ยธ.สั่งจับตามอง ทุจริตจัดซื้อสตช.

ยธ.สั่งจับตามอง ทุจริตจัดซื้อสตช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จี้กองปราบทำคดีขู่หละหลวมเจอดี

รมว.ยุติธรรม สั่งจับตาเป็นพิเศษ คดีทุจริตซื้อ จยย.สายตรวจ จี้กองปราบฯทำงานให้ถึงที่สุด อย่าทำเพียงให้สำเร็จวัตถุประสงค์บางอย่างแล้วเงียบหายไป ขู่หากมั่วนิ่มเจอดีแน่ เชื่อไม่ส่งผลกระทบแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่แน่ ด้านกองปราบฯ ยินดี-ไม่มีปัญหา หากดีเอสไอ ขอรับโอนเป็นคดีพิเศษ ระบุสาเหตุเดินหน้าสืบสวน เพราะไม่ได้เข้าข่ายความผิดฮั้วประมูลเท่านั้น แต่เป็นรูปแบบอาชญากรรมแสวงผลประโยชน์หน่วยงานรัฐ มีการข่มขู่คุกคามพยานด้วย

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) วันที่ 2 ธ.ค.พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาราชการแทน ผบก.ป.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการสอบสวนการทุจริตโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจ ขนาด 200 ซีซี จำนวน 19,147 คัน มูลค่า 1,144,990,600 บาท ว่า หลังจากนายบัณฑูร สุภัควณิช อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และนางปราณี ศุกระศร รักษาการ ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งต้องเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนี้ขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนออกไปนั้นไม่เป็นปัญหาอะไรคงต้องรอตามกำหนดนัดหมายใหม่เพื่อสอบปากคำ ส่วนนายบัณฑิต พิทักษ์สิทธิ ผู้บริหารบริษัท อีซูซุ สยามซิตี้ จำกัด ขอเลื่อนนัดเข้าพบพนักงานสอบสวนไปก่อนหน้านี้นั้น เมื่อ ถึงเวลาไม่วันใดก็วันหนึ่งก็ต้องมาร่วมเปิดกล่องเอกสารและตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่เราได้ตรวจยึดมาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.ที่ ผ่านมา อาจต้องให้สื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อยืนยันในขั้นตอนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย

รัการาชการแทน ผบก.ป.กล่าวอีกว่า การดำเนินการของพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างแสวงหาพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่นหนา ก่อนจะถึงขั้นพิจารณาออกหมายเรียกผู้ต้องหามาดำเนินคดี และขณะนี้พนักงานสอบสวนมุ่งสืบสวนสอบสวน ในส่วนของภาคเอกชนก่อนจะตรวจสอบในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องการสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะขอรับโอนคดีไปดำเนินการแทนนั้นก็ไม่มีปัญหาหากเขาจะทำก็ยินดี แต่ที่กองปราบฯดำเนินการมาเพราะคดีนี้ไม่ได้เป็นคดีที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เท่านั้น แต่เป็นรูปแบบของอาชญากรรมองค์กรที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์หน่วยงานรัฐ ผู้กระทำความผิดมีการข่มขู่คุกคามพยานเป็นคดีอาญาที่ต้องเดินหน้าต่อไป

ที่กระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามยังไม่อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวน เป็นเพียงการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานตำรวจไม่เข้าข้างพวกเดียวกัน เมื่อเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากลภายในหน่วยงานก็มีการสืบสวนภายในอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องส่งสำนวนคดีมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตามตนได้ติดตามคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และยังไม่เห็นความผิดปกติแต่อย่างใด เชื่อว่าตำรวจคงจะสืบสวนให้ปรากฏความจริง คงไม่ใช่ ทำเพียงเพื่อให้สำเร็จวัตถุประสงค์บางอย่างแล้วปล่อยให้เงียบลง ซึ่งตนคงไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นอกจากนี้ยังมั่นใจว่าคดีฮั้วประมูลการจัดซื้อรถสายตรวจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ด้วย

ด้าน พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. กล่าวถึงคดีทุจริตจยย.เรื่องที่พนักงานสอบสวนจะเรียกตำรวจที่เกี่ยวข้องไปให้ปากคำว่า เป็นกระบวนการธรรมดาที่เรียกตำรวจไปให้ปากคำ ให้ข้อมูล เพื่อให้เกิดความกระจ่าง โปร่งใส ไม่ให้มีข้อติดใจกับใคร ซึ่งเป็นเรื่องการตรวจสอบตามปกติของทุกหน่วยอยู่แล้ว

ถามว่า พล.ต.ท.พงศพัศ ได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนหรือไม่ เนื่องจากเกี่ยวข้องในขั้นตอนการเสนอเบิกจ่ายเงินในช่วงที่ พล.ต.อ.ปทีป มา รรท.ผบ.ตร. ครั้งแรก พล.ต.ท.พงศพัศ ตอบว่า เรื่องนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย ตอนนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อ แต่ถ้าติดต่อมาก็พร้อมจะไป เพราะ เราต้องทำความกระจ่าง ปล่อยไว้ไม่ได้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook