ขู่ถอดมาร์คพิษมาบตาพุด

ขู่ถอดมาร์คพิษมาบตาพุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อานันท์ส่งแผนแก้วิกฤตินายกฯห่วงปัญหาซ้ำซาก

อานันท์คาดส่งพิมพ์เขียวแก้ปัญหามาบตาพุดให้รัฐบาลสัปดาห์หน้า นายกฯเผย ครม.ห่วงปัญหาเกิดซ้ำซาก เร่งสางปัญหาปกปิดข้อมูล จี้ให้เร่งแก้ไข เพื่อไทย ถล่มรัฐบาลเกียร์ว่างซ้ำเติมปัญหามาบตาพุด จี้ดำเนินการตาม รธน. มาตรา 67 ซัดรัฐบาลละเว้นการปฏิบัติตาม กฎหมาย เล็งเข้าชื่อถอดนายกฯ กนอ. สั่งระงับ 18 โครงการ เอสซีจี เคมิคอลส์ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน

เมื่อเวลา 06.40 น. วันที่ 9 ธ.ค. ที่ห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาก๊าซรั่วในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และการปิดบังข้อมูลจนทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเดือดร้อน ว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันและสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือระบบของข้อมูลไม่ใช่เฉพาะในแง่ของฝ่ายปกครอง แต่ในส่วนของสาธารณสุขเองก็ต้องการดำเนินการ เพราะรัฐบาลกำลังจะลงทุนในเรื่องการบริการสาธารณสุข หากบุคลากรสาธารณสุขไม่ได้รับข้อมูล ทั้งหมดแล้วการเข้าไปช่วยเหลือก็ยากขึ้น ภาค เอกชนอาจจะมองว่าเป็นความลับทางการค้า แต่ก็ต้องมีการวางระบบในเรื่องของการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์โดยไม่กระทบกระเทือน

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่เหตุเกิดตั้งแต่เวลา 14.00 น. แต่ภาครัฐเพิ่งทราบข้อมูลในช่วงค่ำ นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กำลังให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เท่าที่ทราบคือทางท้องถิ่นจะเป็นคนที่รับรู้รับทราบข้อมูลก่อน ซึ่งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ มอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เมื่อ ถามว่าจำเป็นต้องติดตั้งระบบเตือนภัยหรือไม่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บังเอิญเหตุที่เกิดขึ้นมันเป็นเหตุของเรือ ที่เข้ามา แต่ทั้งหมดระบบการได้ข้อมูลและการนำไปสู่การปฏิบัติการที่ทันท่วงทีเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ที่พรรคเพื่อไทย คณะทำงานด้านเศรษฐ กิจและฝ่ายกฎหมาย นำโดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมเพื่อศึกษาและติดตามผลกระทบจากกรณีศาลปกครอุดมีคำสั่งระงับ 65 โครงการในมาบตาพุด ว่า รัฐบาลเคยแถลงนโยบายว่าจะปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้เสมือนรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับปัญหา ปล่อยเกียร์ว่างจนปัญหาใน จ.ระยอง ถูกซ้ำเติม ล่าสุดได้เกิดแก๊สรั่วมีผู้ได้รับผลกระทบเข้าโรงพยาบาลกว่า 50 ราย จึงเห็น ว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญและตรวจสอบใกล้ชิดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ดังนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นชัดว่ารัฐ บาลละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่าอาจจะเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ต่อมาเวลา 16.50 น. ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรม การ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 ในการแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า การประชุมในวันนี้คณะกรรมการฯ ดูรายละเอียดในเรื่องการพิจารณาอีไอเอและเอชไอเอ ซึ่งในเรื่องเอชไอเอนั้นคณะกรรมการยังมีข้อติดใจอยู่ 1-2 ประเด็นที่ต้องตกผลึกให้มีความ ชัดเจนก่อน แต่สรุปแล้วโรงงานทั้งหมดที่มีปัญหาก็พร้อมที่เข้าสู่กระบวนการทำอีไอเอและเอชไอเอใหม่ โดยคาดว่าจะสามารถส่งร่าง ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ไปให้รัฐบาลได้ภายในปลายสัปดาห์หน้า

นายสุทธิ อัชฌาศัย คณะกรรมการฯ กล่าวว่า ประเด็นในเรื่องการทำเอชไอเอที่คณะกรรมการฯ ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น คือรูปแบบโครงการประเภทรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งจะให้คำนิยามอย่างไรว่าโครงการใดส่งผลกระทบรุนแรงบ้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะใช้รูปแบบ 19 ประเภทโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เคยทำไว้เดิม หรือยึดตามรูปแบบ 8 ประเภทโครงการฯ ของกระทรวงอุตสาห กรรม

วันเดียวกัน นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าร่วมประชุม กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และได้รับแจ้งจาก กนอ.สั่งให้โครง การของกลุ่มบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ หยุดกิจกรรมทั้งหมด 18 โครงการเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้โครงการของเอสซีจี เคมิ คอลส์ ทั้ง 18 โครงการมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 57,500 ล้านบาท ซึ่งจากการหยุดกิจกรรมชั่วคราวนี้ ทำให้เกิดผลกระทบทางการเงินหลายด้าน ขึ้นอยู่กับความล่าช้าของแต่ละโครงการ อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่าง การประเมินมูลค่าความเสียหายของโครงการและหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ด้านนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายในงานสัมมนาเรื่อง ทางออกวิกฤต... อุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม ว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการทั้ง 65 รายระงับการดำเนินการชั่วคราวตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แต่หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล หน่วยงานของรัฐก็สามารถใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้ ส่วนกรณีเอกชนจะฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่สั่งระงับกิจการชั่วคราวนั้น ถือว่าเป็นสิทธิของเอกชนที่จะฟ้องร้องได้ แต่คงไม่ใช่ทางออก เพราะอาจจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนได้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook