เกียรติสยาม สามชุก

เกียรติสยาม สามชุก

เกียรติสยาม สามชุก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : วรุณรัตน์ คัทมาตย์

ชุกแน่ๆ สำหรับสามชุก ที่เพิ่งได้รับรางวัลจากยูเนสโก แน่นอน ใครๆ ก็อยากไปชื่นชมของดี หากตลาดร้อยปีแห่งนี้ก็มี วิถี ที่ควรรู้ไว้ก่อนไปเทียว

ดูเหมือน สามชุก (คน) จะยิ่งชุกขึ้นไปอีกหลังได้รางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมประเภท "ดี" ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากยูเนสโก สุดสัปดาห์ที่ผ่านมานายกฯ ยังไปเยี่ยมถึงที่ พร้อมออกอากาศผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ ร่วมๆ ชั่วโมง

ทริป (สั้นๆ) ต่อไปของใครหลายคนคงไม่พ้นสุพรรณบุรี

จากอดีตสู่ปัจจุบัน


มองผิวเผิน.. ตลาดสามชุกเป็น เพียงแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งที่เพิ่มขึ้นมาในแผนท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจประเทศ และรางวัลที่ได้ก็เป็นเหมือนการการันตีว่าที่นี่เก่าจริง มีอ้างอิงจากสถาบันนานาชาติ

แต่ในความเป็นจริง การก่อร่างสร้างชุมชนของชาวสามชุกไม่ ง่ายอย่างที่เห็น และไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ย้อนกลับไปไม่กี่สิบปี ชุมชนแห่งนี้เคยเกิดวิกฤติถึงขั้นเกือบต้องรื้อตลาดไม้เก่าแก่ทั้งหมดแล้วทด แทนด้วยตึกปูน พวกเขาจึงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดเอาไว้

ในอดีต สมัยรัชกาลที่ 5 ชุมชนแห่งนี้เคยรุ่งเรืองมาก เนื่องจากสามชุกเป็น ชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน เป็นเมืองท่าสำคัญของการค้า มีเรือสินค้าที่เดินทางสัญจรไปมา ระหว่างกรุงเทพฯและท่าปากน้ำโพเป็นประจำ ในช่วงปี พ.ศ.2480 - 2510

ต่อมาในปี 2510 ความเจริญเริ่มเข้ามา มีถนนตัดผ่านเข้าไปทุกสถานที่ บทบาทของการคมนาคมทางน้ำลดลงและหมดไปในที่สุด ผู้คนชุมชนริมน้ำย้ายออกไปอยู่รอบนอก เกิดตลาดนัดรายล้อมไปทั่ว ทำให้ตลาดสามชุกเงียบลงจากเดิมมาก จนกรมธนารักษ์สุพรรณบุรีมีโครงการจะรื้อตลาดเพื่อสร้างอาคารคอนกรีต จึงมีการรวมตัวกันของคนในชุมชนเพื่อทัดทาน

"ตลาดซอย 1 และ 2 เป็นที่ของกรมธนารักษ์ เขาเห็นว่าที่นี่มันเงียบ เลยอยากจะรื้อตลาดแล้วสร้างตึกใหม่" เป็นคำยืนยันของมาลัย กลิ่นหอมหวน แม่ค้าขายขนมชุมชนตลาดสามชุก วัย 54 ปี

เธอเล่าว่าช่วงนั้นไม่มีหน่วยงานภาครัฐมาช่วย แต่ชาวชุมชนก็รวมตัวกันขึ้นมาเองเพื่อคัดค้านการรื้อตลาด

"ก็อยู่กันมาตั้งนานแล้ว ไม่อยากให้รื้อ ทีแรกก็ไม่ยอม เขาก็เข้ามา แต่เราก็ร่วมแรงกันจนเขายอม ตอนนั้นก็ทำกันเองไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วย เวลาเราไปขออะไรเขายังไม่ช่วยเลย แต่พอสมัยนี้นายกพงษ์วิน เป็นนายกเทศมนตรี เขาก็ช่วยพัฒนาขึ้นมา เขามาทำตั้งแต่เริ่มแรกเลยเพราะเกิดที่นี่ เป็นผู้นำในการพัฒนาที่นี่ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากๆ เลยค่ะ คนมาเยอะขึ้นมากโดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์"

เธอยังบอกอีกว่าสามชุกมีเสน่ห์เฉพาะที่บ้านเรือนยังคงสภาพสถาปัตยกรรมเก่าแก่ไว้ และมีอาหารหลากหลายกว่าที่อื่น

"คนที่มาแล้วมาอีก เขาบอกเขาชอบสามชุก คนสามชุกนี่ พูดดี เป็นตลาดที่ของกินเยอะกว่าที่อื่น ส่วนมากคนเขาจะมาดูบ้านทรงเก่าแก่ มีลายไม้โบราณ วันนี้ได้รับรางวัลก็ดีใจ ภูมิใจที่เขาให้รางวัลนี้กับชุมชนเรา"

ด้าน สุมณฑา วงศาโรจน์ แม่ค้าขายขนมและรองประธาน โครงการบ้านมั่นคงอนุรักษ์สามชุกเล่า ว่า จุดประสงค์หลักของกลุ่มชุมชนพัฒนาตลาด ไม่ใช่เพราะต้องการกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวแต่ชาวชุมชน หากแต่อยากดำเนินชีวิตตามวิถีที่เคยเป็นมาเท่านั้น

"ช่วงนั้นตลาดขายไม่ดี ก็มีมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาร่วมกับชาวบ้านก่อตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา เริ่มฟื้นฟูตลาด ทางมูลนิธิฯ เขาเป็นนักอนุรักษ์และอยากให้เราอนุรักษ์บ้านเรือนแบบนี้ไว้ เขาก็หาทุนให้เรา เราอยากทำให้ตลาดมันฟื้นขึ้นมา ให้ชีวิตคนในชุมชนยังดำเนินต่อไปได้ เพราะช่วงนั้นตลาดนัดเยอะมาก รอบด้านเลยตั้งแต่วันจันทร์-อาทิตย์เลย คนที่เคยมาตลาดเรา ก็ไปซื้อของตลาดนัด แม่ค้าที่นี่ก็แย่"

"แรกๆ ก็เป็นคนในตลาดจับจ่ายกันเอง พอเริ่มมีสื่อเข้ามา อย่างมาถ่ายหนัง สารคดี ถ่ายโฆษณา คนข้างนอกเริ่มรู้จักก็เข้ามาเที่ยว ในส่วนของเยาวชนเอง เขาจะได้เรียนเสริมเป็นวิชาประวัติศาสตร์ของสามชุก เราจัดเด็กให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย เมื่อเขามีความรู้ในตลาดก็สามารถนำไปถ่ายทอดให้คนในครอบครัวต่อและสามารถพา นักท่องเที่ยวชมตลาดได้ นอกจากได้ซึมซับวิถีท้องถิ่นของตัวเองแล้วยังมีรายได้เสริมด้วย"

"ข้างล่าง" คือวัฒนธรรม


แม้ว่าสามชุกจะ ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในแง่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น จากกระแสการท่องเที่ยว แต่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นตัวตนของคนสามชุกและ กระบวนการมีส่วนร่วมฟื้นฟูตลาดเก่าที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้รับการฉายภาพให้ เกิดความเข้าใจต่อคนทั่วไปอย่างแท้จริง และอาจถูกผลักเข้าสู่กระแสตลาดโดยไม่ตั้งใจ

ร้อนถึงหน่วยงานหลายภาคส่วน ต้องเข้ามาสนใจที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ของชุมชน การบริหารจัดการโดยภาคประชาชน รวมถึงความยั่งยืนของตัวชุมชนแห่งนี้

ในส่วนของภาครัฐ กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการประชุมเกี่ยวกับบทบาทของสำนักงานคณะกรรม การวัฒนธรรมแห่งชาติในการส่งเสริมการนำมิติทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนโดยมีสามชุกเป็นต้นแบบและจะนำไปเผยแพร่ในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ศ.นพ.ประเวศ วะสี หนึ่งในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดมุมมองว่าสังคมไทยในปัจจุบันหลงลืมความหมายที่แท้จริงของวัฒนธรรม ให้ความสำคัญของตำรามากกว่าภูมิปัญญาที่มีในตัวคน และการพัฒนายังเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีมายาคติครอบงำความคิดของสังคม

"ตอนนี้เรามองว่าวัฒนธรรมคือการร้องรำทำเพลงหรือศิลปวัตถุ จริงๆ แล้ววัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำมาตลอด คือ เรื่องศิลปวัฒนธรรมของคนข้างบน แต่จุดสำคัญที่จะทำให้ประเทศเรามั่นคงแข็งแรงคือวิถีชีวิตของข้างล่าง เพราะฉะนั้นเราต้องเอาลงถึงคนข้างล่างให้ได้ กระทรวงวัฒนธรรมต้องมองลงข้างล่าง เพราะข้างล่างคือฐานของสังคม ถ้าฐานแข็งแรงมันก็รองรับข้างบนได้"

"มันมีมายาคติบางอย่างมาครอบงำให้เราอ่อนแอ คือ 1.เห็นความสำคัญของข้างบนมากกว่าข้างล่าง 2.ไปเคารพความรู้ในตำรามากกว่าความรู้ในตัวคนซึ่งได้มาจากการทำงาน ได้มาจากประสบการณ์ชีวิต ความรู้ในตัวคนฐานมันอยู่ในวัฒนธรรม เราต้องพลิกตรงนี้อย่าศึกษาเฉพาะตำรา ความรู้ในตำรามันไม่ใช่วัฒนธรรม 3. การเคารพความเป็นทางการมากกว่าไม่เป็นทางการ ทั้งๆ ที่ความไม่เป็นทางการนั้นมีมาก่อนและใหญ่กว่า และสอดคล้องกับธรรมชาติมากกว่า แต่เราเคารพความเป็นทางการ ซึ่งเน้นรูปแบบไม่ได้เน้นตัวสาระ ไม่อยากให้กระแสความคิดแบบใหม่มันซัดใส่เรา"

พอเพียง อย่า Overload


ด้าน ร.ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์แสดงความเห็นด้วยและเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
ว่า มุมมองของคนไทยเปลี่ยนไปจากอดีต หันไปยึดเอาวิถีแบบตะวันตกมาใช้ ทำให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมด้อยลงไป และยังเป็นบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"การมองโลกของสังคมไทยเพี้ยนไปจากเดิม จากเคยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ปัจจุบันเราไปมองแบบวิถีฝรั่งซึ่งเอาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีเข้ามา หรือเศรษฐกิจแบบ mass production ก็ทำลายสภาพแวดล้อม คนตะวันตกเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจัดการควบคุม เราก็ไปบ้าตามตะวันตกไม่ได้มองดูภูมิปัญญาซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดิมของเราที่ ได้มาจากการเรียนรู้ในท้องถิ่น"

หากจะพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็งมั่นคง ร.ศ.ศรีศักดิ์มองว่าต้องพัฒนาจากกลุ่มย่อยที่สุดคือชุมชน โดยเสนอว่าต้องให้ชุมชนเป็นคนจัดการบริหารเองจึงจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังเรื่องแรงกดดันจากภายนอกไม่ให้เข้ามากลืนอัต ลักษณ์ที่แท้จริงของชุมชน

"สิ่งที่เป็นตัวอย่างของสามชุกคือ โครงสร้างสังคมที่มันยังดำรงอยู่และเป็นคนในพื้นที่ทำเอง ไม่ใช่เป็นการจัดการจาก อบต.หรืออำเภอนะ อันนี้ต้องระวังให้มาก องค์กรเป็นเรื่องสำคัญเราอยากให้องค์กรเกิดจากตัวชุมชนเอง ไม่ใช่ให้หน่วยงานเข้าไปควบคุม"

"สามชุกกำลัง ถูกรุกเร้าจากคนข้างนอกเข้ามา ไม่รู้ว่าเขาจะต้านไหวหรือเปล่า มันอยู่ในสภาพที่เรียกว่า 0verload หน้าที่ของเราตอนนี้คือต้องช่วยไม่ให้ 0verload ต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วยมันจะช่วยเขาได้ ถ้าตลาดท้องถิ่นที่มีสินค้าแบบท้องถิ่นหมดไป มันจะกลายเป็นตลาดนัดอุตสาหกรรม ขนของมาจากไหนไม่รู้มาเยอะแยะแต่คุณภาพไม่มี"

ในทำนองเดียวกัน ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านเห็นพ้องว่า การพัฒนาโดยไม่ระวังเสี่ยงต่อการล่มสลายของชุมชน

"ผมมีความกังวลว่าบางแห่งมันเจริญสูงสุดแล้วมันล่ม อย่างตลาดอัมพวาก็เคยโด่งดัง นักท่องเที่ยวเข้ามากเกินไปจนเกิดปัญหาคุมไม่ได้ ขณะนี้นัก ท่องเที่ยวเข้ามาเป็นหมื่น แล้วยังมีในส่วนของคนต่างชาติอีก สามชุกนี่เมื่อก่อนเป็นตลาดคนจีน แต่เดี๋ยวนี้ก็มีคนข้างนอกเริ่มเข้ามาขาย ไม่อยากให้บูมเกินไป ผมกลัวอย่างเดียวว่ามันจะไม่ยั่งยืน"

ไม่ดาษ ในบรรดาตลาดร้อยปี


อย่างไรก็ตาม นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เชื่อมั่นว่าการทำงานของกระทรวงเดินมาถูกทาง และตอบรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ ว่าควรหลอมรวมให้เกิดยุทธศาสตร์ชุมชนโดยให้ประชาชนเป็นตัวนำและองค์กรท้อง ถิ่นเป็นตัวเสริม

"สามชุกวันนี้ เขาฟื้นขึ้นมาและเดินได้เอง ตัวคนเป็นตัวเดินขับเคลื่อน เช่น คนเก่าแก่ที่อยู่ในชุมชน ผมหวังอย่างยิ่งที่จะเอาปัญญาของคนแก่กลับมา วัฒนธรรมต่างๆ ถูกขับเคลื่อนผ่านสภาหมู่บ้านหรือลานบุญลานปัญญา ในที่สุดมันก็เกิดเป็นเศรษฐกิจวัฒนธรรม ถ้าสิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ที่สุดแล้วความเป็นไทยก็จะกลับมา กลับสู่วิถีดั้งเดิม สู่วิถีขั้นพื้นฐานของเรา"

แม้กระแสตลาดร้อยปีกำลังมาแรงจนทำให้หลายจังหวัดเปิดตลาดเก่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น จนอาจจะกระทบกับสภาวะเศรษฐกิจของสามชุก แต่ พงษ์วิน ชัยวิรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ ก็ยังมั่นใจในเอกลักษณ์ของตลาดสามชุกว่าสามารถคงอยู่ได้ เพราะชุมชนสามชุกเน้นเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากกว่าเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว แต่กลับกังวลในแง่ความเสื่อมของชุมชนมากกว่า

"ก็น่ากลัวว่าถ้าคนเข้ามาท่องเที่ยวในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้สามชุกเสื่อม โทรมลงอย่างรวดเร็ว ตรงนี้เราก็ป้องกันอยู่ เราก็ทำความเข้าใจกับคนในชุมชนว่าเราจะไม่เปลี่ยนอะไรในชุมชน พยายามเปลี่ยนให้น้อยที่สุดอย่างพวกบ้านเรือน สถาปัตยกรรมต่างๆ เราพยายามจะรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเราไว้ อย่างที่บอกว่าเราเน้นเรื่องวัฒนธรรมวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมของบ้านเรือน เราก็พยายามอนุรักษ์ตรงนี้ไว้ให้มากที่สุด"

ด้วยความเป็นห่วง นพ.บัญชา พงษ์พานิช นักโบราณคดี มองจากมุมนอก เห็นว่า ความยั่งยืนจะต้องประกอบด้วยการก่อเกิดความเข้มแข็งจากหลายมิติรวมกัน

"ผมมองว่าชุมชนต้องมีกอที่มันช่วยกันก่อให้เกิดความเข้มแข็งได้ หนึ่งคือมีกลุ่มแกนนำที่เข้มแข็ง สองมีกลุ่มก้อนองค์กร สามมีกัลยาณมิตรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สี่มีกองทุน ห้ามีการบริหารจัดการ หกมีการเรียนรู้ อย่าหยุดที่ว่าฉันรู้แล้ว แต่ต้องเรียนไปเรื่อยๆ เจ็ดคือการสื่อสารมีการบอกกล่าว มีการเล่าไปสู่คนข้างนอก มันเสริมพลังใจให้คนในชุมชน แปดคือได้แรงสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้เป็นกอที่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน สามชุกเป็นวันนี้ได้เพราะมีหลายกอและต่อเติมไปเรื่อยๆ จนเข้มแข็งในที่สุด"

จะให้ดี แผนนี้อาจต้องเพิ่ม "กอที่ 9" หรือ เราๆ ที่เตรียมจะไปเยี่ยมตลาดเก่า...อย่างเข้าใจ

สามชุกได้ รางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากยูเนสโก เพราะผ่านเกณฑ์คุณสมบัติคือ เป็นตลาดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และมีการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จภายใน 10 ปีที่ผ่านมา สามารถใช้งานได้อย่างน้อย 1 ปี นับจากการประกาศ

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ เกียรติสยาม สามชุก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook