ดัชนีเชื่อมั่นพ.ย.สูงสุด13เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นพ.ย.สูงสุด13เดือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน พ.ย.52 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,242 คนว่า ดัชนีทุกรายการปรับขึ้นอีกครั้ง หลังจากเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีดัชนีบางรายการปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 76.5 เพิ่มจากเดือนต.ค.ที่ 75.4 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปัจจุบัน 63.8 เพิ่มจาก 63.3 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 79.5 เพิ่มจาก 78.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 69.1 เพิ่มจาก 68.0 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 13 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ 67.8 เพิ่มจาก 66.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 92.6 เพิ่มจาก 91.2

ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีเป็นบวกมาจากการที่ผู้บริโภคมีความหวังว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีที่เกี่ยวข้องกับอนาคตปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6-7 เดือนติดต่อกัน และยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสสามปี 52 ทีนตัวขึ้นเหลือติดลบเพียง 2.8% รวมถึงการไม่เกิดความรุนแรงในการชุมนุมการเมือง และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ปรับเพิ่ม ก็ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในเดือน พ.ย.ยังมาจากความวุ่น วายทางการเมือง การตัดสินคดี 76 โครงการมาบตาพุด ค่าครองชีพสูง และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกทั้งการลดค่าเงินด่องของเวียดนาม ที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทย รวมถึงการเกิดปัญหาการชำระหนี้ของกลุ่มดูไบเวิลด์

แม้ดัชนีจะเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ส่งสัญ ญาณว่าความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคยังกังวลและยังระมัดระวังการ ใช้จ่าย เนื่องจากภาคประชาชนยังไม่รับรู้ถึง สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น แต่การใช้จ่ายช่วงปีใหม่น่าจะคึกคักกว่าปีที่แล้วเห็นได้จากดัชนีความเห็นเกี่ยวกับสินค้าคงทน บ้าน รถยนต์คันใหม่ รวมถึงการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 3 จุด ทำให้การใช้จ่าย ซื้อสินค้า ของขวัญน่าจะคึกคัก

ส่วนผลสำรวจ ภาวการณ์ใช้จ่าย ประชาชนยังเห็นว่าการซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน การท่องเที่ยว และลงทุนำธุรกิจมีการปรับตัวดีขึ้น และเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนที่ผลสำรวจภาวการณ์สังคมด้านความสุขในการดำรงชีวิตในอนาคตปรับตัวเกิน 100 อยู่ระดับ 100.9 และความสุขในปัจจุบันสูงขึ้นในรอบ 14 เดือน มาอยู่ระดับ 94.4 แต่ก็มีความวิตกเพิ่มขึ้นต่อปัญหาค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้นและการเมืองไม่แน่นอน

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขณะนี้ยังทรงตัวในระดับต่ำกว่าปกติอยู่ และต้องติด ตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีปัจจัยเสี่ยง สำคัญคือความขัดแย้งทางการเมือง ราคาน้ำมัน การระงับโครงการมาบตาพุดและความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลกว่าฟื้นตัวได้ยั่งยืนหรือไม่ หากปัจจัยเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบ รุนแรงจนมาหักล้าง คาดว่าแนวโน้มความเชื่อมั่นต่อจากนี้มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook