อัยการ-ตร.สอบขีปนาวุธที่ตาคลีวันนี้!

อัยการ-ตร.สอบขีปนาวุธที่ตาคลีวันนี้!

อัยการ-ตร.สอบขีปนาวุธที่ตาคลีวันนี้!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือกังขาเลือกไทยเป็นที่เติมน้ำมัน แทนที่จะไปเติมที่พม่า เชื่อเป็นการกดดันโสมแดงเจรจานิวเคลียร์

พล.อ.ต.เมธา สังขวิจิตร เจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ กล่าวถึงการจับกุมเครื่องบินต่างชาติลักลอบขนอาวุธสงครามกว่า 40 ตันเข้าประเทศไทยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามีอาวุธร้ายแรงประเภทนิวเคลียร์ตามที่หลายฝ่ายกังวล ขณะที่ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาการ ผบก.ป. กล่าวว่า ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ กองปราบฯ จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบอาวุธได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็น

น.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผู้บัญชาการกองบิน 4 จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาอาวุธที่ยึดมาได้ กล่าวว่า จะไม่มีการเปิดเผยข่าวแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องของกองทัพอากาศที่จะเป็นผู้แถลงข่าวเอง ทางกองบิน 4 จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดคือ ทำการเก็บรักษาให้ดีที่สุด และให้ปลอดภัยที่สุด

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงจะเดินทางเข้าตรวจอาวุธสงครามทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ในกองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยมีคณะของตำรวจกองปราบปราม สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ ร่วมตรวจสอบ

กังขาเลือกไทยเติมน้ำมัน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานข่าวการจับอาวุธครั้งนี้ พร้อมแสดงข้อสงสัยถึงสาเหตุที่เครื่องบินขนอาวุธ เลือกที่จะมาเติมเชื้อเพลิงในไทย ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐมาอย่างยาวนาน แทนที่จะไปเติมเชื้อเพลิงในพม่า ประเทศที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือทั้งในด้านการเมือง และธุรกิจ

รายงานของนิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า เจ้าหน้าที่ไทยเข้าจับกุมเครื่องบินลำดังกล่าว หลังได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่สหรัฐ ถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องบินอาจบรรทุกอาวุธมา แต่การจับกุมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที เพราะลูกเรือที่มากับเครื่องบิน ยังมีเวลาอย่างเหลือเฟือที่จะไปยังร้านค้าปลอดภาษี เพื่อซื้อเบียร์กระป๋องใหญ่ 6 กระป๋อง ซึ่งโดนเจ้าหน้าที่ยึดไว้เช่นกัน

นายเบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือ ตั้งคำถามไว้ในรายงานข่าวของนิวยอร์ก ไทม์ส ถึงสาเหตุที่เครื่องบินลำนี้เลือกที่จะเติมเชื้อเพลิงในไทย พร้อมระบุว่า เรื่องนี้จะต้องมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าที่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้

นายลินท์เนอร์ ชี้ด้วยว่า หากเครื่องบินลำดังกล่าวเลือกลงจอดที่พม่า ซึ่งผู้บริหารประเทศเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โคเรีย ไทม์ส ที่ตั้งคำถาม 2 ข้อถึงเหตุการณ์นี้ ทั้งวิธีการที่เกาหลีเหนือเตรียมลักลอบส่งอาวุธไปขายในต่างประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ทูตพิเศษสหรัฐยังอยู่ในกรุงเปียงยาง และสาเหตุที่เลือกประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เป็นจุดแวะเติมน้ำมัน แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่ของประเทศอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของสหรัฐ อย่างนครย่างกุ้ง

โคเรีย ไทม์ส ชี้ถึงความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือเลือกใช้ไทยเป็นจุดแวะเติมน้ำมันว่า อาจเกิดจากการที่รัฐบาลเกาหลีเหนือแทบจะไม่เคยเจอกับปัญหาใดๆ ในการใช้สนามบินที่กรุงเทพมหานครมาก่อนในอดีต ก่อนหน้าที่มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดของสหประชาชาติจะมีผลบังคับใช้ จึงคิดว่าคราวนี้น่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เช่นกัน

กดดันโสมแดงเจรจานิวเคลียร์

ทางด้านบรรดานักวิเคราะห์เกาหลีใต้ แสดงความเห็นว่า การจับอาวุธสงคราม ที่ระบุว่าส่งมาจากบริษัทสัญชาติเกาหลีเหนือ ของทางการไทย บ่งชี้ถึงแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ที่จะให้ประเทศคอมมิวนิสต์รายนี้ยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์

หนังสือพิมพ์ดอง อิลโป รายงานอ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้ว่า การที่เกาหลีเหนือต้องเผชิญกับความยากลำบากในการได้มาซึ่งสกุลเงินต่างประเทศ เพราะการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่องของนานาชาตินั้น ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลกรุงเปียงยางกำลังหารายได้จากการขนส่งอาวุธในช่องทางต่างๆ

เจ้าหน้าที่รายเดิม กล่าวด้วยว่า กรณีการจับอาวุธที่เกิดขึ้น ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไปยังเกาหลีเหนือว่า นานาชาติ รวมถึง 5 ประเทศร่วมโต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และรัสเซีย เลือกที่จะใช้วิธีการ 2 อย่างควบคู่กันไป ทั้งเรื่องการเปิดเจรจา และการกดดัน

ขณะที่บทความของหนังสือพิมพ์โชวัน อิลโบ ชี้ว่า หากเกาหลีเหนือมีความมั่นใจว่านานาชาติเริ่มผ่อนคลายการตรวจตราการค้าอาวุธแบบลับๆ ของเกาหลีเหนือ อันเนื่องมาจากการเปิดเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐ ก็เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

ส่วนหนังสือพิมพ์โคเรีย เฮรัลด์ มองว่า เหตุยึดอาวุธดังกล่าว ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างรัฐบาลเกาหลีเหนือกับรัฐบาลสหรัฐนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของเกาหลีเหนือ และแสดงให้เห็นว่า สหรัฐตัดสินใจแก้ปัญหาเกาหลีเหนือ โดยยึดตามมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติควบคู่ไปกับการเปิดเจรจา

อย่างไรก็ดี นายยาง มู จิน ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีเหนือศึกษา จากมหาวิทยาลัยโซล แสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ครั้งล่าสุดนี้ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเคลื่อนไหวที่จะนำเกาหลีเหนือกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย และการเจรจาระดับทวิภาคีกับสหรัฐ

ตามรอยเจ้าของเครื่องบิน

หนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ของออสเตรเลียรายงานอ้างการเปิดเผยของนายราดิลเบค อาดิโมลดา ประธานคณะกรรมการการบินพลเรือนคาซัคสถานที่ออกมาระบุที่มาของเครื่องบินขนสินค้าที่ถูกไทยยึดได้ว่าเป็นของสายการบินคาซัคสถานแห่งหนึ่ง ก่อนจะถูกขายต่อให้บริษัทในจอร์เจียเมื่อ 2 เดือนก่อน

นายอาดิโมลดา กล่าวว่า เครื่องบินลำนี้เคยลงทะเบียนเป็นของคาซัคสถาน และถูกบริษัทสายการบินเอกชนแห่งหนึ่งขายต่อให้สายการบินจอร์เจีย และถูกนำออกจากทะเบียนเครื่องบินของคาซัคสถานเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552

"จนกระทั่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เครื่องบินลำนี้เป็นของสายการบินเอกชน "อีสต์ วิง" ของคาซัคสถาน ที่ขายเครื่องบินต่อให้แก่ "เบบารีส์" สายการบินคาซัคสถานอีกแห่งหนึ่งที่นำเครื่องบินไปขายต่อให้สายการบินแอร์เวสต์ จอร์เจีย ซึ่งทำให้พบว่าแท้จริงเครื่องบินลงทะเบียนไว้กับจอร์เจีย" นายอาดิโมลดา กล่าว

ประธานคณะกรรมการการบินพลเรือนคาซัคสถานยังยืนด้วยว่า ลูกเรือ 4 คนบนเครื่องที่ถูกควบคุมตัวเป็นชาวคาซัคสถาน และรัฐบาลจะดำเนินการเพื่อปกป้องพลเรือนของตัวเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook