ไทย-กัมพูชา จากอดีตถึงปัจจุบัน : ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข

ไทย-กัมพูชา จากอดีตถึงปัจจุบัน : ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก่อนจะเกิดความขัดแย้ง ไทยและกัมพูชามีความร่วมมือต่อกันมากมาย ดังที่สำนักข่าวแห่งชาติได้เสนอไปแล้วถึงความสัมพันธ์ด้านการค้า โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีมูลค่ามหาศาล ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ ไทยและกัมพูชามีความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และการสาธารณสุขอย่างดีต่อกันอีกด้วย วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์-การท่องเที่ยว วันที่ 31 ตุลาคม 2546 ได้มีความร่วมมือครั้งสำคัญด้านวัฒนธรรม ประวัติ และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชา คือได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสมาคมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา โดยมีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้าใจในระดับประชาชนต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ในปี 2550 ประเทศไทยได้ประกาศว่ามีความพร้อมขยายความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวกับกัมพูชา โดยในขณะนั้นนายนายเตช บุนนาค ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาคมวัฒนธรรมไทย -กัมพูชา ได้นำคณะ ผู้แทนไทยไปร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการร่วมไทย - กัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ ผู้แทนจากอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสมาคมฯ และมีแผนที่จะดำเนินโครงการร่วมกันในกรอบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวในปี 2549 และ 2550 ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อขยายความร่วมมือและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยในขณะนั้นมีแผนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ดังนี้ คณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านวัฒนธรรมไทยและกัมพูชามีโครงการจะร่วมกันจัดพิมพ์พจนานุกรมไทย เขมร และพจนานุกรมเขมร ไทย รวมทั้งแปลและจัดพิมพ์นิทานพื้นบ้านกัมพูชาฉบับภาษาไทย คณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านประวัติศาสตร์ทั้งงฝ่ายมีแผนดำเนินการแปลและจัดพิมพ์ศิลาจารึกสุโขทัย ฉบับภาษาเขมร และศิลาจารึกพระชัยวรมันที่ 7 ฉบับภาษาไทย รวมทั้งจะดำเนินการแปลและจัดพิมพ์พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ฉบับภาษาเขมร นอกจากนั้น กำลังเตรียมแผนศึกษาแบบเรียนด้านประวัติศาสตร์ชั้นประถม มัธยมของไทยและกัมพูชา คณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านการท่องเที่ยว ไทยและกัมพูชาจะร่วมกันจัดทำวารสารท่องเที่ยว "Two Kingdoms, One Destination คู่มือข้อควรรู้ด้านวัฒนธรรมไทย สำหรับนักท่องเที่ยวกัมพูชา และจัดการฝึกอบรมมักคุเทศก์ของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมของไทยและกัมพูชา โดยหากแผนการดำเนินงานดังกล่าวไม่ชะงักและสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะตกแก่ประชาชนชาวไทยและชาวกัมพูชาทุกคน ที่จะมีความรัก ความสามัคคี ความเข้าใจอันดี และมีความเกื้อกูลต่อกันมากขึ้น การศึกษาและการสาธารณสุข หลังจากปะทุความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้มีเสียงแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีการรับนักศึกษากัมพูชาเข้ามาศึกษาในประเทศไทย ในการนี้ รศ.โกวิท เชื่อมกลาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า กรณีรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันจนเกิดสถานการณ์ตึงเครียดอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับ โครงการความร่วมมือเพื่อการศึกษาทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการนักเรียนทุนพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานทุน ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยกัมปงเชอร์เตียน จังหวัดกัมปงทม และ โครงการความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ กับวิทยาลัยในพนมเปญประเทศกัมพูชา โดยได้ส่งนักศึกษาเข้ามาศึกษาในภาควิชาต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ โครงการละ 10 คนต่อปี เพื่อให้นักศึกษาชาวกัมพูชาได้รับความรู้ด้านสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ สาธารณสุขชุมชน และ สาขาบรรณรักษ์ศาสตร์ หรือ สาขาสารสนเทศศาสตร์เป็นต้น เพื่อจะได้นำความรู้ไปปฏิบัติภารกิจหรือรับราชการในท้องถิ่นจังหวัดของตัวเอง ที่ประเทศกัมพูชาต่อไป ในด้านการสาธารณสุข ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่ากัมพูชา ไม่ว่าจะในด้านบุคลากร สถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ จึงได้มีความช่วยเหลือแก่กัมพูชาเสมอมา เช่น โครงการควบคุมโรคมาลาเรียตามแนวชายแดน ซึ่งประเทศไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชาทั้งในส่วนของยารักษาโรคและการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ โดยทางการไทยมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสาธารณสุข โดยได้รับคำยืนยันจาก นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าประเทศไทยให้ความช่วยเหลือประเทศกัมพูชาในด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม แม้แต่ในยามสงครามเป็นศัตรูกันยังหยิบยื่นยาให้กันได้ ดังนั้น ไม่อยากให้นำเรื่องของสุขภาพประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ทางการเมือง เพราะอย่างไรประชาชนของทั้ง 2 ประเทศก็ถือเป็นคนในประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกันและประเทศไทยถือว่ามีความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขมากที่สุดในภูมิภาค เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาอย่างละเอียด จะเห็นได้ชัดว่า แม้รัฐบาลทั้งสองจะเกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งระหว่างกัน แต่ในระดับอื่น ๆ กลับยังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์ไว้ต่อกันอย่างเหนียวแน่นที่สุด ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ปัญญาชน จนถึงระดับความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่ต่างต้องเกื้อกูลต่อกัน ทั้งในฐานะเพื่อนบ้าน และผู้มีสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน สิ่งเดียวที่ประชาชนทั้งสองประเทศหวังเหมือน ๆ กันก็คือ ทางออกสู่ข้อยุติของความขัดแย้ง อันจะนำประโยชน์และความปกติสุขกลับมายังพี่น้องประชาชนชาวไทยและกัมพูชาทุกคนในเร็ววัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook