76ขุมทองเมืองไทยมูลค่า1ล้านล้านบาท

76ขุมทองเมืองไทยมูลค่า1ล้านล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันนี้(8 ธ.ค.) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรฯ แถลงข่าวเรื่องขุมทองในประเทศไทย ว่าเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ราคาทองคำของโลกได้ขยับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา กรมทรัพยากรธรณี ในฐานะที่ดูแลด้านทรัพยากรแร่ หิน ต่างๆ ของประเทศ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการสำรวจและการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2528

ล่าสุดพบว่าประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองคำในประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 76 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัด ซึ่งมีปริมาณแร่ทองทำประมาณ 700 ตัน ซึ่งหากสกัดเป็นทองคำบริสุทธิ์แล้ว คิดเป็นมูลค่าได้ประมาณ 9 แสน-1ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังพบการสะสมตัวแบบทุติยภูมิอีกหลายพื้นที่อีกด้วย โดยพบมากในแถบพื้นที่ตอนบนของภาคกลางตามแนวเทือกเขาหินแกรนิตทางตะวันออก และด้านตะวันตกของแห่งที่ราบสูงโคราช ทั้งนี้มีแหล่งแร่หลักประมาณ 4-5 แห่ง ที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเหมืองแร่ทองคำได้ในอนาคต

ในส่วนของกรมทรัพยากรธรณี ไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการให้ประทานการทำเหมืองแร่ แต่มีคำสั่งจากท่านปลัดฯ ให้จัดทำแผนหลักการจัดการทรัพยากรแร่อย่างเป็บบเพื่อให้ภาครัฐ หรือเอกชนที่ต้องการจะเข้าไปพัฒนาแหล่งแร่ทองคำต่างๆ ใช้เป็นแผนในการดำเนินการไปในทิศทางที่ชัดเจน และเป็นแนวทางในการดำเนินการเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในประเทศ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยกำหนดให้มีการทำ รายงานผลกระทบต่างๆ ก่อนจะเข้าพัฒนาพื้นที่ โดยแผนหลักดังกล่าวจะจัดทำเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป นายอดิศักดิ์กล่าว

ด้านนายพิทักษ์ รัตนาจารุรัตน์ ผอ.สำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ในประเทศไทยพบว่าหลายพื้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เพราะพบแร่ทองคำในเนื้อหินมีความสมบูรณ์ ประมาณ 1-2 กรัม ต่อตัน ซึ่งหากเทียบกับราคาทองในปัจจุบันก็นับว่าคุ้มต่อการลงทุน โดยเฉพาะแหล่งแร่ทองคำ 5 แห่ง ได้แก่ ห้วยคำอ่อน รอยต่อ จ.ลำปาง-จ.แพร่,ดอยตุง เชิงเขาทางฝั่ง อ.แม่จัน,เขาช่องกาย อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี,รอยต่อ อ.เมือง จ.ตาก " ด่านลานหอย จ.สุโขทัย และ บ้านบ่อทอง จ.ชลบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งแร่ทองคำอื่นๆ อีกแต่อาจจะยังไม่มีศักยภาพพอที่จะทำเป็นเหมืองแร่ทองคำได้ เช่น ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขาพนมพา ต.เขาเจ็ดลูก .ทับคล้อ จ.พิจิตร เป็นต้น ที่ปัจจุบันยังคงมีประชาชนจำนวนมากออกไปร่อนแร่ทองคำ เพื่อหาทองคำอยู่ตลอดเวลา โดยสามารถทำรายได้เพิ่มให้เดือนละ 4,000-5,000 บาท

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราเป็นห่วงขณะนี้ก็คือ การเจ็บป่วยของประชาชนที่ออกไปร่อนหาแร่ทองคำ เนื่องจากในขั้นตอนการสกัดทองคำออกมาจะต้องใช้สารอันตราย เช่น ปรอท และไซยาไนด์ ซึ่งชาวบ้านจะต้องสัมผัสอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำภายในหมู่บ้านที่ชาวบ้านจะต้องใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งผลจากการได้รับสารเหล่านี้อยู่เป็นประจำทำให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท โรคมินามาตะ หรือโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังทำให้เด็กเกิดใหม่ที่ได้รับสารปรอทมีความพิการด้วย ซึ่งจากการลงพื้นที่ก็พบว่ามีชาวบ้านจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ เขาพนมพา จ.พิจิตร มีผู้เจ็บป่วยหลายรายและอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึงร้อยกว่าคน แต่ไม่เคยมีการสำรวจหรือทำรายงานเรื่องนี้มาก่อน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook