พบช่องอุทธรณ์ศาลเดินหน้ามาบตาพุด

พบช่องอุทธรณ์ศาลเดินหน้ามาบตาพุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครม.เศรษฐกิจ ดิ้นเฮือกสุดท้าย หาช่องอุ้ม 39 โครงการมาบตาพุด บี้กระทรวงอุตฯ แจกแจงรายละเอียดโครงการ หลังเจอช่องทางขออุทธรณ์ศาลใหม่อีกรอบ หวังดันเอกชนเดินหน้าโครงการ ด้านนักวิชาการ ชี้ปัญหายืดเยื้อไม่จบใน 6 เดือน ทำคนตกงาน 2 แสน ระบุพิษมาบตาพุดฉุดจีดีพี 0.5% เศรษฐกิจพัง 4.5 หมื่นล้าน ขณะที่ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ ได้ข้อสรุป ชงเสนอออกระเบียบสำนักนายกฯ จัดตั้งองค์กรอิสระ และออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติของกระทรวงทรัพย์ เร่งจัดทำส่งรัฐบาลพิจารณาก่อน 25 ธ.ค.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.00 น. วันที่ 16 ธ.ค. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง ผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำข้อมูล เพิ่มเติมโครงการลงทุนทั้ง 65 โครงการใน พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการลงทุนมาอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่เปิดกิจการไปแล้ว 10 โครงการ มูลค่าลงทุน 29,439 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 โครงการ มูลค่าลงทุน 180,871 ล้านบาท เพื่อจะหาทางช่วยเหลือให้ดำเนินการต่อไปได้ ที่สำคัญเมื่อพิจารณาคำสั่งศาลแล้ว พบว่ามีช่องทางที่น่าจะขออุทธรณ์ต่อศาลเพื่อให้เอกชนเดินหน้าต่อไปได้ โดยกำหนดให้จัดทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 ธ.ค. เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้ย้ำแนวทางที่ให้ส่วนราชการต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย การปฏิบัติการตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การจัดทำผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ขณะที่ขั้นตอนการจัดตั้งองค์กรอิสระยังไม่มีข้อยุติจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด ที่ประชุมมอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เร่งประสานงานกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อให้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. นี้ และประสานให้ขั้นตอนการจัดตั้งองค์กรอิสระใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไปก่อน และจัดทำเป็นกฎหมายในระยะต่อไป

นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประเมินความเสียหายของโครงการ เบื้องต้นที่มีความชัดเจนขณะนี้มีมูลค่า ความเสียหายรวมประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลของโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน 32 โครงการเท่านั้น โดยไม่รวมความเสียหายเรื่องค่าจ้างแรงงาน ขณะที่ยังมีผลกระทบเรื่องการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ผลกระทบข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า บรรดารัฐมนตรีหลายคนในที่ประชุมแสดงความแปลกใจมากที่ตัวแทนจากกระทรวงอุตสม่สามารถชี้แจงรายละเอียดของโครงการที่เปิดกิจการไปแล้ว ทั้งที่เป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง ขณะเดียวกันที่ประชุมวันนี้เป็น การพิจารณาเรื่องความคืบหน้าการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ปรากฏว่าทั้งนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม และนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรมว. อุตสาหกรรม ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย เพราะติดเดินทางไปโรดโชว์การลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ยุโรป มีเพียงนายโกศล ใจรังษี รองปลัด กระทรวงอุตสาหกรรม มาชี้แจงข้อมูลทั้งหมดเพียงคนเดียว ทำให้การหาแนวทางช่วยเหลือโครงการลงทุนยังไม่มีข้อสรุป

ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัญหาการระงับ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 53 ลดลง 0.5% เนื่องจากทำให้มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 44,975 ล้านบาท โดยเฉพาะการว่างงานทันที 40,000 คน หากปัญหาไม่ชัดเจนภายใน 6 เดือน จะว่างงานเพิ่มเป็น 200,000 คน และทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2,000-7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะผู้ประกอบการที่ถูกระงับโครงการต้องหยุดการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร ออกไปก่อน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความ ชัดเจนของกฎเกณฑ์การลงทุนให้เร็ว ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกอีก

ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบกรณีของมาบตาพุดจะมีอย่างน้อย 6 ด้าน ประกอบด้วย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมหนักของไทย, ทำให้ภาคการผลิตต้องชะงักลงโดยเฉพาะก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม), กระทบต่อการลงทุน การส่งออก การจ้างงาน และบริโภค, รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง, ชุมชนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่เศรษฐกิจภาคตะวันออกชะงัก และกระทบต่อสถาบันการเงินและตลาดทุน โดยในปี 53 ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะปรับ ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 2-3% เหลือ 1.2-2.2% ซึ่งมีผลกระทบจากมาบตาพุด 0.5% วิกฤติหนี้สินดูไบและการลดค่าเงินของ เวียดนาม 0.3% ซึ่งเรื่องของมาบตาพุดจะหนักสุด

นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัญหามาบตาพุดคงไม่ส่งผลถึงขั้นให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านแทน แต่ยอมรับว่าอาจมีบางรายที่ต้องลดกำลังการผลิตลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะเดียวกัน ในปี 53 คาดว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะขายพื้นที่ในนิคมทั่วประเทศได้ 2,000 ไร่ สูงกว่าปีนี้ที่คาดว่าขายได้ 1,400 ไร่

ขณะที่ นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันเร่งแก้ปัญหาการถูกระงับโครงการลงทุนในมาบตาพุดให้มีความชัจนและให้ปัญหาจบได้เร็ว เพื่อ เรียกความมั่นใจการลงทุนในอุตสาหกรรมกลับคืนมา โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบทั้งกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงาน เพราะเชื่อว่าหากปัญหาดังกล่าวไม่มีความชัดเจนโดยเร็ว อาจทำให้เกิดการย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ทำให้ไทยเสียโอกาสในการขยายธุรกิจ รวมทั้งกระทบการ ลงทุนรวม เช่น การจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะกรรม การ 4 ฝ่ายฯ จากภาควิชาการ เปิดเผยภายหลังการประชุมที่บ้านพิษณุโลกว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีความห่วงใยของนายกฯ และ ครม. เศรษฐกิจ ถึงการเร่งแก้ปัญหามาบตาพุด ที่ประชุมจึงเห็นควรจะเร่งดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้าไม่เกินวันที่ 25 ธ.ค.นี้ โดยในวันนี้ได้ข้อสรุปว่าจะเสนอให้มีการออกระเบียบสำนักนายกฯ ในเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนหลักในเรื่องการทำรายงานทั้งอีไอเอ, เอชไอเอ และ การรับฟังความคิดเห็น จะออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งเชื่อว่าการแยกออกเป็น 2 ส่วน จะไม่มีปัญหา และทั้งหมดจะเริ่มใช้ในพื้นที่มาบตาพุดก่อน

ด้าน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีสิ่งแวดล้อมของชุมชนมาบตาพุด ควรน้อมรับปฏิบัติตามคำสั่งศาลทันที โดยไม่บิดพลิ้วและขอให้หยุดการเผยแพร่ข่าวในลักษณะที่ว่าคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงาน ไม่เช่นนั้นสภาทนายความ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องร้องคดีของโจทก์ 43 ราย จะยื่นคำร้องต่อศาลเรื่องการละเมิดศาล และหน่วยงานภาครัฐที่ถูกฟ้องร้องคดีทั้ง 8 ราย ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล หากล่าช้าเกินสมควรก็จำเป็นต้องออกคำบังคับของศาลให้ปฏิบัติตามโดยเร็ว และรัฐบาลต้องเร่งออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรอผลการศึกษาอีกแล้ว แต่ควรเร่งปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองโดยเร็ว ด้วยการสั่งการให้ 8 หน่วยงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook