ศาลปกครองเบรคมาบตาพุด

ศาลปกครองเบรคมาบตาพุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมคณะรวม 7 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 43 คน (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) บริษัท เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด และผู้มีส่วนได้เสียในการลงทุนโครงการมาบตาพุด จ.ระยอง 36 คน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ และพวก สั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรมลงทุนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และบริเวณใกล้เคียง 76 โครงการ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

นายเกษม คมสัตย์ธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่า เมื่อพิจารณาเบื้องต้นตามประเภทลักษณะของโครงการ หรือกิจกรรมแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บางโครงการ หรือกิจกรรมไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างชัดเจน แต่เป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่มุ่งควบคุม หรือบำบัดมลพิษ หรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเท่านั้น จึงยังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ได้แก่ โครงการ หรือกิจกรรมประเภทอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ลำดับที่ 16 โครงการเชื้อเพลิงสะอาด และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผู้ลงทุน บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)

ลำดับที่ 22 โครงการปรับปรุงระบบหมุนเวียนก๊าซกลับคืนของโรงงานผลิตพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน ผู้ลงทุน บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอร์ส จำกัด ลำดับที่ 37 โครงการผลิตเชื้อเพลิงสะอาดติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล ผู้ลงทุน บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ลำดับที่ 41 โครงการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล ผู้ลงทุน บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) ลำดับที่ 45 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ โรงงานผลิต PTA ผู้ลงทุน บริษัท อินโดรามา ปิโตรเคม จำกัด ลำดับที่ 50 โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ผู้ลงทุน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลำดับที่ 54 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโรงงานผลิตคลอ-อัลคาลี และอีพิคลอโรไฮดริน ภายใต้โครงการติดตั้ง Chlorine Vaporizer, Wet Scrubber ของ HCL Section และการปรับเปลี่ยนขนาดถังบรรจุคลอลีนเหลว ผู้ลงทุน บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (คลอ อัลคาลี ดีวิชั่น)

ประเภทคมนาคม ประกอบด้วย ลำดับที่ 2 โครงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง และขนาดเก็บถังวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ผู้ลงทุน บริษัท มาบตาพุด แท็งค์ เทอร์มินัล จำกัด ลำดับที่ 3 โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือ และคลังผลิตภัณฑ์ ผู้ลงทุน บริษัท ปตท. เคมีคอล จำกัด (มหาชน) ลำดับที่ 4 รายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายสารปิโตรเคมี และคลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ผู้ลงทุน บริษัท มาบตาพุด แท็งค์ เทอร์มินัล จำกัด และลำดับที่ 6 โครงการติดตั้ง Loading Arm เพิ่มเติมที่ท่าเทียบเรือของโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด

นายเกษม กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการ หรือกิจกรรมที่เหลือนั้น เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ตามประกาศของ รมว.อุตสาหกรรม โครงการ หรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ลงวันที่ 14 ก.ย.52 ได้กำหนดไว้ 8 ประเภทโครงการ หรือกิจกรรมที่รุนแรง และตามร่างประเภทโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ได้กำหนดไว้ 19 ประเภทโครงการ ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว และเป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กำหนดให้เป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงนั้น

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า โครงการ หรือกิจกรรมในส่วนที่เหลือ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการปิโตรเคมี และท่อส่ง โครงการเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม เป็นประเภทโครงการ หรือกิจกรรมที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่า เป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ถ้าโครงการ หรือกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดี หรือผู้มีส่วนได้เสียอาจมีคำขอต่อศาลที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีคำสั่งแก้ไข หรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวได้

ศาลปกครองสูงสุด จึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 1 มีคำสั่งให้แก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 สั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรมการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงจำนวน 65 โครงการ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการ หรือกิจกรรมประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ 16, 22, 37, 41, 45, 50 และ 54 และประเภทคมนาคม ลำดับที่ 2, 3, 4 และ 6 นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการเจ้าของสำนวน กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนน้อมรับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 สั่งระงับโครงการ หรือกิจการที่ยังเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 65 โครงการ แต่ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติจะไม่เข้าใจประเทศไทย ที่ข้อกฎหมายมีความขัดแย้งกันเอง ทั้งที่ก่อนหน้าที่ภาครัฐออกใบอนุญาตให้ลงทุนไปแล้ว ดังนั้น คาดว่า ในปี 53 ไทยจะเสียโอกาสจากการสูญเสียเม็ดเงินทุนของบริษัททุนข้ามชาติกว่า 2-3 แสนล้านบาท จากเดิมที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ก็อาจชะลอโครงการลงทุน หรือไปสำรวจพื้นที่ลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี เหล็ก โรงไฟฟ้า และกำจัดของเสีย เป็นต้น

ถือว่า เป็นวิฤติของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหนัก เพราะกลัวว่า จะมีหลายโครงการทั่วประเทศที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ 65 โครงการ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลจัดทำแผนประเทศไทยใหม่ว่า ไทยจะเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมหรือไม่ หรือเน้นเฉพาะการเกษตร เพราะตอนนี้ประเทศเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และจีน นั่งยิ้มอยู่แล้ว เพราะมั่นใจว่า จะดึงนักลงทุนต่างประเทศได้เพิ่มแน่นอน รองประธาน สอท. กล่าว

ด้าน นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังจากมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด เร่งออกประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทาง ในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จากเดิมที่ได้กำหนดให้ออกภายใน 4-5 สัปดาห์ สำหรับในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่สามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้ เพราะไม่มีอำนาจในการสั่งระงับโครงการ แต่หลังจากนี้คงจะต้องหยุดการออกใบอนุญาตทั้งหมด ทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการ และก่อสร้าง ซึ่งหากโครงการไหนได้รับใบอนุญาตไปแล้ว และต้องการขอต่ออายุ ก็คงจะต่อไม่ได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่ นายเดวิด นาโดน ประธานกรรมการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนจะมองความเชื่อมั่นของประเทศไทยในแง่ลบ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ประกอบกิจการตามมาตรฐานระดับโลกอยู่แล้ว หลังจากนี้จึงต้องการทราบว่า รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้อย่างไรบ้าง และต้องการให้รัฐบาลมีทิศทางในการแก้ปัญหาออกมาให้เร็วที่สุด

ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และมีคำสั่งชะลอ 65 โครงการ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า แนวทางที่น่าจะดีที่สุด คือ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เดินหน้าทำการศึกษาของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการศึกษาของผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) รวมถึงรับฟังความเห็นของประชาชน และองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อให้โครงการเหล่านี้สามารถเดินต่อไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา กำลังพิจารณาตัวระเบียบที่จะทำ และจะขอความร่วมมือว่า ถ้าขั้นตอนใดเห็นว่า ไม่น่าจะมีข้อโต้แย้งแล้ว ให้สามารถดำเนินการได้ทันที

สำหรับ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด กล่าวภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะร่างพิมพ์เขียวโครงสร้างของคณะกรรมการองค์กรอิสระให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ รวมถึงจัดทำร่างประกาศผลกระทบด้านทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ควบคู่กันไปกับพิมพ์เขียว เพื่อเสนอรัฐบาลตามขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้เกิดความชัดเจน ที่ให้เอกชนไปดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญมาตร 67 (2) ชัดเจนมากขึ้น โดยยืนยันว่า คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางการเดินหน้าโครงการทั้ง 76 โครงการ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ไม่มีการให้ความช่วยเหลือเอกชนรายใดเป็นพิเศษ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook