เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบระเบิดและซากเครื่องบิน ที่ถูกขุดพบระหว่างการก่อสร้างถนนในพื้นที่เบตง

เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบระเบิดและซากเครื่องบิน ที่ถูกขุดพบระหว่างการก่อสร้างถนนในพื้นที่เบตง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบระเบิดและซากเครื่องบิน ที่ถูกขุดพบระหว่างการก่อสร้างถนนในพื้นที่อำเภอเบตง คาด เป็นเครื่องบินโจมตีรุ่น A-37 ที่สูญหายระหว่างปฏิบัติภารกิจเมื่อปี 2527 จากการที่คนงานบริษัทก่อสร้างเนรมิตพบวัตถุคล้ายลูกระเบิดขนาดใหญ่ ขณะกำลังขุดดินทำถนนภายในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ฝังอยู่ในดินลึกประมาณ 3 เมตร มีลักษณะทรงกลม ความยาวประมาณ 1.50 เมตร เส้นรอบวง 10 นิ้ว นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนโลหะกระจายโดยรอบบริเวณนั้น วันนี้ (15 ธ.ค.52 ) เจ้าหน้าที่ทหารชุด EOD กองทัพอากาศ ,กองทัพบก และทหารชุดเฉพาะกิจยะลาที่ 16 จำนวนกว่า 30 นาย นำโดย นาวาอากาศเอกปรีชา ชนะชัย รองผู้บังคับการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ตรวจสอบวัตถุดังกล่าว พบเป็นระเบิด รุ่น MK- 81 ขนาด 250 ปอนด์ ที่ใช้ติดตั้งกับเครื่องบินโจมตี ส่วนชิ้นส่วนโลหะที่พบกระจัดกระจายอยู่รอบๆ บริเวณลูกระเบิดเป็นจำนวนมากนั้น เป็นชิ้นส่วนของเครื่องบิน บริเวณลำตัว ปีก และเครื่องยนต์ คาดว่าน่าจะเป็นเครื่องบินโจมตี รุ่น A-37 นาวาอากาศเอกปรีชา ชนะชัย รองผู้บังคับการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จากที่ได้สังเกตระเบิดและชิ้นส่วนโลหะต่างๆแล้ว สันนิษฐานว่า เป็นลูกระเบิดรุ่น MK- 81 ขนาด 250 ปอนด์ ที่ติดกับเครื่องบินโจมตี รุ่น A-37 ประจำการกองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอาจถูกยิงตกหรือประสบอุบัติเหตุ ในสมัยที่ทางการกวาดล้างโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ในพื้นที่อำเภอเบตง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2527 ทำให้ ร.อ.ไพบูลย์ ชุ่มมะโน และ ร.ต.ปรวัฒน์ ส่องสว่าง นักบินทั้งคู่เสียชีวิต สำหรับวัตถุระเบิดที่พบดังกล่าวทางกองทัพอากาศได้เก็บกู้ออกจากพื้นที่ และนำไประเบิดทำลายที่บริเวณโรงโม่หินตำบล ตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับเครื่องบิน A-37 ( Dragonfly ) เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย เมื่อ พ.ศ.2515 สนับสนุนการปราบปรามภาคพื้นดิน เป็นเครื่องบินที่ใช้ในภารกิจโจมตี 2 ที่นั่ง ลำตัว 9 เมตร ความยาวปีก 11.7 เมตร เครื่องยนต์ General Electric J85 GE-17 ให้แรงขับ 2,850 ปอนด์ ความเร็วสูงสุด 440 น็อต ติดอาวุธใต้ปีกได้ถึง 8 จุด รับน้ำหนักยุทโธปกรณ์ได้ถึง 2,576 ก.ก. ปัจจุบันได้ปลดประจำการแล้วในเดือนเมษายน พ.ศ.2537
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook