เซ็นเซอร์แม่เหล็กไร้สาย

เซ็นเซอร์แม่เหล็กไร้สาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นวัตกรรมเดนใน TESCA 2009

ปัญหาจราจรยังนับเป็นปัญหาหลักของเมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานคร โปรแกรมจราจรอัจฉริยะจึงเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ให้มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปบริหารจัดการการจราจรให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้น

ซึ่งสิ่งที่สำคัญของการทำจราจรอัจฉริยะ ก็คือการเก็บข้อมูลจราจร ที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบขั้นแรกในการได้มาซึ่งข้อมูลก่อนที่จะนำไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้งาน

ดร.จตุพร ชินรุ่งเรือง นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่าปัจจุบันความต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลจราจรอัตโนมัติ มีมากขึ้นตามปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือขดลวดเหนี่ยวนำ เนื่องจากมีความแม่นยำสูงและราคาไม่แพงมาก

แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เรื่องของการติดตั้งรวมถึงการบำรุงรักษาที่ต้องมีการขุดเจาะพื้นผิวจราจร

งานวิจัย เซ็นเซอร์แม่เหล็กไร้สาย สำหรับการตรวจนับรถยนต์เก็บข้อมูลจราจร บนท้องถนน จึงเกิดขึ้น

โดยเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาทดแทนการเก็บข้อมูลแบบขดลวดเหนี่ยวนำ

เพราะจุดเด่นอยู่ที่ลดขนาดพื้นทรติดตั้ง เนื่องจากมีขนาดเล็ก ทนทาน และซ่อมแซมง่าย

ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง เหมือนแบบเดิมและที่สำคัญถูกกว่าอีกด้วย

หลักการทำงาน ใช้ความรู้ในเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวหรือชิพในการตรวจจับสนามแม่เหล็ก ที่ถูกติดตั้งในอุปกรณ์ เมื่อรถยนต์ซึ่งเป็นโลหะหรือเหล็ก วิ่งผ่าน สนามแม่เหล็กจะมีการเปลี่ยนแปลง สามารถนำไปประมวลผลได้ ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กที่จัดเก็บได้ สามารถ วิเคราะห์ได้ทั้งจำนวนรถ ประเภทรถยนต์ ซึ่งดูจากความยาวของรถเป็นหลักว่าเป็นรถเก๋ง กระบะ รถตู้ หรือว่าเป็นรถเมล์รถบรรทุก รวมถึงเช็กได้ด้วยว่าเป็นรถเข้าหรือออกกี่คัน

วัดรถ ได้ภายในระยะ 1 เมตร และวัดความเร็วได้สูงถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับการส่งข้อมูลเป็นแบบเครือข่ายไร้สาย ผ่านคลื่นวิทยุ ไปยังจุดจัดเก็บได้ในระยะ 20-30 เมตร

ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปแสดงผลเป็นกราฟการจราจรในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้

ดร.จตุพร บอกว่างานวิจัยนี้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2550 แล้วเสร็จในปีนี้ มีการทดสอบกับด่านเก็บเงินค่าผ่านทางดอนเมือง โทลล์เวย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบต้นแบบกับที่จอดรถของสวทช.

เทียบข้อดีข้อด้อยกับการเก็บข้อ มูลจราจรแบบอื่น ๆ อย่างเช่น กล้อง ซีซีทีดร.จตุพร บอกว่า กล้องมีความแม่นยำสูง และเห็นภาพ แต่มีราคาแพง ดังนั้น งานวิจัยเซ็นเซอร์แม่เหล็กไร้สายเหมาะที่จะไปเป็นส่วนเสริมของการเก็บข้อมูลจราจร หรือปรับใช้เชิงพาณิชย์ด้านต่าง ๆ มากกว่าที่จะไปทดแทน

จากความแปลกใหม่และประ โยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับจราจรเมืองไทย ผลงานนี้ การันตีด้วยรางวัลที่ 2 ด้านนวัตกรรม จากโครงการประกวดผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งชาติหรือ TESCA 2009 ประเภทระบบสมองกลฝังตัว ซึ่งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติหรือซิป้า ประกาศผลไปเมื่อปลายเดือนพฤจิกายนที่ผ่านมา

ดร.จตุพร บอกอีกว่า งานวิจัยในลักษณะนี้แม้จะมีใช้แล้วในต่างประเทศ แต่ที่เรายังจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเอง ก็เพื่อลดการนำเข้า และต้องปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะรถยนต์รวมถึงท้องถนนของประเทศไทยฆ

นาตยา คชินทร

nattayap@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook