จี้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม

จี้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เผยวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองถูกรัฐคุกคาม

ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการอำนวยการบูรณาการ เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นกฎหมายสำหรับคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เนื่องจากทุกวันนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ชนเผ่าต่าง ๆ ไม่มีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้องสิทธิทางวัฒนธรรมกับหน่วยงานภาครัฐในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การใช้ภาษา การศึกษา ที่อยู่อาศัย หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขณะที่ภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองทุกวันนี้ ส่วนมากเป็นรูปแบบภัยคุกคามจากภาครัฐ ชนเผ่าพื้นเมืองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้ โดยเฉพาะประเด็นการทำไร่หมุนเวียนของชนเผ่า แต่เมื่อรัฐบาลบอกว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยซึ่งผิดกฎหมายจึงไม่สามารถทำมาหากินได้ เป็นต้น

ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวต่อไปว่า ตนได้เสนอว่ารัฐบาลควรที่จะเข้ามาดูแลสิทธิทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามหาก วธ.จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงต้องทำด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ตั้งโครงการเพื่อให้ข้าราชการและรัฐมนตรีได้ผลงานแค่การสร้างภาพ รวมทั้งต้องมีวิธีการอะไรใหม่ ๆ มากกว่าการนำโครงการเดิมลงพื้นที่ ซึ่งโครงการต่าง ๆ นั้น บางครั้งเป็นการซ้ำซ้อนและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่ชาวบ้านแต่อย่างใด

ด้าน อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี จากภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบปัญหาชนกลุ่มน้อยถูกภาครัฐรังแกโดยการใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการถือครองที่ดินต่าง ๆ มาดำเนินการ ซึ่งมีการจับกุมและปรับเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปจนไม่เหมาะสม อาทิ การปรับเงินชนกลุ่มน้อยครั้งหนึ่งหลายแสนบาท ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวได้แน่นอน ทั้งนี้ตนมองว่าการกระทำดังกล่าวของภาครัฐขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพูดถึงการเคารพสิทธิ การส่งเสริมชาวบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2547.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook