''ตนุ'' แอนิเมชั่นรักษ์ธรรมชาติของเด็ก มช.

''ตนุ'' แอนิเมชั่นรักษ์ธรรมชาติของเด็ก มช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คว้ารางวัล ''ซิป้า แอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2009''

ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการคัดสรรผลิต ภัณฑ์ดีเด่นแห่งชาติ (Thailand Excel- lence Software Contest and Award 2009) หรือ TESCA2009 ซึ่งเป็นการประกวดเพื่อมอบรางวัลให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ

โดยวันนี้จะนำรายละเอียดผลงานที่ ได้รับรางวัลชนะเลิศหัวข้อ Animation for Pre-school ในการประกวด ซิป้า แอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2009 ประเภท นักเรียน-นักศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ TESCA2009

น้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นนักศึกษา ชั้น ปีที่ 2 สาขาแอนิเมชั่น วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วย นายวรายุทธ โตสิตารัตน์ น.ส.ณัฐฐา เลิศมัลลิกาพร น.ส. วรัญชลี ศรีเลศิลป์ นายธนภัทธ ธรรมธิ และ น.ส.ณัฐนรี หาญใจ โดยมี อาจารย์ กลวัชร คล้ายนาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นายวรายุทธ โตสิตารัตน์ หรือ น้องโน๊ต เป็นตัวแทนเพื่อน ๆ ในทีม บอกว่า ผลงานแอนิเมชั่นที่ทำขึ้น ชื่อเรื่อง ตนุ มีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ ที่ดูผลงานนี้ได้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ และรู้จักอนุรักษ์สัตว์เต่าทะเลที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เนื้อเรื่องเป็นการนำเสนอเรื่องราวของชีวิตเต่าตนุ ซึ่งเป็นเต่าทะเลที่ปัจจุบันเหล้อยมาก ตั้งแต่การเกิดจากไข่ การดำเนินชีวิต ที่ต้องผจญภัยเพื่อเอาชีวิตรอด การหาคู่เพื่อสืบพันธุ์ และกลับมาวางไข่ยังชายหาดที่เกิดเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ให้อยู่รอดตามธรรมชาติ

ผลงานตนุที่ส่งเข้าประกวดทำเป็น เดโมมีความยาวประมาณ 1.30 นาที ใช้เวลาผลิตประมาณ 10 วัน โดยใช้เทคนิค สต๊อปโมชั่น และสื่อผสม (Mix Media) ขั้นตอนการผลิตจะเขียนสตอรี่บอร์ดขึ้นก่อน จากนั้นใช้ดินน้ำมันปั้นคาแรกเตอร์ตัวละครซึ่งเป็นเต่าตนุในแอ๊คชั่นต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วใช้กล้องดิจิทัลถ่ายภาพทีละช็อตแบบ บลูสกรีน จากนั้นจึงนำมาตัดต่อเป็นภาพ เคลื่อนไหวกับฉากต่าง ๆ ด้วยโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งการเลือกใช้เทคนิค สต๊อปโมชั่น อาจจะมีความยากมากกว่าการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ก็ช่วยลดต้นทุนในเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ลงได้มาก

น้องโน๊ต บอกต่อว่า หลังจากนี้ภายในระยะเวลา 1 ปี จะต้องผลิตงานจริงให้เสร็จตามเงื่อนไขของโครงการ โดยผลงานที่จะทำมีทั้งสิ้น 5 ตอน ตอนละประมาณ 8 นาที รวมความยาวของแอนิเมชั่นทั้งสิ้น 40 นาที คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จะทำผลงานเสร็จทั้งหมด ใช้งบประมาณไม่เกิน 1 แสนบาท

ทั้งนี้การประกวดครั้งนี้จะต้องมีการคิผนธุรกิจและการตลาดเพื่อให้ผลงานประสบความสำเร็จ ซึ่งน้องโน้ตบอกว่างานชิ้นนี้เป็นการทำขึ้นโดยไม่หวังผลกำไรแต่เน้นการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ จึงวางแผนจะนำไปมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก ๆ ได้เกิดความรู้สึกหวงแหนและอยากจะอนุรักษ์เต่าชนิดนี้

อย่างไรก็ตามหากผลงานที่ทำขึ้นประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับที่ดี ก็มีแผนที่จะผลิตงานแอนิเมชั่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ช้างไทย และควายไทยขึ้นมาอีก สำหรับอนาคตเมื่อเรียนจบทั้งตนเองและเพื่อนร่วมทีม ก็มีความสนใจที่จะทำงานเกี่ยวกับแอนิเมชั่น หรือวงการโฆษณาซึ่งตรงกับสายที่ได้เรียนมา.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

jirawatj@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook