พุทธอุทยานจุดร่วมในวิถีธรรมะกับธรรมชาติ

พุทธอุทยานจุดร่วมในวิถีธรรมะกับธรรมชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
".ทุกครั้งที่ได้ทราบข่าวว่ามีการลักลอบตัดป่า ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และข้าพเจ้า จะรู้สึกไม่สบายใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนแนะนำข้าพเจ้ามาโดยตลอดถึงความสำคัญของป่าไม้ ว่าป่าไม้ของไทยมีความสำคัญหลายประการ คือ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำทุกสายในประเทศ และช่วยดูดซับน้ำไว้ในรากและใต้ดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินให้เราใช้ ช่วยสร้างความชุ่มชื้น ดึงดูดให้มีฝนมาตกในพื้นที่ และช่วยต้านความแรงของน้ำป่าเวลาฝนตกหนัก อย่างเมื่อคราวที่แล้วไม่นานมานี้ที่แถวทางภาคเหนือ ที่บนป่าทางเหนือก็ขาดต้นไม้มาก แต่ก็ยังไม่หยุดการตัดป่า เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดมีพายุฝนรุนแรง น้ำป่าก็ถล่มลงมา เอาดินลงมาอย่างแรง แล้วก็มาเป็นอันตรายแก่หมู่บ้านของประชาชน อันนี้ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นแล้วเศร้า เศร้าใจ ที่เราไม่รู้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พวกทางเหนือมันมีป่าไม้บนเขาแล้วไปลักลอบตัดซะหมด เวลาเกิดพายุร้ายแรงนี่เป็นภัยอันตรายมาก ดินถล่ม ชีวิตคนแย่ นี่คือข้อความตอนหนึ่งจากพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2551 ที่พระองค์ทรงห่วงใยในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตื่นตัว ผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาป่าไม้ เป็นวาระแห่งชาติ และทุกรัฐบาลปฏิบัติห้ามเปลี่ยน และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ท่าน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงน้อมนำแนวพระราชดำริไปสานต่อและริเริ่มโครงการมากมายโดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือการอนุรักษ์ป่าไม้และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม "โครงการพุทธอุทยาน ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเพื่อพัฒนาที่พักให้พระสงฆ์ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 10 ปี เกี่ยวกับการบุกรุกเข้าไปสร้างสำนักสงฆ์ในพื้นที่ป่าโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2538 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่เรียบร้อย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายสุวิทย์ คุณกิตติ จึงมีแนวคิดที่จะจัดโครงการพุทธอุทยาน ให้พระสงฆ์เข้าไปช่วยดูแลรักษาป่าไม้ที่กำลังลดลง โดยได้หารือกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และได้ข้อสรุปว่าให้ออกหนังสือสำคัญแจ้งไปยังพระสงฆ์ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าได้ตามกฎหมาย ซึ่งเหมือนกับการปลูกต้นไม้ในใจคน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งแนวคิดนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนและสร้างจิตอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นกับชุมชนและพระสงฆ์ ช่วยให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดปัญหาระหว่างข้าราชการกับพระสงฆ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมะได้กว่า 6 พันแห่งอีกด้วย สำหรับโครงการพุทธอุทยาน เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่ฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2552 โดยในวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 6,039 รูป จาก 64 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการพระพุทธอุทยานมารับหนังสือสำคัญ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่วนพระสงฆ์ที่ประสงค์จะเข้าไปทำกิจธุดงค์ในป่าก็สามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ "ผมได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว เพื่อถวายให้แก่พระสงฆ์เพื่อจะได้เข้าร่วมโครงการพุทธอุทยาน โดยชื่อก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นโครงการที่พระสงฆ์จะได้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ป่าไม้ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ โดยกระทรวงฯ มีนโยบายว่า ที่พักสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมนั้น สามารถพัฒนาเป็นพุทธอุทยาน เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้พุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเป็นสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งอื่นใด จึงได้จัดโครงการพุทธอุทยาน เฉลิมพระเกียรติขึ้น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ทั้งนี้โดยเฉลี่ยที่พักสงฆ์ในป่า รวม 6,039 แห่งนั้น จะใช้พื้นที่ป่าประมาณ 6-7 แสนไร่เฉลี่ย วัด และที่พักสงฆ์จะได้รับพื้นที่ราว 1-2 ไร่สำหรับดูแล โดยไม่ขยายเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ว่าพระท่านใดมีความประสงค์ที่จะดูแลมากกว่า 1 ไร่ ก็สามารถที่จะแจ้งและบอกกับทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และพระสังฆาธิการ ที่เป็นพระผู้ใหญ่ของทางจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ได้ แต่การดูแลและครอบครองต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของหนังสือสำคัญที่ทาง ทส.มอบให้ สำหรับการมอบหนังสือสำคัญให้กับพระทั้ง 6,039 แห่ง จาก 64 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้พระสามารถอยู่ในป่าโดยไม่ผิดกฎหมายนั้น หนังสือสำคัญดังกล่าว ประกอบด้วยเงื่อนไขดังนี้ 1. โครงการนี้เป็นโครงการของพนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ และสัตว์ป่าเป็นหลักสำคัญ 2. ให้ยึดถือและปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 11/2547 เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2547 เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานที่ทางพระพุทธศาสนา มิให้มีลักษณะเป็นวัด ไม่เน้นการก่อสร้างทางวัตถุ แต่ควรใช้เป็นสวนสาธารณะที่สงบร่มรื่นใช้เป็นสถานที่แสดงธรรมได้ 3. พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในเขตโครงการจะต้องช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดทั้งช่วยปลูก บำรุงรักษาป่า และช่วยงานด้านป่าไม้อื่นๆ 4. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินงานตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ร่วมกับพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ และ 5. หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องถูกยกเลิกเพิกถอนการเข้าร่วมโครงการ และต้องออกจากพื้นที่ทันที สำนักข่าวแห่งชาติได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดย พระธนา ชุตินฺธโร จาก ถ้ำดอยพุทธเจ้า อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดี เมื่อก่อนพระที่อยู่ป่า มักมีปัญหาตลอดกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ถ้าได้ทำอย่าง้แล้ว เป็นการดีมากเลย ให้อยู่ได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นโครงการที่ประเทศไทยเรายังไม่เคยมีมาก่อนเลย ที่ผ่านมาพบเห็นแต่ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เชิญให้พระออกจากป่า แต่ป่าคือที่อยู่พระธุดงค์ เขาถึงเรียกว่าพระป่า ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ท่านสอนว่าพระบวชทั้งหลายต้องอยู่ป่าไม่ใช่อยู่บ้าน การไปอยู่ป่าเป็นการไปศึกษาธรรมชาติของป่าว่าเราจะรักษาป่าได้อย่างไร ซึ่งสมัย ที่อาตมาอยู่ที่อำเภออมก๋อย ชาวบ้านจะทำไร่เลื่อนลอยกันมาก อาตมาก็ไปร่วมมือกับนายอำเภอช่วยกันให้ความรู้ชาวบ้าน ไม่ให้ทำไร่เลื่อยลอยกัน "เจ้าหน้าที่ข้าราชการไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่เพื่ออะไร ก็คิดแค่ว่าจะไปทำลาย ไปบุกป่า ทั้งที่พระไม่เคยไปแตะต้องแม้แต่ต้นเดียว มีแต่ไปรักษา ถ้าเป็นพระป่าจริงๆ นะ ไม่มีหรอกที่จะไปทำลายป่า เพราะป่าคือชีวิตของพระป่า ที่เข้าป่าไปก็เพื่อไปศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของป่านั่นเอง เช่นเดียวกับ พระมหาอังคาร ญาณเมธี จาก สำนักสงฆ์บ้านขุนแม่หยอด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ บอกว่า เรื่องธรรมะกับธรรมชาติเป็นสิ่งคู่กันอยู่แล้ว และกิจกรรมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าอย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจให้กับพระสงฆ์ที่ได้ปฎิบัติศาสนกิจที่อยู่บนดอย หรือในป่า เพราะในอนาคตก็ไม่รู้ว่าการปฎิบัติศาสนากิจของพระสงฆ์จะเกิดปัญหาอะไรมากกว่านี้อีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การที่พระจะมีหนังสือสำคัญ รับรองสิทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์แก่การบำรุงศาสนาอีกทางหนึ่ง "โดยปกติการดูแลรักษาป่า กิจกรรมที่สัมผัสกันง่ายๆ ก็คือกิจกรรมการบวชป่า พระสงฆ์ธุดงค์ก็ทำอยู่แล้ว เช่น การบวชป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก็มีกิจกรรมนี้ ทำทุกปี จุดไหน บริเวณใดที่พระนำชาวบ้านไปทำพิธีบวชป่าแล้ว จุดนั้นก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่มีความขลัง เป็นการอนุรักษ์ผืนป่า อย่างมีกุศโลบาย ชาวบ้านจะเข้าไปตัดไม้ไม่ได้ เมื่อก่อนไม่มีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้สภาพสถานการณ์เปลี่ยนไป กฎหมายจึงเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่มีใบอนุญาต ก็จะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการปฎิบัติศาสนกิจ ธรรมะกับธรรมชาติ เป็นสองสิ่งคู่กัน อย่างกลมกลืน แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์กับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมายด้วยแล้ว เชื่อว่า หากโครงการนี้ ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น กว่า 7 แสนไร่ สมดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ และหวังว่าจะมีต้นไม้ที่เกิดขึ้นในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยทุกคน เพื่อจะได้ทำให้ทั้ง 2 พระองค์ทรงสบายพระราชหฤทัย หลังจาก ที่ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพื่อคนไทยทุกคนตลอดมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook