“ครูอัตราจ้าง” ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย

“ครูอัตราจ้าง” ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย

“ครูอัตราจ้าง” ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ปัญหาที่ครูอัตราจ้างต้องเผชิญคือ ค่าตอบแสนน้อย ซึ่งในบางพื้นที่อาจไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงปิดเทอม และไม่มีปากเสียงในระบบโครงสร้างของโรงเรียน เพราะสัญญาจ้างและสิทธิ์ในการสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ
  • สถานการณ์ครูอัตราจ้าง สะท้อนให้เห็นปัญหาการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งรวมไปถึงเรื่อง “อัตรากำลังครู” ที่ดูแค่จำนวนเด็กนักเรียน แต่ไม่ครอบคลุมรายวิชาที่ครูต้องสอนจริง ทำให้เกิดปัญหาครูไม่เพียงพอ 
  • เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องภาระงานครู ที่ทำให้ครูที่เป็นข้าราชการต้องไปรับผิดชอบงานของโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน และกินเวลางานสอนไปมาก ทำให้โรงเรียนต่าง ๆ ต้องจัดหาครูอัตราจ้างมาทำหน้าที่แทน 
  • วิธีแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง อาจทำได้โดยการ “ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” เนื่องจากสถานการณ์เด็กเกิดน้อย แต่มีโรงเรียนจำนวนมาก ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากร 
  • การเพิ่มเงินและเพิ่มคนเข้าไปในระบบโรงเรียนให้เพียงพอ และควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมอำนาจ” ในระบบราชการ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยได้ในระยะยาว 

ข่าวการรับสมัคร “ครูอัตราจ้าง” พร้อมค่าตอบแทนหลักพันปรากฏให้เห็นและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างร้อนแรงหลายต่อหลายครั้ง แม้จะมีเสียงสะท้อนจากคนในสังคมที่ตั้งคำถามและพยายามเรียกร้องค่าตอบแทนที่ “สมเหตุสมผล” กับภาระงานที่คุณครูอัตราจ้างต้องแบกรับ แต่ข่าวการรับสมัครครูอัตราจ้างด้วยค่าตอบแทนราคาถูกก็ยังมีให้เห็นเรื่อย ๆ จนคล้ายกับว่าสิ่งที่เคยถกเถียงกันไปก่อนหน้าไม่เคยเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของครูอัตราจ้างไม่ได้เป็นแค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” อีกยอดหนึ่งของปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่หากปล่อยเอาไว้ก็อาจจะส่งผลเสียต่อ “ทุกฝ่าย” ในระยะยาว 

ค่าตอบแทนแสนน้อยของครูอัตราจ้าง 

“การจ้างครูอัตราจ้างจะมีงบประมาณที่มีทั้งส่วนกลางส่งมาให้ กับงบที่เป็นงบของโรงเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่มีปัญหา เพราะเขามีเงินที่สามารถระดมทรัพยากรได้เยอะ เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถจ้างครูได้ค่าแรงตามวุฒิ แต่พอโรงเรียนขนาดเล็ก อัตรากำลังครบแล้ว เขาก็ไม่ได้รับเงินจัดสรรที่จะจ้างครูเพิ่ม” ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1 เริ่มต้นอธิบาย 

ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต

เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลต้องการครูอัตราจ้างมาเป็นกำลังเสริม แต่ไม่ได้รับเงินจัดสรรจากส่วนกลาง สิ่งที่โรงเรียนทำได้คือการระดมทรัพยากรด้วยตัวเอง ทั้งการจัดหาผ้าป่าหรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณสนับสนุน แต่ด้วยศักยภาพที่มีไม่มากพอเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงทำให้ไม่สามารถระดมทรัพยากรได้เยอะ ผลที่ตามมาคือค่าตอบแทนของครูอัตราจ้างที่น้อยมาก อย่างที่ปรากฏในสื่อต่างๆ และหลายครั้งครูอัตราจ้างก็อาจไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงปิดเทอม 

ครูอัตราจ้างก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นกลไกหรือฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการศึกษา แต่เราก็ยังเห็นโดยทั่วไปที่อาจจะมีประกาศเงินเดือน 4,000 - 5,000 บาท มันก็เป็นปัญหาอยู่ เพราะหนึ่งค่าตอบแทนเท่านั้น เรามองง่าย ๆ ว่า ถ้าครูไม่ได้กินอิ่มนอนหลับ ประสิทธิภาพที่ไปสู่นักเรียนก็ต้องมีปัญหาแน่นอน และอีกอย่างงานครู ไม่ว่าจะเป็นครูอัตราจ้างหรืออะไรก็ตาม ผมพูดได้เลยว่า ครูเป็นครู 24 ชั่วโมง ครูต้องทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาทำงานก็ต้องมีใช้เงินตัวเอง ถ้าเป็นครูอัตราจ้าง แล้วได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 4,000 - 5,000 บาท มันก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว” สุริยันต์ ปัญญาทรง ครูอัตราจ้างของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ สะท้อน 

สุริยันต์ ปัญญาทรงสุริยันต์ ปัญญาทรง

ทำงานเยอะ มีปากมีเสียงน้อย 

นอกจากค่าตอบแทนที่น้อยแล้ว ครูอัตราจ้างยังต้องเผชิญกับ “การถูกกดขี่” ในระบบโครงสร้างของโรงเรียน ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนครูจากกลุ่ม “ครูขอสอน” ชี้ว่า ด้วยระบบชนชั้นในโรงเรียนและสัญญาจ้าง รวมไปถึงเรื่องสิทธิ์ในการสมัครสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ​ ทำให้ครูอัตราจ้างไม่สามารถปฏิเสธงานและต้องแบกรับภาระงานที่มากกว่าครูที่เป็นข้าราชการ ทั้งการอยู่เวรสำนักงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน

ธนวรรธน์ สุวรรณปาลธนวรรธน์ สุวรรณปาล

“ทำไมถึงเรียกใช้ครูอัตราจ้างเป็นอันดับแรก ด้วยระบบแบบนี้ มันทำให้เขาไม่สามารถปฏิเสธอะไรได้เลย ถ้าคุณเป็นข้าราชการ ผู้อำนวยการรู้ว่าคุณใช้ไม่ได้ เขาก็ไม่เรียกใช้คุณอยู่แล้ว คือข้าราชการมันยากมากที่จะออก ขนาดครูที่ทำผิดวินัยยังอุ้มกันเลย แต่ในขณะเดียวกัน ครูอัตราจ้างแค่โรงเรียนจะต่อหรือไม่ต่อสัญญา ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนทั้งสิ้น ถ้าขัดใจเขา เขาจะไม่ต่อก็ได้” ธนวรรธน์อธิบาย 

เช่นเดียวกับณัฏฐเมธร์ ที่เสริมว่า อำนาจในการต่อสัญญาของผู้อำนวยการหรือผู้บริหารของโรงเรียน ทำให้ครูอัตราจ้างต้องยอมทำงานหนัก ซึ่งนี่เป็นโครงสร้างที่เอื้อให้เกิด “การโยนภาระ” ลงไปให้กับคนที่มีอำนาจในการต่อรองน้อยกว่า 

“ครูอัตราจ้างมีปากเสียงน้อย บางทีเขาให้มาทำงานช่วงปิดเทอมแต่ไม่ได้เงิน แต่ก็ไม่สามารถพูดได้ เพราะเราอาจจะต้องช่วยโรงเรียน หรือเราจะได้สัญญาจ้างหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นคนตัวเล็กในระบบโรงเรียน คุณก็ต้องเป็นคนรับทำอะไรสักอย่าง แต่เสียงสะท้อนหรือการส่งเสียงออกไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะออกมาพูดได้ เราแทบจะไม่ค่อยได้ยินเสียงของคนเหล่านี้” สุริยันต์กล่าว 

ปัญหาสำคัญคือ “การจัดสรรทรัพยากร” 

เมื่อมองสถานการณ์ของครูอัตราจ้างให้ลึกลงไป เราจะเห็นภาพสะท้อนปัญหาเรื่อง “การจัดสรรทรัพยากร” ซึ่งรวมถึงเรื่องงบประมาณ การจัดสรรกำลังคน และทรัพยากรที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของโรงเรียนและคุณครู โดยเฉพาะเรื่อง “อัตรากำลังครู” ที่ถูกจัดสรรให้กับโรงเรียนอย่างไม่เพียงพอ หรือจำนวนอัตรากำลังครูเพียงพอแล้วแต่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานของโรงเรียน 

“ที่ต้องมีครูอัตราจ้าง ก็เพราะว่าคนไม่พอ ด้วยวิธีการคำนวณอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดสรรอัตรากำลังให้กับโรงเรียนหรือหน่วยงานแต่ละที่ ก็เป็นไปตามกฎกระทรวง ตามระเบียบออกมา แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ มันไม่ใช่แบบนั้น” ธนวรรธน์สะท้อน 

“ถ้าเราลองดูในจำนวนอัตราของครูที่เขากำหนดไว้ ความจริงเราไม่ได้จัดสรรอัตรากำลังครูน้อยจนเกินไป” ณัฏฐเมธร์แย้ง “เราจัดไว้คือ เด็ก 20 คน ต่อครู 1 คน ถ้าเทียบจำนวนชั้นเรียนจะเป็นอัตราที่ไม่ได้น่าเกลียด ถ้าเกิดมีเด็ก 100 คน ในอัตราเด็ก 20 คน ต่อครู 1 คน เราก็จะมีครูได้ 5 คน แต่ครู 1 คน ไม่ได้สอนทุกวิชา มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ หนึ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้มีมากกว่าหนึ่งรายวิชา เพราะฉะนั้นครู 5 คน จะบรรจุครูวิชาเอกไหนก็ต้องดู บรรจุมาแล้ว แน่นอนต้องมีครูสอนไม่ตรงเอก ดังนั้น การจัดสรรอัตรากำลังซึ่งดูแต่จำนวนเด็ก จึงเป็นการคิดที่ยังไม่ครอบคลุมต่อจำนวนรายวิชาตามหลักสูตรที่คุณครูต้องจัดการเรียนการสอนจริง” 

ภาระงานครูที่ส่งผลกระทบต่อครูทุกคน 

“ทำไมต้องมีครูอัตราจ้าง อย่างโรงเรียนในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนใหญ่ ถามว่าครูที่อยู่ในโรงเรียนเขาไปไหนกัน ทำไมถึงมีคนที่เข้าไปในคาบสอน เพราะครูอาจจะไม่ได้ถูกทำให้อยู่ในห้องเรียน หรือทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริงหรือเปล่า ครูกำลังไปทำอย่างอื่น หรืออะไรก็ตามที่เป็นหน้าที่อย่างอื่นหรือเปล่า” สุริยันต์ตั้งคำถาม 

“บางครั้งเราพบว่า คุณครูที่เป็นข้าราชการสอนน้อย แล้วคุณครูที่เป็นอัตราจ้างสอนเยอะ สาเหตุเพราะอะไร เพราะคุณครูที่เป็นข้าราชการต้องไปทำงานอื่น เช่น งานพัสดุ แล้วพอต้องไปทำงานพัสดุ ก็ต้องบอกก่อนว่า คุณสอนหนังสือ ถ้าเกิดคุณสอนไม่ดี คุณสอนหนังสือผิด คุณไม่ติดคุกนะ แต่ถ้าคุณทำผิดระเบียบพัสดุ ระเบียบการเงิน คุณติดคุก เพราะฉะนั้นคุณครูที่ต้องไปทำงานเหล่านี้ งานอาคารสถานที่ งานการเงิน งานพัสดุ ซึ่งเขาไม่ได้จบสิ่งเหล่านี้มา แต่ถ้าเกิดเขาทำผิด เขามีความผิด” ณัฏฐเมธร์อธิบาย 

“ปิดโรงเรียนบางส่วน” อาจเป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหา 

ในขณะที่หลายภาคส่วนมีความพยายามหาทางจัดการปัญหาเรื่องทรัพยากรในระบบการศึกษา ณัฏฐเมธร์แสดงความคิดเห็นว่า การปิดโรงเรียนบางส่วนน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง หากมีการศึกษาอย่างจริงจัง เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดน้อยลงของประเทศและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด 

“เราเปิดโรงเรียนมาเยอะ ในสมัยที่เราต้องการรองรับเด็กจำนวนมาก แต่พอประชากรของเด็กน้อยลงขนาดนี้ เมื่อเราไม่คิดจะปิดโรงเรียน แน่นอนว่าจำนวนของเด็กมีน้อยลง แล้วพอจำนวนเด็กน้อยลง การบริหารจัดการทรัพยากรมันเกิดปัญหา” ณัฏฐเมธร์ชี้

“พอมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว เราจะเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนในการจัดการสูง แต่เราไม่ได้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กลง ในขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ ที่สามารถรวมกันได้ แล้วเราไม่ได้รวมโรงเรียนเข้าไว้ด้วยกัน ผมไฮไลต์ว่าถ้ามันรวมกันได้นะ ถ้ารวมไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็สามารถมีระบบขนส่งเด็ก รับส่งเด็กแล้วก็ไปโรงเรียนได้ แต่ตอนนี้เราทำให้ภาระการไปโรงเรียนเป็นภาระของผู้ปกครองหรือเปล่า เขาจึงไม่สามารถส่งลูกไปโรงเรียนที่ไกลกว่าระยะที่สามารถเดินไปจากบ้านได้ โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนจึงจำเป็นต้องมีอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเด็กเกิด ไม่มีเด็กเรียน แล้วก็ไม่ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังครู” ณัฏฐเมธร์อธิบาย 

ณัฏฐเมธร์ระบุว่า หากภาครัฐบริหารจัดการทรัพยากรใหม่ ยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปรวมกัน จัดรถรับส่งสำหรับนักเรียน นำครูไปรวมกันให้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และจัดสรรทรัพยากรการเรียนรู้ให้ครบถ้วน ก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาได้ดีกว่าสำหรับประเทศไทย 

“เพิ่มคน เพิ่มเงิน” ให้เพียงพอ 

อีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องอัตรากำลังครูที่เป็นรากของปัญหาครูอัตราจ้าง ธนวรรธน์เสนอว่า รัฐต้อง “เพิ่มเงินและเพิ่มคน” เข้าไปในระบบโรงเรียนให้เพียงพอ เช่นเดียวกับลดภาระงานของครูให้น้อยลง แล้วการจัดการเรียนการสอนของครูจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมอำนาจ” ในระบบราชการ ซึ่งครอบระบบการจัดการศึกษาอยู่ เพราะวัฒนธรรมอำนาจที่ยังดำรงอยู่ ส่งผลให้เกิดลำดับชั้นและความไม่เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ 

“เรื่องการศึกษาหรือสาธารณสุข มันคือความเป็นมนุษย์ มันคือคุณภาพชีวิต แต่รัฐกลับมองข้ามไป กลับมองเป็นเรื่องต้นทุน แล้วทรัพยากรมันก็ไปกระจุกอยู่ที่บางอย่างและบางกลุ่ม” 

“การที่ประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบไม่มีความยุติธรรม ถ้าเกิดประเทศเป็นประชาธิปไตย เห็นคุณค่าของคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นครู คศ.4 เป็นผู้บริหาร เป็นครูผู้ช่วย เป็นครูอัตราจ้าง คุณจะเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน และเป็นคนทำงานเหมือนกัน แล้วเรื่องข้อจำกัดทางทรัพยากร เราให้เขาได้เท่านี้ แล้วมีอะไรจะไปซัพพอร์ตเขาได้เพิ่มเติมได้ไหม ไม่ใช่ไปขูดรีดจากความเปราะบางของหน้าที่การงานของเขา” ธนวรรธน์ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook