หวั่น กกต.ส่งเชือด ส.ว.ผิดศาล

หวั่น กกต.ส่งเชือด ส.ว.ผิดศาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานตุลาการฯ ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อนัดพร้อมคู่ความ สอบถามถึงพยานหลักฐานที่จะต้องนำสืบเพิ่มเติม และกำหนดประเด็นแนวทางในการไต่สวน คดีประธานวุฒิ สภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(4) และมาตรา 115(6) จากกรณีที่นายสุรเดช ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค ประชาธิปัตย์ไม่ถึง 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าต้องพิจารณาเพียงประเด็นเดียว คือนายสุรเดช ได้สมัครเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 21 พ.ค. 2545 จริงหรือไม่ ส่วนข้อเท็จจริงอื่นสามารถยุติได้ในตัวอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางฝ่ายผู้ร้องได้ขอสืบพยานเพิ่มเติมจำนวน 5 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของ กกต. ที่ดูแลในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง และคณะกรรมการไต่สวน คดีนี้ ในขณะที่ผู้ถูกร้องได้ขอเบิกพยานจำนวน 10 ปาก โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง และเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงตัวเองด้วย นอกจากนี้ยังได้ขอฐานข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์ และ กกต. ในระหว่างปี 2545-2550 ทั้งนี้ผู้ถูกร้องได้ขอเลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นเดือน ม.ค. 2553 โดยอ้างว่าคณะทนายความได้นัดหมายต่อศาลอื่นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ยินยอม โดยจะไต่สวนพยานผู้ร้องในวันที่ 16 ธ.ค. 2552 ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องให้นัดไต่สวนในวันที่ 14 ม.ค. 2553

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณีดักล่าวยังคงเป็นปัญหาข้อถกเถียงที่แตกต่างกันอยู่ทั้งในระดับชั้นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน และใน กกต. เอง เนื่องจากเป็นการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ดังนั้นน่าจะส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาการที่ กกต. ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรม นูญพิจารณานั้นจะเป็นการยื่นผิดศาลหรือไม่ ทั้งนี้กระบวนการการดำเนินการของ กกต. ต้องพิจารณาตามระเบียบของการสืบสวนสอบสวน เมื่อสืบสวนสอบสวนจนได้ข้อเท็จจริงปรากฏ และเห็นว่าสมควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ต้อง ส่งเรื่องให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัย ตามมาตรา 239 ของรัฐธรรมนูญ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook