สพฐ.หวั่นอีก 7 ปีปัญหาขาดแคลนครูบานปลาย

สพฐ.หวั่นอีก 7 ปีปัญหาขาดแคลนครูบานปลาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครูเกษียณนับแสนไม่มีอัตราทดแทนเร่งหารือ คปร.-ก.พ.ก่อนสายเกินแก้

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ สพฐ.จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วยครั้งที่ 2/2552 ในเดือน ก.พ. 53 เพราะขณะนี้มีตำแหน่งว่างอยู่ใน 28 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 535 อัตรา แต่เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการสอบแข่งขันและขึ้นบัญชีรอการบรรจุแล้ว 2 รอบ คือ ครั้งที่ 1/2551 มีผู้ขึ้นบัญชี 7,345 คน ซึ่งจะครบกำหนด 2 ปีในเดือน พ.ค. 53 และ ครั้งที่ 1/2552 อีก 16,660 คน และบัญชีจะครบกำหนดเดือน มิ.ย. 54

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลดังกล่าวที่ประชุมเห็นว่า จำนวนผู้ที่สอบขึ้นบัญชีทั้ง 2 บัญชีมีมากเพียงพอกับอัตราว่างของโรงเรียนในแต่ละ สพท.ที่จะสามารถเรียกมาบรรจุแต่งตั้งได้ จึงมีมติไม่ให้มีการจัดสอบแข่งขันครั้งที่ 2/2552 ตามข้อเรียกร้อง แต่จะให้มีการสอบแข่งขันให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะกำหนดให้มีการสอบบรรจุแต่งตั้งปีละ 1 ครั้งในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้จบการศึกษารุ่นใหม่ออกมา และจะได้ไม่ส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนที่ร้องเรียนมาเสมอว่า การจัดสอบบรรจุในช่วงกลางปีการศึกษาทำให้ครูขอลาออกเพื่อไปสอบเป็นจำนวนมาก

ดร.ชินภัทร กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการบริหารงานบุคคลในสพท. ที่พบว่ามีปัญหาการกระจุกตัวของข้าราชการครูอยู่ ทำให้บางโรงเรียนมีครูเกิน บางโรงเรียนก็ขาด และการบรรจุแต่งตั้งก็ไม่สอดคล้องกับความขาดแคลนครูของโรงเรียน อีกทั้ง สพท.มีการบริหารกรอบอัตรากำลังที่ไม่ชัดเจน และในภาพรวมก็ไม่มีการเตรียมการเรื่องอัตรากำลังครูที่ดีเท่าที่ควร ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลมากคือ ในอีก 5-7 ปีข้างหน้าจะมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกษียณอายุราชการประมาณ 1 แสนคน เมื่อรวมกับอัตรากำลังที่ขาดแคลนอยู่แล้วในปัจจุบันอีกกว่า 4 หมื่นคน จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอัตราอย่างหนักหากไม่มีอัตรากำลังมาทดแทน ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของการจัดการศึกษาได้ ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.จัดเตรียมข้อมูลเพื่อหารือร่วมกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวมถึง หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook