เตือนสมองอักเสบจาก ค้างคาวแม่ไก่

เตือนสมองอักเสบจาก ค้างคาวแม่ไก่

เตือนสมองอักเสบจาก ค้างคาวแม่ไก่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไวรัสนิปาห์ถูกพบครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2541 ที่ประเทศมาเลเซีย การติดต่อก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี นักวิชาการประจำศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "การศึกษาโรคสมองอักเสบอุบัติใหม่ที่เกิดจากไวรัสนิปาห์ในค้างคาวไทย" จากการสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้แถลงในงานเสวนาทางวิชาการ "โลกร้อน โรคร้าย โรคติดต่อที่ต้องติดตาม"ว่ากลไกการแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์จากค้างคาวอาจเกิดในฤดูกาลเช่นเดียวกับฤดูกาลระบาดในคน

ไวรัสนิปาห์ ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่ประเทศมาเลเซีย การติดต่อของเชื้อไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ ที่มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคที่ประเทศบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 70 ทั้งนี้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส นิปาห์จะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบ โดยอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย

จากการศึกษาความสัมพันธ์ของการแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์ในค้างคาวแม่ไก่กับฤดูกาลของ ดร.สุภาภรณ์และคณะ โดยเก็บ ตัวอย่างเยี่ยวค้างคาวในพื้นที่ศึกษา รวม 7 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง แล้วนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธีทางอณูชีววิทยา พบเชื้อไวรัสนิปาห์ในทุกพื้นที่ศึกษาระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน และพบมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม โดยเชื้อที่พบมี 2 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในมาเลเซียและบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฤดูผสมพันธุ์ ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูกาลผสมพันธุ์ที่พบลูกค้างคาวหัดบิน

นับเป็นการค้นพบกลไกการแพร่เชื้อไวรัสในค้างคาวครั้งแรกของโลกที่ยืนยันว่าเชื้อไวรัสนิปาห์แพร่กระจายจากเยี่ยวค้างคาวเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งประ เทศไทยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไวรัสนิปาห์ได้เช่นกัน หากคนสัมผัสกับเยี่ยวหรือน้ำ ลายค้างคาวโดยตรง หรือสุกรได้รับเชื้อจากสิ่งคัดหลั่งของค้างคาวและแพร่มาสู่คน อย่างไรก็ตามข้อมูลการค้นพบฤดูกาลแพร่เชื้อจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยต่อไป

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบเชื้อ ไวรัสนิปาห์ในหมู่คนไทยรวมทั้งในสุกร จากการสำรวจของกรมปศุสัตว์เป็นประจำทุกปี แต่เมื่อมีการค้นพบเชื้อดังกล่าวในค้างคาว ย่อมเป็นสัญญาณเตือนให้คนไทยควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือยาใดที่รักษาได้ผลโดยตรง

ทั้งนี้หากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากค้างคาว ได้แก่ เยี่ยว น้ำลาย เลือด หรืออวัยวะภายใน รวมทั้งถูกค้างคาวกัดหรือข่วนจะต้อง รีบล้างส่วนที่สัมผัสด้วยน้ำสบู่นาน 10-15 นาที หากมีแผลในบริเวณที่สัมผัสหรือ ถูกค้างคาวกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ 10-15 นาที แล้วไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้อง กันโรคพิษสุนัขบ้า เช่นเดียวกับเมื่อถูกสุนัขกัด เพราะค้างคาวอาจนำโรคพิษสุนัขบ้ามา สู่คนได้

"ประชาชนไม่ควรบริโภคหรือชำ แหละค้างคาว ไม่รับประทานผลไม้ที่มีรอยกัดแทะของค้างคาว และควรทัศนศึกษา ดูค้างคาวด้วยความระมัดระวังและดูในฤดูกาลที่ถูกต้อง โดยงดชมในช่วงเช้าเนื่องจาก ค้างคาวจะถ่ายมาก ฤดูกาลที่ควรระมัดระวัง มากที่สุดคือ เมษายน-พฤษภาคม รวมทั้งเพิ่มการเฝ้าระวังสุกรในพื้นที่เสี่ยงที่มีแหล่งอาศัยของค้างคาว และสวนผลไม้ที่ค้างคาวไปกินเป็นอาหารในฤดูกาลแพร่เชื้อมาก" ดร.สุภาภรณ์กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook