค ศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เปิดงานมหกรรมศรีราชารวมพลัง ร่วมหยุดยั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จัดโดยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีราชา ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างกระแสกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากอำเภอศรีราชา มีนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีพนักงานจำนวนมาก รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวในแต่ละปีจำนวนมาก นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รอบที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2553 เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น สิ่งที่จะทำให้โรคเกิดการระบาดซ้ำและกระจายเป็นวงกว้าง คือ ความไม่รู้หรือความประมาทของประชาชน ขาดความระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในการระบาดรอบนี้ให้ได้มากที่สุดอย่างน้อย 1 ใน 3 ของการระบาดรอบแรก โดยเร่งรัดให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ 2 เรื่องหลัก คือรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชุมชนขนาดใหญ่ มีนิคมอุตสาหกรรม ค่ายทหาร และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศให้เข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งได้ระดมภาคีสุขภาพทั้งภาครัฐ เอกชน รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีสายด่วนหมายเลข 1422 ให้คำปรึกษาประชาชนฟรีตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลทุกระดับเตรียมพร้อม ทั้ง ยา เวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ โดยขณะนี้ทั้งคลินิก โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ ได้ใช้แนวทางตรวจวินิจฉัยรักษาโรคชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ กำหนดพื้นที่การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จัดผู้เชี่ยวชาญปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญตรวจเยี่ยมในพื้นที่ที่พบปัญหา และจัดอบรมพัฒนาบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook