ร่ายรำกับธรรมะ

ร่ายรำกับธรรมะ

ร่ายรำกับธรรมะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

อยากให้ทุกคนช่วยเปิดใจ อยากจะถามว่า สิ่งที่ฉันทำ มันผิดวินัยพุทธไหม ถ้าเราสามารถช่วยเหลือผู้คนได้

หากจะมองว่า พุทธศาสนารับใช้สังคมอย่างไร อาจไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แนวทางพุทธหาใช่แค่การภาวนา ยังมีวิธีการอีกมากมายในการผสานวิถีพุทธเข้ากับวิถีโลกเพื่อช่วยเหลือผู้คน แม้กระทั่งการเต้นรำผสานธรรมะก็สามารถเยียวยาผู้บาดเจ็บทางใจได้

"อยากให้ทุกคนช่วยเปิดใจ อยากจะถามว่า สิ่งที่ฉันทำ มันผิดวินัยพุทธไหม ถ้าเราสามารถช่วยเหลือผู้คนได้" Abhina Weerasinghe อดีตนักแสดงดังชาวศรีลังกาที่หันมาถือพรหมจรรย์ รักษาศีล 5 และใช้ศิลปะการแสดง การเต้นรำเยียวยาผู้คนที่มีปัญหา เล่าด้วยน้ำเสียงทรงพลังในวงเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมที่มีผู้ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 10 ประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่

ในมุมของคนทำงานพุทธศาสนาเพื่อสังคม หลายคนมองว่า พุทธศาสนาไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิหลับตาค้นพบความสงบลำพังคนเดียว แต่มีมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะนำ...ความกรุณาและปัญญาจากการศึกษาปฏิบัติธรรมมาช่วย เหลือผู้คนในสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคม

ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าปัญหาสีผิว ความแตกต่างชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฯลฯ

หากมนุษย์เข้าใจธรรมะก็จะเข้าใจผู้คน ไม่แบ่งแยกเขาหรือเธอ เสมือน...โลกเป็นหนึ่งเดียวกัน

ดังนั้นเวลาที่เรานั่งสมาธิ ภายนอกดูสงบนิ่ง ส่วนภายในจะสงบหรือไหม เราคนเดียวเท่านั้นที่รู้ ประโยชน์อันใดจะก่อเกิด ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจสภาวะที่แท้จริง

"เวลาเราเปิดตาจากสมาธิ สติต้องอยู่กับเรา เราต้องปฏิบัติต่อผู้คนรอบข้างด้วยความกรุณา"

ความกรุณาในความหมายของ หลวงแม่ภิกษุณีธัมมนันทา วัตรทรงธรรมกัลยาณี คือ การรู้จักใช้ธรรมะทำงานเพื่อผู้อื่นด้วยความเมตตา เหมือนเช่นเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมหลายประเทศมารวมตัวกันใน วาระที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี พวกเขาได้นำแนวทางศาสนธรรมเป็นหลักสำคัญในการสร้างสันติภาพและความเป็นธรรม ในสังคม

เหมือนเช่นที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมในเมืองไทย บอกถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนต่างศาสนาว่า เราต้องเคารพศาสนาอื่นด้วย

"เราควรสำรวจการปฏิบัติ เวลาเราให้ทาน เราอวดความมั่งมีกับคนยากจนหรือเปล่า แทนที่จะทำเพื่อความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม..."

ทำทุกข์ให้สิ้น


ในมุมมองของผู้หญิงกับการนำพุทธศาสนามาใช้เป็นแนวทาง เยียวยาตัวเองและสังคม เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ หากกล่าวถึงบทบาทผู้หญิงที่นำพุทธศาสนามาใช้ในสังคม มีนักบวชหญิงและฆราวาสที่ทำงานด้านนี้หลายคน อย่างหลวงแม่ภิกษุณีธัมมนันทา ซึ่งมีบทบาททั้งการเป็นนักเขียนเผยแพร่ธรรมะในหลากมุมมอง การสอนธรรมะให้คนไทยและชาวต่างชาติ

หลวงแม่ภิกษุณีธัมมนันทา บอกว่า ในฐานะนักบวชชาวพุทธ เราต้องพยายามทำทุกข์ให้สิ้น ทำนิพพานให้แจ้ง นี่คือเป้าหมายหลักของการบวช และในความพยายามที่จะทำแบบนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยสังคมรอบข้างได้ด้วย

"เราจะทำทุกข์ให้สิ้นเฉพาะตัวเราเป็นไปไม่ได้ เพราะประชาชนเลี้ยงเรา จึงเกิดการเชื่อมโยงระหว่างเรากับสังคม เมื่อเราปฏิบัติตามแนวทางคำสอนพระพุทธเจ้า เพื่อคลายทุกข์ เราก็เอาเรื่องเหล่านี้มาบอกกล่าวคนในสังคม"

บทบาทของหลวงแม่ นอกจากการบรรยายธรรมทั้งการพูดและเขียนแล้ว ท่านยังมีคอร์สอบรมธรรมะสำหรับผู้หญิง 3 วัน ,คอร์สปฏิบัติและเรียนรู้ธรรมะกับชีวิต 7 วันเป็นภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยและต่างชาติ และการบรรพชาติสามเณรี โรงเรียนเพื่อชีวิตที่ดีและมีสุข 9 วัน เพื่อให้ผู้หญิงได้เข้ามาสัมผัสชีวิตนักบวชหญิงตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ฯลฯ (ดูได้ที่เว็บ www.thaibhikkunis.org)

"เรารู้ว่าผู้หญิงจะบวชทันทีหรือบวชตลอดชีวิตเป็นเรื่องยาก หลวงแม่พยายามสรรหาผู้หญิงที่เอาจริงมานาน 8 ปี แต่เพิ่งมาคิดได้ว่า ปีนี้น่าจะเปิดบรรพชาสามเณรีทั่วไป 9 วัน ซึ่งผู้หญิงก็จะได้ฐานใจมีความเข้าใจธรรมะมากขึ้น รู้ประวัติพุทธศาสนา เป็นสื่อที่จะบอกครอบครัวและสังคมว่า ผู้หญิงบวชได้"

ส่วนความเข้าใจเรื่องภิกษุณี หลวงแม่บอกว่า ความไม่เข้าใจ ไม่ถือเป็นปัญหา ในการเข้ามารับใช้พุทธศาสนา หน้าที่หลักคือ การให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องในพุทธศาสนา ถ้ามีความเข้าใจตรงนี้แล้ว การยอมรับเรื่องภิกษุณีจะเป็นไปตามธรรมชาติ

พุทธบำบัดใจ


Dharmacharini Ratnadharini นักบวชอีกคนในอังกฤษ ซึ่งอยู่ในชุมชนปฏิบัติตามแนวพุทธให้สอดคล้องกับวิถีสมัยใหม่ นอกจากใช้ชีวิตในชุมชนพุทธ อีกด้านก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม

"ชุมชนของเราเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาศึกษาธรรมะ เข้าเงียบ และมีธรรมะสัญจร ตัวฉันต้องทำงานทั้งธุรกิจและเครือข่าย เพื่อให้จิตใจมีความคิดสร้างสรรค์อยู่เรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันชีวิตก็ยุ่ง ฉันก็เลยเรียนเต้นรำเพื่อความผ่อนคลาย"

สำนักปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธที่ท่านอยู่ ไม่ได้อยู่ด้วยเงินบริจาคเหมือนเมืองไทย ต้องมีรายได้จุนเจือจากการทำงาน ซึ่งเธอเลือกทำธุรกิจสีเขียว และพวกเขาเห็นว่า การปฏิบัติธรรมคือ การฝึกอยู่ร่วมกับสังคม บางครั้งชุมชนพุทธแห่งนี้ก็มีบทบาทเข้าร่วมประท้วงในบางเรื่องที่เห็นว่า ไม่ถูกต้องในสังคม

นี่คือบทบาทส่วนหนึ่งในมุมกว้างที่ท่านเล่าถึงชุมชนชาวพุทธเล็กๆ ในอังกฤษ ส่วนในศรีลังกา แม้จะเป็นสังคมชาวพุทธ แต่ก็มีปัญหาสังคมมากมายไม่ต่างจากประเทศอื่น

Abhina Weerasinghe นักแสดงดังชาวศรีลังกาที่หันมาใช้ธรรมะและศิลปะการแสดงเยียวยาผู้คนที่มี ปัญหาในสังคม เธอพูดในที่ประชุมได้อย่างน่าฟัง ในสังคมศรีลังกา Abhina เป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงดัง

เธอเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตว่า หลังเหตุการณ์สึนามิ ประเทศของเราสูญเสียมาก ตอนนั้นฉันรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ดาราไปเยี่ยมคนที่สูญเสียญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉันร้องไห้อยู่ 4 วัน

"ตอนที่ฉันไปเยี่ยมผู้คนในเหตุการณ์นั้น ผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากอดฉันแล้วร้องไห้ ฉันไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ยิ้ม...ยิ้ม ความจริงแล้วฉันน่าจะทำได้มากกว่านั้น ผู้หญิงคนนั้นบอกฉันว่า "ครอบครัวของฉันหายไปกับคลื่นยักษ์ แล้วร้องไห้" คำพูดนั้นทำให้หัวใจของฉันเปิด"

จากเหตุการณ์วันนั้น Abhina ใช้ความเป็นนักแสดงตระเวนหาทุนมาช่วยเหลือคน และไม่ได้สนใจอาชีพการแสดงอีกต่อไป เธอเริ่มช่วยเหลือผู้คน นำการแสดงเข้ามาบำบัดใจคนที่มีปัญหาในสังคม

นี่คือ สิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ เธอมีพลังข้างในที่จะทำเพื่อผู้อื่นและใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่คือ พลังการแสดงผสานกับการศึกษาและปฏิบัติตามแนวพุทธ แม้เธอจะไม่ได้บวช แต่ก็ถือศีล

"ฉันใช้วิธีการแสดงช่วยเหลือบำบัดผู้คน ทุกคนเชื่อใจฉัน เพราะฉันเป็นนักแสดง เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งมาเข้าคอร์สบำบัดอยู่ครึ่งวัน เธอถามฉันว่า คุณเป็นนักมายากลหรือเปล่า"

เพราะพลังการแสดงที่เธอใช้ ทำให้ผู้หญิงที่มีบาดแผลทางใจกลับมาเต้นรำกับชีวิตได้อีก เธอบอกว่า เพิ่งทำงานทางธรรมะไม่นาน และมีคนบอกเธอว่า อย่าไปสอนธรรมะชั้นสูงกับผู้คนที่กำลังตกทุกข์ลำบากใจ เราต้องค่อยๆ สอน

กระบวนการบำบัดใจผู้คนตามวิธีการของเธอ นอกจากการแสดงแล้ว ยังมีการสอดแทรกธรรมะ เธอเล่าว่า ตัวเธอเองได้เรียนรู้การแสดงตามแบบวัฒนธรรมศรีลังกา งานส่วนใหญ่จะอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง เรามีห้องเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เน้นเสียงเพลงและการแสดง

"การบำบัดผู้คนมีการเต้นรำ บางวัดก็ไม่สนับสนุน แต่ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน " Abhina เล่าถึงงานที่ทำ และย้อนถึงสมัยเป็นนักแสดงว่า ฉันเคยพูดอะไรบางอย่างที่ถูกต้องเกี่ยวกับนักการเมืองบางคนบนเวทีก่อนการ เลือกตั้ง จากเหตุการณ์นั้นทำให้บ้านของฉันถูกเผา เพื่อข่มขู่สิ่งที่ฉันทำ ตอนนั้นฉันอยู่ในอินเดีย

"ทั้งๆ ที่เวทีนั้นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แต่ฉันเป็นผู้หญิงและเป็นม่ายด้วย ฉันจึงโดนเผาบ้าน ตอนฉันเหยียบเข้าไปในบ้านที่เหลือแต่ซาก มีสิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือ รูปพระพุทธเจ้า ภาพนี้ถูกทิ้งไว้ ทำให้ฉันเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและรู้จักธรรมะ"

ปัจจุบันเธอทำงานในนามมูลนิธิ Abhina โดยเน้นเรื่องการใช้พุทธศาสนาเป็นรากฐานในการช่วยเหลือผู้คน นอกจากนี้เธอยังมีสถาบันสอนศิลปะการแสดง

Abhina ย้อนถึงชีวิตวัยเด็กว่า เธอมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลความเจริญ เวลาไปโรงเรียนต้องเดิน ไม่มีเงินจ่ายค่ารถ กลางวันไม่มีข้าวกิน เวลาเห็นเครื่องบินผ่านมาก็จะโบกมือไปมา และไม่เคยนึกว่าจะได้นั่งเครื่องบิน

จนในที่สุดเธอมีโอกาสเดินทางไปเรียนการละครที่อังกฤษ และมีโอกาสมากมายในชีวิต ทั้งชื่อเสียงและเงินทอง แต่เธอก็ไม่เคยลืมวิถีชีวิตในหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติ และสังคมที่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ณ วันนี้ เธอจึงพยายามช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะไม่ยิ่งใหญ่ แต่เธอก็ภูมิใจ

พุทธเพื่อสังคม


ในสังคมพุทธญี่ปุ่นมีการนำธรรมะมาใช้ให้คำปรึกษา สำหรับคนคิดฆ่าตัวตาย ในไต้หวันใช้แนวพุทธร่วมกับศาสนาอื่น เพื่อทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับบ่อนกาสิโนและประสบความสำเร็จ ส่วนในสังคมไทยใช้พุทธศาสนาทำงานทั้งการศึกษาและเด็กยากจน รวมถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม

นอกจากใช้พุทธศาสนาเพื่อหาทางออกให้สังคมแล้ว คนทำงานเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม ยังตระหนักถึงปัญหาของโลก หลายประเทศมีปัญหาไม่ต่างกัน คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

สำหรับการนำพุทธศาสนามารับใช้สังคมไทย พระไพศาล วิสาโล บอกว่า คณะสงฆ์ไทยและฆราวาสที่มีบทบาทเพื่อสังคมยังมีไม่มาก และบางครั้งก็มองข้ามเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนใหญ่จะใช้เวลาฝึกปฏิบัติกับตัวเอง

"คณะสงฆ์ไทยยังมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ โดยเฉพาะในเรื่องเงิน อาตมาคิดว่า ควรมีจุดยืนห่างจากรัฐ แต่คณะสงฆ์ไทยผนวกรวมกับโครงสร้างของรัฐ ทำให้มหาเถรสมาคมเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก่อนอื่นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อไปสู่ความยุติธรรมในสังคม เพราะมหาเถรสมาคมไม่ค่อยเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม สนใจเฉพาะกิจการของสงฆ์"


พระไพศาล บอกถึงจุดอ่อนสถาบันสงฆ์ในเมืองไทยอีกว่า ทั้งส่วนของฆราวาสและคณะสงฆ์ ยังขาดการมีส่วนร่วมในสังคม ในอนาคตสถาบันสงฆ์ควรทำงานอย่างหนัก เพื่อส่งเสริมเสรีภาพภายในและภายนอก เพราะคนในสังคมมีความทุกข์มากมาย และโครงสร้างสังคมก็อ่อนแอ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook