มาร์ค ยันขีปนาวุธ โสมแดง! ไทยจ่อแจ้ง ยูเอ็น

มาร์ค ยันขีปนาวุธ โสมแดง! ไทยจ่อแจ้ง ยูเอ็น

มาร์ค ยันขีปนาวุธ โสมแดง! ไทยจ่อแจ้ง ยูเอ็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จับบินขน"ขีปนาวุธ"ลามระดับโลก"มาร์ค"ยันเป็นของ"โสมแดง"ยังไม่ชัดเอี่ยวขบวนการก่อการร้าย เผยไทยต้องแจ้ง"ยูเอ็น"ภายใน 45 วัน ตามมติฯ1874 ระบุห้ามส่งอาวุธจากแดนโสมแดงเด็ดขาด "สุเทพ" ขอ 2 วันแจงรายละเอียด "ปณิธาน" ย้ำ นายหน้าค้าอาวุธโสมแดง เป็นผู้จัดขนส่ง เตรียมเข้าตรวจสอบอาวุธทั้งหมด เผยมี ขีปนาวุธพาดบ่า-เครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี สถานทูตคาซัคฯ ร่วมสอบปากคำ 5 ผู้ต้องหา ปฏิเสธลั่นขอให้การชั้นศาล ตร.ค้านประกัน เตรียมฝากขัง 14 ธ.ค. โฆษกสถานทูตมะกันปัดไม่รู้เรื่อง

จากกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย ได้รับการประสานงานจากทางการสหรัฐให้เข้าตรวจสอบเครื่องบินของสายการบิน Airwesl สัญชาติจอร์เจีย เที่ยวบิน AWG 732 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบ IL-76 ทะเบียนเครื่อง 4L-AWA ที่เดินทางมาจากกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือจุดหมายปลายทางที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งขอร่อนลงฉุกเฉินเพื่อเติมเชื้อเพลิงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่เมื่อตรวจสอบสินค้าที่บรรทุกมา พบว่าเป็นขีปนาวุธและอาวุธ ต่าง ๆ น้ำหนักรวม 40 ตัน เจ้าหน้าที่จึงจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติคาซัคสถานและเบลารุส รวม 5 คน ไปสอบปากคำ เบื้องต้นแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนฯ และความผิดฐานสำแดงเท็จตามกฎหมายศุลกากร และกำลังขยายผลว่าเป็นขบวนการค้าอาวุธให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือไม่ เหตุเกิดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 11-12 ธ.ค. ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ธ.ค. ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการกับเครื่องบินขนอาวุธสงครามที่ทางการไทยจับกุมได้ว่า ต้องรอดำเนินการตามข้อมติของสหประชาชาติกับกฎหมายภายในของเรา ขณะนี้การสืบสวนสอบสวนคืบหน้าไปพอสมควร เพราะฉะนั้นการตั้งข้อหาต่าง ๆ ก็น่าจะเสร็จเรียบร้อยเร็ว ๆ นี้ ส่วนของกลางจะต้องตรวจสอบในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เพราะแนวปฏิบัติตามหลักสากลจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทสิ่งของ แต่เราเดินทางตามขั้นตอนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยจะได้ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดทั้งหมดไป ตลอดจนยึดกฎหมายภายในอย่างเคร่งครัด

เมื่อถามว่า ในส่วนของผู้ต้องหาเราจะดำเนินคดีในประเทศไม่มีการส่งตัวใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศเรื่องการครอบครองสิ่งของซึ่งไม่ได้สำแดงและเป็นอาวุธ ก็ต้องมีความผิดด้วย ทั้งนี้ เครื่องบินลำ ดังกล่าวได้ลงจอดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็มีเบาะแส และมีการทำงานทางการข่าวร่วมกับประเทศอื่นว่าเครื่องบินลำนี้ต้องสงสัย เมื่อมาจอดเติมน้ำมันจึงได้มีการเข้าไปตรวจค้นและเจออาวุธ เนื่องจากเครื่องบินขนอาวุธมาหนักมาก จึงต้องเติมน้ำมันเป็นระยะ ๆ ดังนั้นเข้าใจว่าจุดต่อไปเขาจะไปเติมน้ำมันต่อที่ประเทศศรีลังกา ส่วนปลายทางว่าจะไปต่อที่ไหนนั้นเราไม่ทราบ และยังไม่ทราบว่าอาวุธที่มีในเครื่องบินมีอะไรบ้างต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ชี้แจง "เราจะต้องแจ้งให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ มี 3-4 ประเทศ อย่างในส่วนของสินค้าเป็นของบริษัทเกาหลี ส่วนคนเป็นสัญชาติเบลารุส และคาซัคสถาน ส่วนเครื่องบินเป็นของจอร์เจีย และยังไม่มีอะไรชัดเจนว่าการจับกุมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย"

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า รัฐบาลจะให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายประเทศ ตนขอเวลาอีก 2 วันจะให้ความชัดเจนทั้งหมด นอกจากนี้จะต้องรายงานให้สหประชาชาติหรือยูเอ็นรับทราบเรื่องอย่างละเอียด เพราะเป็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ ตนขอให้ความมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศไทย

ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า อาวุธที่ขณะนี้ยืนยันว่ามาจากประเทศเกาหลีเหนือนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดูแลแต่จัดเก็บอยู่ในพื้นที่ของกองทัพ อากาศ โดยจะเริ่มดำเนินการสำรวจในวันอังคารที่ 15 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้เราจะต้องดำเนินการตามมติสหประชาชาติมาตรา 1874 ซึ่งมีกำหนดขั้นตอนดำเนินการไว้ 4 ขั้นตอนคือ เมื่อพบอาวุธที่ละเมิดมติสหประชาชาติต้องดำเนินการสำรวจและยึดของกลาง จากนั้นต้องทำรายงานแจ้งให้สหประชาชาติทราบและอาวุธที่เป็นอาวุธร้ายแรงก็ต้องทำลาย อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นเท่าที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยสายตาพบว่ามีอาวุธหลายชนิด เช่น ขีปนาวุธพาดบ่า เครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี ท่อขนาดใหญ่ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นส่วนประกอบอาวุธชนิดใด โดยอาวุธทั้งหมดมีน้ำหนักประมาณ 30 กว่าตัน แต่เครื่องบินสามารถบรรทุกได้ 50 ตันและเป็นเครื่องบินที่จดทะเบียนประเทศจอร์เจียที่ได้รับแจ้งว่า จะลงมาเติมน้ำมันและจะบินเติมน้ำมันอีกครั้งที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนว่าจะบินไปประเทศไหนต่อไป

"จากรายงานทางการข่าวพบว่าการขนอาวุธครั้งนี้เป็นขบวนการซื้อขายอาวุธโดยมีบริษัทนายหน้าของประเทศเกาหลีเหนือเป็นผู้จัดขนส่งทางเครื่องบินแต่เราไม่แน่ใจว่าจะขนส่งไปกระจายให้ใครบ้างซึ่งโดยปกติแล้วจะมีจุดกระจายอาวุธหรือบางครั้ง กระจายทางเรือ แต่ในชั้นนี้เป็นเครื่องบินที่บินลงมาเติมน้ำมันในประเทศไทยเท่านั้น เพราะเครื่องบินบรรทุกของหนัก" นายปณิธาน กล่าว

ด้านนายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องรายงานต่อสหประชา ชาติ (ยูเอ็น) ภายใน 45 วัน ตามข้อมติของสหประชาชาติที่ 1874 (2009) ว่าด้วยเรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งหนึ่งในรายละเอียด ของข้อมติคือการห้ามการขนส่งอาวุธจากเกาหลีเหนือ ถึงกระบวนการดำเนินคดี โดยอาจส่งให้คณะทูตถาวรไทยประจำสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้รายงาน

เช้าวันเดียวกัน ที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่สถานทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย 2 คน พร้อมล่ามสาวชาวรัสเซีย 1 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.ท.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ รอง ผกก.1 บก.ป. เพื่อร่วมทำการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 5 คน คือ นายอเล็กซ์ซานเดอร์ ไซรเนฟ อายุ 53 ปี ลูกเรือ ถือพาสปอร์ตเลขที่ N 3212030 นายวิคเตอร์ อัลดุลลายาฟ อายุ 58 ปี ลูกเรือ ถือพาสปอร์ตเลขที่ N 2659630 นายวิทาลี ซุมคอฟ อายุ 54 ปี ลูกเรือ ถือพาสปอร์ตเลขที่ N 2708199 นายอิลยาส อิสซาคอฟ อายุ 53 ปี ลูกเรือ ถือพาสปอร์ตเลขที่ N 3052168 ทั้งหมดสัญชาติคาซัคสถาน และนายมิคาอิล พีทูคู อายุ 54 ปี สัญชาติเบลารุส นักบิน ถือพาสปอร์ตเลขที่ BM 1730746

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนต่างมีสีหน้าเรียบเฉยปกติ โดยก่อนสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ได้นำอาหารเช้าเป็นไส้กรอกไข่ดาว ขนมปังและกาแฟบริการให้ผู้ต้องหา ซึ่งทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของกองปราบปรามตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน มาสอบสวนที่ห้องสอบสวนกองกำกับการ 1 โดยนำเอกสารของผู้ต้องหาซึ่งเป็นภาษารัสเซีย รวมถึงหนังสือเดินทาง มาตรวจสอบหาประวัติอาชญากร ในเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่ารับจ้าง ขนส่งสินค้าจากบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ไม่ทราบว่าภายในมีการบรรจุสินค้าใดเอาไว้ ซึ่งทางชุดสอบสวนของกองปราบปราม จะได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบว่าบริษัทที่ถูกกล่าวอ้างนั้น เป็นบริษัทค้าอาวุธสงครามที่ถูกต้องหรือไม่

ต่อมาโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางมาที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อร่วมสอบปากคำ 5 ผู้ต้องหา ภายหลังระบุว่า เรื่องที่ทางสถานทูตและผู้ต้องหาได้ร้องขอทางสิทธิมนุษยชนนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่อง มีดโกนหนวด หมอน สบู่ ชุดสูท และเสื้อเชิ้ต เพื่อใส่ไปขึ้นศาลฝากขังผลัดแรกในวันที่ 14 ธ.ค. รวมถึงเรื่องอาหารที่ผู้ต้องหาร้องขอเป็นข้าวผัดไม่ใส่หมูเพราะเป็นชาวมุสลิม นอกจากนี้ทางสถานทูตยังขอให้ตำรวจดำเนินการเรื่องการประกันตัว ซึ่งตนได้อธิบายไปแล้วว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้คัดค้านการประกันตัว แต่หากขอประกันตัวในชั้นศาลก็เป็นสิทธิของ ผู้ต้องหาที่สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกองปราบปรามที่ร่วมทำสำนวนการสอบสวน ในคดีนี้ ได้อาศัยอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีความผิดเกิดนอกราชอาณาจักร (มาตรา 20) ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบผู้ชี้ขาดการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 21) กรณีจังหวัดเดียวกัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ชี้ขาด ถ้าเป็นกรุงเทพมหานคร ให้ รอง ผบ.ตร. ขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาด กรณีระหว่างหลายจังหวัด ให้อัยการ สูงสุด หรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด การรอคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจาก กรุงเทพฯ ว่า ตามที่มีรายงานข่าวเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ของไทยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐเป็นผู้ให้เบาะแสชี้นำกับเจ้าหน้าที่ของไทยในการจับกุมและยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมากจากเครื่องบินขนส่งลำหนึ่งที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น นายไมเคิล เทอร์เนอร์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐกล่าวว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็น ใด ๆ ในเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า การยึดอาวุธครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังจากที่นายสตีเฟ่น บอสเวิร์ธ ทูตพิเศษของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเป็นเวลา 3 วันในภารกิจสำคัญเพื่อเกลี้ยกล่อมให้เกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายว่าด้วยการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทูตพิเศษของสหรัฐก็ยอมรับว่า ทั้งสองฝ่ายบรรลุความเข้าใจร่วมกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเจรจากันใหม่

โดยศาสตราจารย์ยัง มู-จิน แห่งภาควิชาเกาหลีเหนือศึกษา มหาวิทยาลัยโซล ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่การยึดอาวุธครั้งนี้จะส่งผลกระทบเป็นภาพลบต่อความเคลื่อนไหวที่จะนำเกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย ขณะที่นายบัค ซุง-จู นักวิเคราะห์แห่งสถาบันวิเคราะห์กลาโหมของเกาหลี เปิดเผยว่า การยึดอาวุธสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐมีเจตนาที่จะเดินหน้าต่อไปกับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่อไป ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเจรจาด้วย ทั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถยึดเรือสินค้าลำหนึ่งติดธงบาฮามาสขณะเดินทาง มุ่งหน้าสู่อิหร่าน สามารถยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เช่น จรวดอาร์พีจี และอื่น ๆ โดยเป็นอาวุธที่มาจากเกาหลีเหนือ นับเป็นการยึดอาวุธครั้งแรกนับตั้งแต่มีการคว่ำบาตรเป็นต้นมา.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook