ปภ.แนะวิธีขับขี่อย่างปลอดภัยบนทางด่วน

ปภ.แนะวิธีขับขี่อย่างปลอดภัยบนทางด่วน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนการขับรถบนทางด่วนเสี่ยงอันตรายกว่าเส้นทางปกติ ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะบริเวณทางแยก ทางร่วม ในจุดขึ้น-ลงทางด่วน และวางแผนการเดินทางล่วงหน้า นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การขับขี่รถบนทางด่วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เนื่องจากผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้มากกว่าเส้นทางปกติ อีกทั้งสภาพถนนยังเป็นเส้นทางที่มีระดับสูงกว่าถนนทั่วไป ทำให้เมื่อประสบอุบัติเหตุ รถอาจกระเด็นตกลงมายังพื้นถนนด้านล่าง ทำให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสเสียชีวิตสูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงมีข้อแนะนำวิธีการขับรถบนทางด่วนอย่างปลอดภัย ดังนี้ ก่อนเดินทาง ผู้ขับขี่ควรวางแผนและศึกษาสภาพเส้นทาง โดยเฉพาะจุดขึ้น-ลงทางด่วน เพื่อจะได้เลือกใช้เส้นทางได้อย่างถูกต้องและป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากความไม่ชำนาญเส้นทาง จดจำหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน สำหรับใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสียบนทางด่วน ขณะเดินทาง ผู้ขับขี่ควรหมั่นสังเกตเครื่องหมายจราจรป้ายบอกทาง ป้ายจำกัดความเร็วรถบนทางด่วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่รถในเส้นทางขึ้น-ลงทางด่วนที่เป็นทางเบี่ยง เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ไม่เปลี่ยนช่องทางเดินรถกะทันหันชะลอความเร็ว หรือหยุดรถในระยะกระชั้นชิด อาจทำให้รถที่ตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทันและเกิดอุบัติเหตุรุนแรง รวมทั้งลดความเร็วเมื่อขับผ่านเส้นทางโค้ง เพราะรถอาจหลุดโค้งและกระเด็นตกลงมาด้านล่าง ตลอดจนห้ามใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ อีกทั้งไม่ควรจอดรถหรือหยุดรถบนริมขอบถนนของทางด่วนโดยไม่มีสาเหตุ เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงแล้วยังผิดกฏหมายจราจรอีกด้วย หากจำเป็นต้องหยุดรถ ให้นำรถไปจอดบริเวณจุดพักรถที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้นำรถจอดชิดขอบทางด้านซ้ายและเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน นำป้ายหรือวัสดุสะท้อนแสงมาตั้งไว้ด้านหลังรถ ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อให้สัญญาณเตือนรถคันอื่นทราบจะได้เปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน พร้อมโทรแจ้งศูนย์ควบคุมทางด่วน 0-2664-6400 หรือศูนย์บริการผู้ใช้ทางด่วนพิเศษ 1543 ในทันที สำหรับประเภทรถที่ห้ามขึ้นทางด่วนได้แก่ 1.รถบรรทุกที่ไม่มีหลังคาปิดมิดชิดบรรทุกคนหรือสิ่งของ และรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกฏหมายที่กำหนด 2.รถจักรยานล้อเลื่อน 3.รถจักรยานยนต์ 4.รถยนต์สามล้อ 5.รถแทร๊กเตอร์และรถบดถนน 6.รถที่ใช้เฉพาะเพื่อการโฆษณา 7.รถฝึกหัดขับหรือทดลองเครื่อง 8.รถที่มีขนาดความสูงของตัวรถ หรือความสูงของสิ่งของที่บรรทุกวัดจากพื้นถนนเกิน 4 เมตร หรือมีความกว้างของตัวรถรวมสิ่งของ 2.5 เมตร และมีรัศมีวงเลี้ยวเกิน 12 เมตรรวมทั้งรถยนต์กระบะที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และบรรทุกคนโดยไม่มีหลังคา นอกจากนี้ผู้ขับขี่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทางเพราะความประมาทเลินเล่อเพียงเสี้ยววินาที อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook