อานันท์ฉะนิคมมาบตาพุดปล่อยแก๊สรั่วอีกเจ็บ17

อานันท์ฉะนิคมมาบตาพุดปล่อยแก๊สรั่วอีกเจ็บ17

อานันท์ฉะนิคมมาบตาพุดปล่อยแก๊สรั่วอีกเจ็บ17
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อานันท ฉะกนอ.กลางวงที่ประชุม ปล่อยแก๊ส บิวเทน 1 รั่วที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุด ระหว่างโหลดขึ้นเรือสินค้า ขณะที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายลงตรวจพื้นที่ ชี้ทำงานเช้าชามเย็นชาม คุมปัญหามลพิษไม่ได้ ไม่ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน ไร้ประสิทธิภาพจัดการปัญหาแผนจัดการสวยหรู แต่ปฏิบัติไม่ได้ ขณะที่ ชาวบ้าน 17 คน อาเจียน คลื่นไส้ ต้องหามส่งโรงพยาบาล

วันที่ 6 ธ.ค. ที่จ.ระยอง คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ข องรัฐธรรมนูญ 2550 นำโดย นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการฯได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแฟบ เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อรับฟังชาวบ้านจากเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยมี ผู้ฟ้องร้องคดี 43 ราย และชาวบ้านจากต.เนินกะปรอก อ.บ้านฉาง และอ.ปลวกแดง ทีได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรถบัส ของคณะนายอานันท์ มาถึงพื้นที่บ้านหนองแฟบ ที่อยู่ไม่ไกลจากนิคมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมผาแดง ก็เริ่มมีกลิ่นเหมือนก๊าซไข่เน่าโชยมาตามลม โดยนายอานันท์ ถึงกับบอกว่ามาสัมผัสกลิ่นเหม็นด้วยตัวเอง และเข้าใจว่าชาวบ้านต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะขนาดช่วงกลางคืนประมาณ 5 ทุ่มเศษแถวโรงแรมที่เข้าพัก ก็ยังมีกลิ่นสารเคมีที่สามารถสัมผัสได้เช่นกัน แต่คงไม่สามารถระบุได้ว่ามามาจากแหล่งไหน และคงกล่าวโทษโรงงานใดโรงงานหนึ่งก็ไม่ได้

จากนั้นในเวลาต่อมา นายอานันท์ และคณะกรรมการ พร้อมด้วยนายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง ได้เดินทางมา ที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรับฟังการนำเสนอการจัดการมลพิษในประเด็นที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสา หกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ผาแดง และผู้ประกอบการ 5 บริษัทเข้าร่วมรับฟังและตอบข้อซักถาม

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับชุมชนรอบโรงงาน เริ่มเกิดปัญหามาตั้งแต่ 2540 ที่มีปัญหากลิ่นจากอุตสาหกรรม และต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปีในการจัดการกลิ่น กระทั่งในปี 2548 มีปัญหาเรื่องวิกฤติภัยแล้งขึ้น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งการแย่งใช้น้ำ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้าน และปัจจุบันเกิดปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (วีโอซี) เกินมาตรฐานตั้งแต่ปี2549 จนถึงปัจจุบัน จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลและมีคำตัดสินให้ 65 โครงการจาก 76 โครงการในเขตอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอาร์ไอแอล และนิคมเอเชียตะวันออกต้องระงับตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย กนอ.จะเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาติโครงการมารับฟังการปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 8 ธ.ค.นี้

นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาระเหยของวีโอซี ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ติดตามสารวีโอซีในบรรยากาศจากแหล่งกำเนิด ในช่วงปี 51 ที่เกิดปัญหาพบมีการรั่วมากถึง 600 จุด แต่ขณะนี้จัดการปัญหาได้เกือบหมดแล้ว ส่วนการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในเขตมาบตาพุด ขณะนี้ได้เก็บข้อมูลอุตุนิยม และคุณภาพอากาศเกือบครบ 1 ปีแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปผลในช่วงเดือนม.ค.25 53 และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

ขณะเดียวในช่วงปี 2550 ทางคณะกรรมการศึกษาหาความสัมพันธของสารมลพิษกับปัญหาทางด้านสุขภาพของชาวบ้าน ก็ได้ว่าจ้างให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษระหว่างปี50-54 โดยเฉพาะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซต์ มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากการให้ความร่วมมือของผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนายอานันท์ ได้มีการซักถามกรณีเกิดเหตุก๊าซ BUTENE 1 รั่วออกเซฟตี้วาวล์ของเรือ GLOBAL HIME เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะโหลดสินค้าที่ท่าเทียบเรือสินค้า ท่าเทียบท่าเรือมาบตาพุด แทงก์ เทอร์มินอล เพื่อนำไปส่งที่ประเทศสิงคโปร์ และมีชาวบ้านชุมชนบ้านตากวน-อ่าวประดู่ และกลุ่มประมงเรือเล็กได้รับกลิ่นเหม็นของแก๊สและเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมึนงง จนต้องนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง จำนวน 17 ราย

นายวีระพงศ์ ได้รายงานถึงระบบการจัดการเบื้องต้นโดยอ้างว่าหลังเกิดแก๊สรั่วเมื่อช่วงบ่ายโมง ก็ได้การส่งข้อมูลรายงานมายังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กนอ. และมีการสั่งให้เรือถอนสมอออกจากฝั่งทันที เพื่อให้ซ่อมแซมห่างจากฝั่ง 10 กม. และตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่ไม่ได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน เพราะกว่ากระบวนการรายงานตามขั้นตอนจะแล้วเสร็จสิ้นตอน 17.00 น. จนมีรายงานว่ามีชาวบ้านที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุได้รับผลกระทบ 17 คนจากอาการมึมงง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง และ 12 คนสามารถกลับบ้านได้

ส่วนอีก 5 รายคือ เด็ก 3 ผู้ใหญ่ 2 ยังต้องนอนรอดูอาการ อยู่ แต่ในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค.นี้ได้เดินทางไปเยี่ยมแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่ามีชาวบ้านทยอยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีก 20 ราย ทั้งนี้ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูและพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และส่วนตัวอีก 7 วันจะเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยถึงที่บ้าน

ด้านนายอานันท์ ได้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วกนอ. มีศักยภาพในการควบคุมนิคมและโรงงานในนิคมได้หรือไม่ เพราะขนาดกรณีแก๊สรั่ว ซึ่งถือเป็นเหตุฉุกเฉินแต่ยังใช้ระบบราชการ ทำงานแบบเช้าชามเย็นยามไม่ทันกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและถือเป็นอีกครั้งที่เสริมภาพลักษณ์ในทางที่ไม่ดีของกนอ. กับชุมชน ในฐานะที่มาลงพื้นที่ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วงมากๆ และหนักใจมากกับปัญหาในพื้นที่

" ถ้าดูจากเอกสารที่แต่ละโรงงานได้รายงานผลการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่ก็ดูสวยดี และบอกว่าแก้ได้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ดี ขาดประสิทธิภาพ และทำให้ภาพลักษณ์การบริหารงาน ของกนอ. ที่ไม่ดีอยู่แล้วแย่กันใหญ่ ทั้งนี้จากการคุยกับคนบางกลุ่มเป็นการภายในและส่วนตัว ส่วนใหญ่บอกถึงเรื่องในแง่ไม่ดีของกนอ.กับโรงงาน ซึ่งตรงนี้อยากฝากว่าการดำเนินธุรกิจซีเอสอาร์ ไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่การขายของเท่านั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส. ) ก็มีการให้ข้อมูลว่ามีมีอิทธิพลการเมืองแทรกแซง และการตั้งรับกับปัญหาในพื้นที่บางเรื่องยังแค่เริ่มเตรียมการ คงไม่ทันกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น " นายอานันท์ ระบุ

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดทส.กล่าวว่า ขณะนี้ทส.กำลังเข้ามาประเมินศักยภาพการรองรับของแหล่งน้ำในเขตภาคตะวันออก เนื่องจากมีการร้องเรียนกรแย่งใช้น้ำระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน และกำลังศึกษาผลกระทบของวีโอซีในแหล่งน้ำใต้ดินด้วย

ชาวบ้านเข้าตรวจร่างกายพบอาการหนัก5ราย

นายสงวน ประธานชุมชนบ้านตากวนอ่าวประดู่ พาชาวบ้าน 30 คน เข้ารับตรวจร่างกายที่รพ.กรุงเทพระยอง โดยทุกคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียร เวียนหัว แน่นหน้าอก หลังจากเกิดก๊าซรั่ว จากเรือขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก 5 ราย

นายสงวน เปิดเผยว่า เมื่อ 15.00 น. วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ทำงานติดอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้กลิ่นคล้ายแก๊สหุงต้มโชยมา ครั้งแรก 10 นาที แล้วหายไป จากนั้นได้มีกลิ่นตามมาอีกครั้ง แต่รุนแรงกว่าเดิมประมาณ 20 นาที จากนั้นกลิ่นหายไป จึงได้แจ้งไปยังกนอ.มาบตาพุด และทยอยส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปรพ.กรุงเทพระยอง

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากเรือลำเกิดเหตุ ได้เคลื่อนเข้าจอดเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้า แต่ขณะเคลื่อนเข้าใกล้ เกิดเหตุก๊าซหุงต้มในเรือรั่วออกมา ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณตะกั่วอ่าวประดู่ และคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นได้สูดดมก๊าซดังกล่าวในระยะใกล้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 18 ราย ต่อมาเช้าวันนี้ (6ธ.ค.) ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง เริ่มมีอาการคลื่นไส้วิงเวียน แน่นหน้าอก จึงได้นำส่งรพ.อีก 30 คน ซึ่งแพทย์ อยู่ในระหว่างการตรวจรักษา ขณะนี้มีผู้ป่วยอาการสาหัสถึง 5 คน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดแสดงความรับผิดชอบ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook